นวัตกรรมล้ำๆ ไอเดียสุดปัง’เมกเกอร์’รุ่นเยาว์

มือแขนกลเพื่อคนพิการ, วิชั่นเนียร์ เครื่องช่วยคนตาบอดแยกธนบัตร-สีสัน-ยี่ห้อสินค้า-ไฟห้องเปิดปิด, ระบบติดตามการเคลื่อนไหวสำหรับดูแลผู้สูงอายุ, เครื่องมืออ่านสลากยาสำหรับคนตาบอดและผู้สูงอายุ

แต่ละนวัตกรรมที่ยกตัวอย่างมาขั้นต้น ไม่ใช่ฝีมือการประดิษฐ์ของต่างชาติที่ไหน แต่เป็นผลงานการประดิษฐ์ของ “เยาวชนไทย” ที่มีหัวคิดสร้างสรรค์ ที่บอกเลยว่าแต่ละไอเดียนั้น “บรรเจิด” สุดสุด

ซึ่งหากได้รับการต่อยอดหรือสนับสนุน เชื่อว่าคงจะได้รับการพัฒนาให้นำมาใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ไม่น้อยทีเดียว และเพื่อสร้าง “สังคมนักประดิษฐ์” ให้ขยายวงกว้างขึ้นในประเทศไทย

เชฟรอนประเทศไทยร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “Enjoy Science : Young Makers Contest” การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับ “เมกเกอร์” หรือ “นักสร้างนวัตกรรม” ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ” โดยจัดงานแถลงข่าวขึ้นที่ Tribes Maker Space สุขุมวิท 65

Advertisement
ทีมจาก ม.หอการค้าไทย
ทีมจาก ม.หอการค้าไทย

หนึ่งในทีมเยาวชนที่นำผลงานมาจัดแสดงจาก “ม.หอการค้าไทย” กิตติศักดิ์ บัวบก, สุชาติ หมัดโล๊ะ และกฤษดาพงษ์ เขตบุญไสย เจ้าของผลงาน “ระบบติดตามการเคลื่อนไหวสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ โดยใช้เทคนิคการทำเหมืองกระแสข้อมูล” สามารถคว้ารางวัลที่ 2 จากการประกวด เนชั่นแนล ชอฟต์แวร์ คอนเทสต์ 2016 เล่าว่า เครื่องมือเป็นการทำงานร่วมกันกับคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล ช่วยให้แพทย์สามารถเฝ้าระวังและติดตามการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุได้ในระยะไกล เพื่อจัดเก็บสถิติกิจกรรมการเคลื่อนไหว พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสมรรถภาพในชีวิตประจำวัน และทำนายความเสี่ยงในการล้มของผู้สูงอายุได้

“ผู้สูงอายุจะมีสมาร์ทวอตช์และสมาร์ทโฟนติดตัว หากช่วงไหนมีการเคลื่อนไหวน้อย แพทย์สามารถให้คำแนะนำผ่านทางออนไลน์ได้ หรือถ้าเป็นผู้สูงอายุนอนติดเตียง หากมีการนอนอยู่ในท่าเดิมนานๆ แพทย์ก็สามารถจะเช็กและให้คำแนะนำได้ เครื่องมือนี้จะทำให้แพทย์มีข้อมูลที่ถูกต้องในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้สูงอายุ ทำให้วางแผนการดูแลที่ถูกต้องได้”

ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าว เหล่าเมกเกอร์ทั้ง 3 จะพัฒนาให้ใช้งานได้จริง และวางแผนที่จะใช้อุปกรณ์ให้เล็กลง เพื่อสะดวกในการพกพา และประหยัดต้นทุนในการผลิตมากยิ่งขึ้น โดยความหวังของทั้ง 3 คน คืออยากให้นวัตกรรมนี้นำไปใช้ในทุกสถานพยาบาลทั่วประเทศ

อีกหนึ่งผลงานจากทีมเขาไม้แก้ว Robot วิทยาลัยการอาชีพแกลง อ.แกลง จ.ระยอง ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหุ่นยนต์แขนกลเพื่อคนพิการ ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยมันสมองของเด็กอาชีวะ ที่ประดิษฐ์แขนกลจนใช้งานได้จริง ทำจากพลาสติก PVC ซึ่งมีน้ำหนักเบา และราคาถูก ประมาณ 2 หมื่นบาท

นับเป็นนวัตกรรมที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงถึง 2 แสนบาท ปัจจุบันผลิตให้ผู้พิการทางมือและแขนขวาใช้แล้ว โดยผู้พิการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ทีมจากม.มหาสารคาม
ทีมจากม.มหาสารคาม

ปิดท้ายไอเดียเก๋ๆ ของนักศึกษา ม.มหาสารคาม ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขัน “User AWARD” กับเครื่องมือ “อ่านสลากยา” สำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้สูงอายุ “รวิรุจ บุตโคษา” เป็นตัวแทนเพื่อนๆ เล่าว่า เครื่องมือนี้พัฒนามาจากนวัตกรรมการอ่านป้ายของคนตาบอด โดยเรานำมาประยุกต์ในการใช้อ่านสลากยา โดยนำกล้องไปส่องที่ฉลากยา เครื่องมือก็จะอ่านและมีเสียงออกมาบอกชื่อยา สรรพคุณของยา และวิธีการใช้ยา เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่สายตาไม่ดี อ่านสลากยาไม่เห็น และผู้พิการทางสายตา

รวิรุจบอกว่า นวัตกรรมนี้ยังเป็นตัวต้นแบบที่ต่อไปตนและทีมงานจะพัฒนาต่อยอดให้ใช้ได้สะดวกและง่ายขึ้น โดยจะพัฒนาให้เป็นแอพพลิเคชั่นในมือถือเพื่อสะดวกต่อผู้ใช้งานต่อไป

สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโคงการ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน ชิงเงินรางวัลทุนการศึกษา ตลอดจนทริปร่วมงานเมกเกอร์ แฟร์ ในทวีปยุโรปและในประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท

มือแขนกลเพื่อคนพิการ
มือแขนกลเพื่อคนพิการ
ระบบติดตามการเคลื่อนไหวสำหรับดูแลผู้สูงอายุ
ระบบติดตามการเคลื่อนไหวสำหรับดูแลผู้สูงอายุ
ระบบติดตามการเคลื่อนไหวสำหรับดูแลผู้สูงอายุ
ระบบติดตามการเคลื่อนไหวสำหรับดูแลผู้สูงอายุ
วิชั่นเนียร์
วิชั่นเนียร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image