เปิดใจ นิสิตหญิงข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ “ทุกคนควรมีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพ”

เปิดใจ นิสิตหญิงข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ "ทุกคนควรมีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพ"

เปิดใจ นิสิตหญิงข้ามเพศ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ “ทุกคนควรมีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพ”

ภายหลังมีการตรากฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศเมื่อปี 2558 เรื่องราวการถูกเลือกปฏิบัติทางเพศในประเทศไทย ก็ถูกให้ความสำคัญขึ้นมา

หลายเคสที่มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างเป็นธรรม อย่างคดีประวัติศาสตร์ “นาดา ไชยจิตต์” บัณฑิตหญิงข้ามเพศที่ยื่นคำร้องขอแต่งกายชุดครุยตามเพศสภาพ เพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยพะเยา ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2560

จาก “นาดา” ก็นำมาสู่คลื่นแห่งเสียงเรียกร้องต่างๆ ตามมาอีกหลายกรณี

ล่าสุดกับนิสิตหญิงข้ามเพศคนหนึ่ง ในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาเรียกร้องขอแต่งกายชุดนิสิตหญิง เธอต้องต่อสู้อย่างมาก ต้องเผชิญสารพัดความกดดัน แต่ก็อดทนเพื่อให้ได้ “สิทธิ” นี้

Advertisement
พิ้งค์-จิรภัทร
พิ้งค์-จิรภัทร

 

พิ้งค์-จิรภัทร (ขอสงวนนามสกุล) นิสิตชั้นปีที่ 2 เล่าว่า ตอนแรกไม่ทราบมาก่อนว่าจุฬาฯ มีระเบียบห้ามหญิงข้ามเพศแต่งกายเครื่องแบบนิสิตหญิง ทราบเพียงว่าปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีการเปิดกว้างมากขึ้น มีการอนุญาตให้นิสิตนักศึกษาหญิงข้ามเพศ ได้แต่งกายชุดครุยตามเพศสภาพในงานพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ซึ่งเป็นงานที่มีสเกลใหญ่กว่า จึงคิดว่างานสเกลเล็กนี้น่าจะมีการอนุมัติไปแล้ว จึงแต่งกายเป็นนิสิตหญิงมาเรียนตั้งแต่วันแรก

Advertisement

“พิ้งค์ปฏิบัติตนเป็นนิสิตหญิงตามปกติ ได้ยื่นคำร้องกับคณะถึง 2 ครั้งเพื่อขอแต่งกายชุดนิสิตหญิงตามคำแนะนำของอาจารย์ ตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 1 ครั้งแรกยื่นให้คณะพิจารณา แนบเอกสารรับรองแพทย์ที่ระบุมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด แต่คณะไม่รับ และส่งให้ระดับมหาวิทยาลัยพิจารณาแทน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปใดๆ

“ต่อมาครั้งที่สอง ได้ยื่นให้คณะพิจารณาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แนบ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศไปด้วย จากคำร้องนี้ ทำให้พิ้งค์ได้รับอนุญาตให้แต่งชุดนิสิตหญิงได้”

ทว่า..ก็มาเกิดเหตุการณ์ในคาบเรียนหนึ่งช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยอาจารย์พิเศษชายอาวุโสท่านหนึ่ง หลังเพิ่งทราบว่าเธอเป็นนิสิตหญิงข้ามเพศ จึงเรียกไปชี้แจงว่าไม่อนุญาตให้เข้าเรียน หากไม่แต่งกายชุดนิสิตชาย

“ตอนนั้นพิ้งค์ได้ชี้แจงอาจารย์พิเศษท่านนี้ไปว่าได้ยื่นเอกสารให้ทางคณะ และคณะอนุญาตแล้ว

“ปรากฏท่านตอบกลับมาว่าบุญแค่ไหนแล้วที่เขาไม่เอาไปรักษา รู้ไหมว่าเราเป็นบ้า ปกติเขาส่ง (โรงพยาบาล) ศรีธัญญา เอาไปชอร์ตไฟฟ้า และท่านก็ยังยืนยันว่าไม่อนุญาตให้เข้าห้องเรียน ถ้าเข้าก็จะไม่สอน แล้วก็ดูเอาว่าเพื่อนๆ จะเอายังไงกับคุณ”

ด้วยอยากเรียนให้ทันเพื่อน จิรภัทรจึงยังเข้าเรียนในรายวิชาของอาจารย์ท่านนั้น แต่หลีกเลี่ยงไม่ให้อาจารย์เห็น ในคาบเรียนเช้าวันหนึ่ง เธอจึงต้องไปถึงห้องเรียนก่อนใคร ไปถึงก็เลือกที่นั่งหลังสุดเพื่อนั่งแอบใต้เก้าอี้

การนั่งเรียนวันนั้นเธอยอมรับว่า “ลำบากและเมื่อยมาก พักเบรกจะไปปัสสาวะก็ไม่ได้ เพราะกลัวอาจารย์เห็น จึงต้องนั่งอดทนอยู่อย่างนั้นตลอด 3 ชั่วโมง” แต่ก็ไม่วายที่หลังจบคาบเรียน อาจารย์พบว่าเธอแอบเข้าเรียน จึงเดินตามมาต่อว่า ทำให้จิรภัทรตัดสินใจไม่เข้าเรียนในคาบเรียนครั้งต่อไป ซึ่งเป็นคาบเรียนสุดท้าย มีการทบทวนเนื้อหาและสอนเพิ่มเติม ทำให้การสอบซึ่งมีเนื้อหาในคาบเรียนนั้น เธอทำไม่ได้เลย

จิรภัทรเล่าอีกว่า หลังจากนั้นอาจารย์คนดังกล่าวยังได้ส่งคำร้องให้คณะทบทวนมติการอนุญาตให้เธอแต่งเครื่องแบบนิสิตหญิง ซึ่งปรากฏว่าคำร้องที่ได้ยื่นไปได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว และยังถูกบอกให้ไปใส่กางเกง ตัดผม ไม่ให้แต่งหน้า และใส่เสื้อหลวมๆ หากยังพบว่าแต่งกายชุดนิสิตหญิงอีก ให้ยึดบัตรนิสิตและหักคะแนนความประพฤติ ซึ่งมีเกณฑ์ว่าถูกตัดคะแนน 6 ครั้งถูกพักการเรียน 1 ภาคการศึกษา เรื่อยไปจนพ้นสภาพความเป็นนิสิต

โดยให้เหตุผลของการยกเลิกว่า “ครุศาสตร์ต้องสอนให้เด็กรู้จักหน้าที่มาก่อนสิทธิ โดยต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก่อน ถึงค่อยไปคำนึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ”

“พิ้งค์รู้สึกแย่และท้อมาก คือเหมือนว่าเราแต่งกายอย่างถูกต้องเป็นนิสิตหญิงมาตลอด แล้ววันหนึ่งจะต้องมาแต่งเป็นนิสิตชาย โดยเป็นการถูกยกเลิกที่ง่ายมาก”

สุดท้าย จิรภัทรเลือกที่จะขอความช่วยเหลือไปทาง “นาดา ไชยจิตต์” ซึ่งทางนาดาได้ลงเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อเดือนมกราคม 2562 ปรากฏว่ามีการแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ ถนนทุกสายตั้งคำถามกับคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์พิเศษคนดังกล่าว

นาดานำจีรภัทรและนิสิตข้ามเพศร้อง วลพ.
นาดานำจีรภัทรและนิสิตข้ามเพศร้อง วลพ.

 

ในที่สุด ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ก็ลงนามในคำสั่งบรรเทามติคณะ ทำให้เธอสามารถแต่งกายชุดนิสิตหญิงได้ แต่เฉพาะจิรภัทรคนเดียวเท่านั้น

ซึ่งด้วยอยากให้การเรียกร้องครั้งนี้ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ครอบคลุมการแต่งกายนิสิตชายข้ามเพศ นิสิตหญิงข้ามเพศ จิรภัทรและกลุ่มพลังบันดาลใจคนข้ามเพศ (Transpiration Power) จึงตัดสินใจเดินหน้าเรียกร้องกับมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับยื่นคำร้องกับคณะกรรมการ วลพ.

“การแต่งชุดนิสิตตามเพศสภาพ เป็นสิทธิที่คนคนหนึ่งควรได้รับ ไม่ได้เกี่ยวว่าเพศที่สามจะมีสิทธิเหนือคนอื่น หรือมีอภิสิทธิ์เหนือใคร คนส่วนมากอาจมองว่าทำไมต้องออกมาเรียกร้องเรื่องแบบนี้ สังคมไทยยอมรับมากแล้ว พิ้งค์มองว่าการเปิดโอกาสที่แท้จริง คือการแต่งกายตามเพศสภาพได้

รวมถึงการเป็น “ครู” ที่เธอมองว่า ปัจจุบันโลกเปิดกว้างมากขึ้น เด็กนักเรียนมีเพศหลากหลายมากขึ้น ฉะนั้นบทบาทครูจึงไม่ใช่เพียงผู้ชายและหญิง

“อยากให้ทุกคนเห็นว่าครูเพศที่สามก็ถูกยอมรับได้เหมือนกัน เราควรแสดงบทบาทให้ชัดเจนกับสิ่งที่เราเป็น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กไม่เกิดความสับสนในตัวเอง ไม่รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องผิดบาป และได้เปิดมุมมองของเด็กๆมากขึ้น

“เพราะกะเทยไม่ใช่มีทางเลือกแค่ต้องไปเป็นนางงาม นางโชว์เท่านั้น แต่สามารถเป็นครูและเป็นอีกหลายๆ อาชีพได้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับอาชีพครู คือการที่สอนให้เด็กรู้จักการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเคารพในสิทธิและความต่างของผู้อื่น” จิรภัทรกล่าวทิ้งท้าย


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image