Sex Education เล่าเรื่อง ‘เพศ’ ยุคใหม่ ที่ไม่ต้องทำให้ ‘อาเพศ’ คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

ซีรีส์ที่เสียงวิจารณ์เป็นบวกทุกหย่อมหญ้าเรื่องนี้ “Sex Education” ให้มุมมองที่ “ก้าวหน้า” และ “หลากหลาย” ในเรื่องราวทางเพศของวัยรุ่นที่อาจเกิดกับวัยรุ่นคนไหนก็ได้ ไปจนถึงปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน แฟน และครอบครัว

ซีรีส์เรื่องนี้ เล่าสถานการณ์ที่ตัวละครต่างๆ ต้องเผชิญในแต่ละตอนได้สนุกสนาน น่าติดตาม เป็นเรื่องจริงในสังคมวัยรุ่นที่มีหลากมุมมอง หลายปัญหา สารพัดทั้งดีและร้าย

“Sex Education” เล่าเรื่องในแบบ “Coming of Age” ที่ตัวละครกำลังจะได้ “ก้าวผ่าน” หรือมีช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ของช่วงชีวิตในวัยมัธยมปลาย

ถือเป็นซีรีส์ระดับ “ซ่อนสาร” ที่พูดคุยเรื่องทางเพศ-ปัญหาความสัมพันธ์แบบทางอ้อม ไม่ยัดเยียด ไม่ตัดสิน แต่คนดูทุกช่วงวัยต่างสามารถรับ “สาร” ที่เนื้อหาในซีรีส์สื่อออกมาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

Advertisement
Sex Education Season 1

นี่จึงไม่ใช่เพียงซีรีส์วัยรุ่นอยากรู้อยากลอง หรือวัยคะนองสงสัยเรื่องทางเพศแค่นั้น แต่มันได้พูดถึงเรื่องราวที่ลึกซึ้งกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวความต้องการทางเพศของวัยรุ่น ปัญหาความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ความไม่ลงรอยกับคนในครอบครัว การทำแท้ง การเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ความแตกต่างด้านเชื้อชาติ เรื่องราวระหว่างชนชั้น การกลั่นแกล้ง (bully) ในโรงเรียน เป็นต้น

แต่ละ “วาระ” เป็นเรื่องที่มีจริงในสังคมเด็กวัยรุ่นมัธยมปลาย พวกเขาไม่ได้มีแค่ด้านของการเป็นนักเรียนไปเรียนหนังสือ ทำการบ้าน ทำกิจกรรมโรงเรียน เรียนพิเศษ อ่านหนังสือเตรียมสอบ แต่พวกเขามี “ปัญหา” ที่บางครั้งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ใช่ที่พึ่งพิงได้ หรือนำไปสู่คำตอบที่เขาจะไว้วางใจ

“Sex Education” เล่าเรื่องราวปัญหาทางเพศของวัยรุ่น ขนานไปกับความสัมพันธ์ของพวกเขา รวมทั้งการเติบโตทั้งวัย-ความคิดได้เป็นธรรมชาติ และปกติมาก แม้คนดูจะสังเกตเห็นว่าถ้านี่เกิดขึ้นจริงใกล้ตัวเรา กับตัวเรา หรือคนรอบตัวเรา มันย่อมเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” แต่ตัว

Advertisement

ซีรีส์ที่ใช้ความคอมเมดี้ (อารมณ์ขัน) อย่างมีชั้นเชิง เขียนบทและดำเนินเรื่องที่ทำให้คนดูสัมผัสได้ว่า สังคมหนึ่งล้วนมีความหลากหลาย หากเราไม่เพ่งว่ามันผิดปกติ มันก็คือปกติ

ซีรีส์ให้บทบาท “ตัวละครนำ” ที่มีมิติอย่างมาก อย่าง “โอทิส” เด็กหนุ่ม ม.ปลาย ที่มักจะปิดบังเสมอว่ามีพ่อแม่เป็นนักบำบัดปัญหาทางเพศระดับนักวิชาการ ขณะที่โอทิสก็มีปัญหาทางเพศที่ไม่สามารถบอกใครได้นอกจากเพื่อนสนิทเพียงหนึ่งเดียว อีกทั้งคาแร็กเตอร์ของ โอทิสที่ดูภายนอกเป็นเด็กหนุ่มประเภทไร้ตัวตนที่โรงเรียน ไม่ได้โดดเด่นด้านไหน และรูปลักษณ์ บุคลิกที่ติดจะ “ลูซเซอร์” นิดๆ แต่กลับมีพรสวรรค์ที่เข้าอกเข้าใจผู้คนได้ลึกซึ้ง ช่วยให้คำแนะนำกึ่งบำบัดปัญหาความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ ในโรงเรียน ไปจนถึงให้คำปรึกษาปัญหาทางเพศจนหาทางออกได้ด้วย

โดยมีตัวละคร “เมฟ” เด็กสาววัยรุ่นลุคพังก์กร้านโลกที่ฉากหน้าถูกตัดสินจากสังคมในโรงเรียนว่าเป็นสาวร่านใจแตก บ้านแตกสาแหรกขาดแม่ติดคุก พี่ชายเป็นเด็กเดินยา ทิ้งให้เธอต้องผจญชีวิตในบ้านเช่า ที่เป็นรถเทรลเลอร์ (รถบ้าน) ในชุมชนคนชั้นล่าง

แท้จริง “เมฟ” คือเด็กเรียนเก่งพันธุ์แท้ เขียนหนังสือเก่ง ฉลาดมีสมองระดับท็อปของชั้นเรียน แต่ด้วยชีวิตที่ต้องปากกัดตีนถีบ หาเลี้ยงชีพเอาตัวรอดด้วยตัวเอง ทำให้ “เมฟ” ขาดความมั่นใจว่า สังคมและที่ที่เติบโตมา ย่อมไม่อาจมีสิ่งดีๆ เหลือไว้ให้เธอ

ฟาก “อีริค” เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของโอทิส เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีมิติ และเราจะได้เห็นความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จากตัวละครนี้จนมาถึงช่วงท้ายซีซั่น เขาเป็นเด็กหนุ่มเกย์ผิวสีที่พ่อแม่อพยพมาจากแอฟริกา มีความมั่นใจในตัวเองและไม่ได้อำพรางปิดบังตัวตนความเป็นเพศที่สามของเขาเลย แต่ด้านหนึ่งอีริคก็ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนบ่อยครั้ง

เป็นตัวอย่างคาแร็กเตอร์ของ 3 ตัวละครหลักที่จะนำพาซีรีส์เรื่องนี้เข้าสู่การพูดเรื่อง “เพศ” และ “ความสัมพันธ์” ของวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยม

เรื่องราวของ “Sex Education” ดำเนินมาถึงจุดที่ “เมฟ” ชวน “โอทิส” เปิดคลินิกหาเงินด้วยการรับเยียวยาบำบัดปัญหาทางเพศและความสัมพันธ์ให้เพื่อนๆ ในโรงเรียน และนั่นนำมาสู่เรื่องราวหลากหลายตอนของซีรีส์ ที่เล่าปัญหาจริงของวัยรุ่น ผ่านตัวละครรอง แต่มีความเด่นได้น่าสนใจอย่างมีนัยสำคัญ

เรื่องทางเพศที่เราอาจรู้สึกซีเรียสจริงจังที่จะพูดในที่สาธารณะ แต่ตัวซีรีส์ที่นำเสนอในแบบที่มีอารมณ์ขันทะลึ่งตึงตังอยู่บ้างนั้น กำลังจำลองสังคมๆ หนึ่งของเด็กวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมที่พวกเขาก็มีปัญหาทางเพศในช่วงวัยของพวกเขา ไม่ได้แตกต่างจากสังคมของผู้ใหญ่เลย

ตัวซีรีส์ทำให้เห็นว่า “ปัญหาสุขภาพทางเพศ” เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย

นอกจากพูดถึงเรื่อง “เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น” แล้ว ซีรีส์ยังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดีทีเดียว โดยใช้วิธีเล่าให้เรื่องราวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น “ปกติ” ในสังคม เป็นปัญหาที่อาจจะเกิดกับใครก็ได้ กับเรา กับคนใกล้ตัว กับคนรู้จัก ซึ่งเราสามารถมองสิ่งเหล่านี้ได้ด้วย “ความเข้าใจ” แทนการ “ตัดสิน” ใคร

ขณะที่ “กรณีศึกษา” เรื่องราวทางเพศในซีรีส์ “Sex Education” แต่ละตอนทำออกมาได้อย่างสอดคล้องกับยุคสมัย เป็นซีรีส์ที่พูดเรื่องเกี่ยวกับ “เพศศึกษา” ได้แยบคายผ่านความบันเทิง

แม้ฉากหน้าของเรื่อง และชื่อของซีรีส์ที่แปลกันตรงตัวว่า “เพศศึกษา” นี้ มีชื่อเรื่องชวนยั่วล้อที่อาจมโนไปได้ว่าจะมีความยั่วอนาจาร

แต่ “แก่นแท้” ของซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่อง “ความหลากหลายของวัยรุ่น” ได้โดยไม่ต้องสั่งสอน ไม่มีการตัดสิน ที่ผ่านมา “Sex Education” ซีซั่น 1 ได้กระแสวิจารณ์ทางบวกอย่างมาก จนเน็ตฟลิกซ์ไฟเขียวให้ผลิตซีซั่น 2 แล้ว

สำหรับบ้านเราซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นขวัญใจของผู้ชมจำนวนมากที่ส่งต่อกันปากต่อปาก

ถือเป็น “ซีรีส์แนะนำ” สำหรับใครที่นิยม “ซีรีส์วัยรุ่น” รับชมง่าย และมีแก่นสารเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image