ผลวิจัยเผย ‘สูงวัยเสี่ยงถูกละเมิด’ สูง อายุ 60-69 ปี เสี่ยงถูกฉ้อโกงที่สุด

สูงวัยเสี่ยงถูกละเมิด
สูงวัยถูกละเมิด

ผลวิจัยเผย ‘สูงวัยเสี่ยงถูกละเมิด’ สูง อายุ 60-69 ปี เสี่ยงถูกฉ้อโกงที่สุด

สูงวัยเสี่ยงถูกละเมิด – เป็นที่ทราบดีว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าไทยจะเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” คือมีสัดส่วนประชากรสูงวัยร้อยละ 20 ต่อประชากรทั่วไป และอีก 10 ปีจากนั้นจะขยับเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” คือมีประชากรสูงวัยถึงร้อยละ 28 ในปี 2574

ด้วยอยู่ในสังคมที่คนยิ่งแก่ยิ่งจน จึงทำให้เกิดสถานการณ์ “ผู้สูงอายุถูกละเมิด” ซึ่งถูกนำมาพูดคุยกันในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ : ปัญหาและการจัดการ” จัดโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

ดร.ภัทรพร คงบุญ ผู้จัดการชุดโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มส.ผส. ซึ่งฉายเหตุการณ์ผู้สูงอายุไทยถูกละเมิด จากงานวิจัย 6 ชิ้นที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2560 ว่า ผู้สูงวัยเมื่ออายุยิ่งมากขึ้น ก็เริ่มมีความเปราะบางตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกหลายคนก็มีโรคประจำตัว ทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น นำมาสู่การถูกละเมิดในทุกด้าน ตั้งแต่การฉ้อโกงทรัพย์สิน การทำร้ายจิตใจ ทำร้ายร่างกาย ซึ่งผู้ละเมิดส่วนใหญ่ก็คือ คนในครอบครัว ขณะที่ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงถูกละเมิดคือ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว โสดไม่มีลูกหลาน และมีความเจ็บป่วย

Advertisement

“ในแง่การฉ้อโกงทรัพย์สิน พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุอายุ 60-69 ปี มีความเสี่ยงที่สุด เพราะกลุ่มนี้ยังมีเงินอยู่ ก็มักถูกคนใกล้ตัวมาหลอกเรื่องทรัพย์สิน พอหมดประโยชน์ก็ถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้ ยังพบการฉ้อโกงในรูปแบบคอลเซ็นเตอร์ ที่โทรมาหลอกขายของ หลอกลงทุน เพราะผู้สูงอายุหลอกง่าย สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รายงานสถิติคดีอาญาตั้งแต่ปี 2544-2558 พบแนวโน้มผู้สูงอายุถูกฉ้อโกงทรัพย์สินสูงขึ้น จากปี 2548 มีผู้เสียหาย จำนวน 73 ราย เพิ่มขึ้นเป็น จำนวน 703 รายในปี 2558”

“ส่วนการทำร้ายร่างกาย พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเจ็บป่วย และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มีความเสี่ยงที่สุด เพราะตอบโต้ไม่ได้ ยิ่งบางคนสมองเสื่อม ก็อาจไปกระทำอะไรที่ดูแล้วไม่ถูกใจลูกหลานและคนรอบข้าง ก็เป็นเหตุให้ถูกละเมิด และผู้สูงอายุทั่วไป ก็มีความเสี่ยงถูกทำร้ายจิตใจ เช่น การถูกสมาชิกในครอบครัวเพิกเฉย ละทิ้ง” ดร.ภัทรพรกล่าว

ดร.ภัทรพร คงบุญ

จากสถานการณ์ดังกล่าว แวดวงวิชาการมีการระดมความเห็นและสรุปเป็นข้อเสนอ ซึ่งถูกหยิบมาพูดในงาน ดังนี้ ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ให้พิจารณาจัดตั้ง ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One stop service) สำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้บริการคำแนะนำและปรึกษาปัญหา และประสานส่งต่อความช่วยเหลือ รวมถึงให้มีกลไกชุมชนหรืออาสาสมัครในพื้นที่ เพื่อเยี่ยมบ้านและสอดส่องเฝ้าระวังเหตุการณ์ โดยนำมาอบรมให้ความรู้ก่อน เพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องต่อไป

Advertisement

ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การละเมิดสิทธิผู้สูงอายุถือเป็นสถานการณ์น่าห่วง อาจมีปัจจัยเรื่องยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาร่วม ทำให้คนเปลี่ยนไปจนอาจคาดไม่ถึง เช่น ลูกทำร้ายพ่อแม่ ลูกข่มขืนแม่ ฉะนั้น ต้องตัดวงจร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

“เราต้องทำให้ผู้สูงอายุทราบสิทธิของตัวเอง หรือมีอาสาสมัครที่คอยแจ้งและดูแลสิทธิให้ผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบัน พม.ก็ดำเนินการไปแล้ว ส่วนเรื่องการทำร้ายจิตใจกัน ต่อไป พม.ก็อาจไปคิด 10 คำพูดควรพูด และ 10 คำไม่ควรพูดกับผู้สูงอายุ เพื่อแนะนำเป็นแนวทาง ส่วนเรื่องละเมิดทางเพศผู้สูงอายุที่ช่วงหลังพบมากขึ้น ก็อาจต้องไปเน้นย้ำการลงโทษให้เร็วและเข็ดหลาบ และเรื่องฉ้อโกงทรัพย์สิน ที่ผ่านมาได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขไปเยอะแล้ว อย่างไรก็ตาม พม.รับข้อเสนอต่างๆ ไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม” พล.อ.อนันตพรกล่าว

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์

เพราะสูงวัยไม่ใช่เรื่องไกลตัว

 

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image