จีโน่ เดอะสแน็ค คอนเทนต์ครีเอเตอร์ดัง แชร์หมัดเด็ดให้ ‘คนฟอล’ 2 ล้าน!

จีโน่ เดอะสแน็ค คอนเทนต์ครีเอเตอร์ดัง แชร์หมัดเด็ดให้ ‘คนฟอล’ 2 ล้าน!

จีโน่ เดอะสแน็ค – หากกล่าวถึงพัฒนาการของการทำ “การตลาดออนไลน์” (Content Marketing) ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คงต้องอธิบายด้วยคำว่า “เติบโตอย่างรวดเร็ว”

ด้วยในยุคแรกเริ่ม ปี 2015 มีการใช้กระแส “ไวรัล” จากคลิปวิดีโอ ภาพยนตร์โฆษณา เป็นส่วนหนึ่งในการทำการตลาดเพื่อสร้างให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก

จากนั้นในปี 2016 แบรนด์ถูกโปรโมทผ่าน “สังคมออนไลน์” อย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป และอินสตาแกรม มากยิ่งขึ้น

โดยชู “คนดัง” เป็นตัวเอก ไม่ว่าจะเป็นดารา เซเลบริตี้ ไปจนถึง เน็ตไอดอล

Advertisement
ขอบคุณรูปภาพจาก DPU X Space

และท่ามกลางกระแสนิยมนี้เอง ที่ดันให้เกิด “อาชีพ” ยอดฮิต สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อาทิ

“บิวตี้ บล็อกเกอร์” (Blogger) ที่โดดเด่นด้วยการรีวิวผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามทั้งหลาย ตลอดจนสอนแต่งหน้าในลุคต่างๆ ซึ่งบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังหลายคนต่างมีชื่อเสียงมาจากการแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับความงามลงบล็อกในชุมชนต่างๆ เช่น เว็บไซต์พันทิป เป็นต้น ก่อนจะเพิ่มช่องทางการนำเสนอคอนเทนต์ไปตามแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม

“วีล็อก” (Vlog) คือการทำวิดีโอนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆ ที่น่าสนใจ อาจจะคาบเกี่ยวกับเรื่องความงาม ไปจนถึงอาหาร การท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ในมุมต่างๆ

Advertisement

“ยูทูบเบอร์” (Youtuber) คือบุคคลที่มีชื่อเสียงจากการทำคลิปวิดีโออัพโหลดผ่านชาแนลยูทูป

และหากเป็นผู้ที่สร้างคอนเทนต์ แต่นำเสนอออกไปในหลากหลายแพลตฟอร์ม เรียกว่า “คอนเทนต์ ครีเอเตอร์” (Content Creator)

คำว่า “อินฟลูเอนเซอร์” (Influencer) ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทและได้ยินบ่อยขึ้นในยุคที่แพลตฟอร์มออนไลน์และดิจิทัลกำลังเฟื่องฟู

เมื่อได้ยินคำนี้ หลายคนก็มักจะอนุมานถึง 2 สิ่ง คือ “เชี่ยวชาญ” และ “คนดัง”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ได้ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรอยู่ก็ตาม

เพราะอินฟลูเอนเซอร์ คือบุคคลที่มีอำนาจหรือพลังในการเข้าถึงผู้รับสารในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ หรือแบบ “เพื่อนบอกเพื่อน” อันมีองค์ประกอบพื้นฐานคือ มีข้อมูลจากประสบการณ์จริง น่าเชื่อถือ, มีเนื้อหาการนำเสนอที่ตรงไปตรงมา ทำให้ผู้รับสารสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ส่งผลให้มีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อสินค้า

อินฟลูเอนเซอร์จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำการตลาดของแบรนด์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับตามยอดผู้ติดตาม (Follower) ดังนี้ “ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์” มีผู้ติดตาม 1,000-9,999 คน “เพียร์ อินฟลูเอนเซอร์” มีผู้ติดตาม 10,000-99,999 คน “พาวเวอร์ อินฟลูเอนเซอร์” มีผู้ติดตาม 100,000-1 ล้านคน และ “เซเลบริตี้ อินฟลูเอนเซอร์” มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคนขึ้นไป

ขอบคุณรูปภาพจาก DPU X Space

จึงจะเห็นได้ว่า “ยอดผู้ติดตาม” เป็น 1 ปัจจัยหลักที่มีความสำคัญ

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงได้จัดเวทีพูดคุยในหัวข้อ “Micro Influencer : ไขเคล็ดลับ ทำยังไงให้มีคนฟอลโลว์” ณ ดีพียู เอ็กซ์ สเปซ

โดยมี ปิยพล ม่วงมี หรือ “จีโน่” คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) เจ้าของชาแนลยูทูบ “The Snack” ที่มีผู้ติดตามมากถึง 2 ล้านคน มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และแชร์ประสบการณ์

ขอบคุณรูปภาพจาก DPU X Space

ปิยพล เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เขาเป็นพนักงานในทีมของ “บี้ เดอะสกา” เจ้าของยูทูบชาแนลที่มียอดผู้ติดตามถึง 8 ล้านคน จนสร้างบริษัทรับทำคอนเทนต์ออนไลน์เป็นของตนเอง ในชื่อ “เดอะ สกา ฟิล์ม”

ซึ่งต่อมาทางบริษัทเดอะสกาฟิล์มอยากให้พนักงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงเพิ่มช่องทางการหารายได้ โดยเปิด “ชาแนลยูทูบ” ใหม่ ที่มีกลุ่มเป้าหมายของผู้รับสารต่างกันออกไป โดยมอบหมายให้จีโน่ดูแลชาแนลใหม่ชื่อว่า “The Snack” ซึ่งเมื่อมีลูกค้าติดต่อมาทางบริษัทก็จะแจกจ่ายงานให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละชาแนล

“เดี๋ยวนี้ลูกค้าแบรนด์ต่างๆ มีความเข้าใจธรรมชาติของการทำคอนเทนต์ออนไลน์มากยิ่งขึ้น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เขาจะกำหนดในสิ่งที่เขาอยากได้ โดยไม่เข้าใจถึงกลุ่มผู้รับสารของแต่ละชาแนล” ปิยพลกล่าว และว่าตอนที่เริ่มทำชาแนลใหม่ๆ ยังไม่รู้ว่าจะทำคอนเทนต์อะไร จึงเปิดชาแนลด้วยคลิปถามคนดูว่า “อยากเห็นเราทำอะไร ส่งข้อความเข้ามา”

เพื่อเป็นการ “โยนหินถามทาง”

หลังจากนั้น จีโน่ได้ยึดเอา “ความสนุก” ความแสบๆ กวนๆ เป็นเอกลักษณ์ของชาแนลตนเอง โดยคิดคอนเทนต์ที่แปลก แตกต่าง และ “สะใจ”

ด้วยรู้ว่าผู้ชมชื่นชอบ ซึ่งยอดผู้ติดตามก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ในขณะเดียวกันก็เกิด “จุดพลิกผัน” เมื่อเขาหลงลืม “การรับผิดชอบต่อสังคม”

“สิ่งไม่ดี มักจะดังง่าย ผมก็เล่นขี้ เล่นเยี่ยวเลย พูดคำหยาบคาย ซึ่งวันหนึ่งมันส่งผลต่อชีวิตประจำวัน คือไปเดินตลาดแล้วมีคนทักว่าคนนี้ไงที่เล่นขี้เล่นเยี่ยว จุดนั้นก็ทำให้ผมคิดได้ว่าผมอาจจะต้องคิดให้มากขึ้นกว่านี้ และก็กลับมาปรับปรุงคอนเทนต์ในทันที เพราะผู้ชมส่วนมากของช่องก็เป็นเยาวชนด้วย” ปิยพลกล่าว

ภายหลังจากที่ปรับปรุงคอนเทนต์ ภาพลักษณ์ช่องดีขึ้น ก็มีแบรนด์ใหญ่ๆ ติดต่องานเข้ามาในทันที

งานนี้จีโน่กระซิบว่า รายได้ต่อเดือน 6-7 หลักเลยทีเดียว โดยมีรายได้เข้ามา 2 ทางคือ “โฆษณาในยูทูบ” ที่แทรกกลางระหว่างคลิปต่างๆ โดยจะสร้างรายได้ตามยอดวิวที่เข้าชม และ “สปอนเซอร์” ซึ่งเป็นรายได้หลัก เพราะได้เงินเป็นก้อน

ซึ่งในเรื่องการหา “สปอนเซอร์” ปิยพลมีวิธีแนะนำสำหรับมือใหม่ว่า ให้รวบรวมข้อมูลเพื่อส่งไปตามบริษัทต่างๆ ประกอบด้วย ผลงาน ข้อมูลของชาแนล กลุ่มเป้าหมาย และเนื้อหาหลักของช่อง เพื่อส่งไปแนะนำตัวให้ทางแบรนด์รู้จักเรา

หรืออีกวิธีที่แนะนำคือให้อากู๋ กูเกิล ช่วย!

นั่นคือหากพิจารณาแล้วว่าชาแนลของตนเองเหมาะสมกับสินค้าประเภทไหน ให้นำไปค้นหาในกูเกิล เช่น ลิปสติก นม ชีส แล้วแบรนด์ไหนขึ้นมาเป็น “อันดับแรกๆ” ให้เลือกส่งข้อมูลไปแนะนำตัวกับแบรนด์นั้น ด้วยสะท้อนให้เห็นว่าทางแบรนด์มีความสนใจในการทำการตลาดออนไลน์

ขอบคุณรูปภาพจาก DPU X Space

แต่กระนั้นก็ต้องมี คอนเทนต์ที่ดี ที่ดึงดูดก่อน จึงจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจแก่สปอนเซอร์ได้

จีโน่จึงแนะนำ “เทคนิค 3 R.” เพื่อใช้ในการคิดคอนเทนต์ ประกอบด้วย “ความจริง (Real)” จริงใจกับคนดู และสิ่งที่อยู่ในคลิปควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ “หาดูยาก” (Rare) ไม่ค่อยมีคนทำ โดยอาจจะเป็นสิ่งที่กำลังตกเป็นกระแส แต่นำเสนอในมุมที่แตกต่าง เช่น สถานการณ์ฝุ่นพิษ หลายคนอาจนำเสนอวิธีกำจัดฝุ่น แต่อาจจะลองมองในมุมของฝุ่นดูบ้าง เป็นต้น และสุดท้าย “ถูกที่ถูกเวลา” (Right) ก็คือไม่ตกเทรนด์นั่นเอง

และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือต้องหมั่นหาความรู้อยู่เสมอ ศึกษาว่าคนที่ประสบความสำเร็จเขามีวิธีการเล่าเรื่อง การทำงานกันยังไง เพื่อนำมาพัฒนาช่องของตัวเองต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม “อย่าลืมคิดคอนเทนต์ที่รับผิดชอบต่อสังคม” จีโน่ย้ำด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ทิ้งท้ายด้วยวิธี “การบริหารชาแนล” ไม่ให้ขาดทุน ปิยพลเผยว่า ต้องมีการบริหารจัดการให้ดี เพราะการลงคลิปวิดีโอในชาแนลอย่างสม่ำเสมอก็เป็นการรักษาคนดูในอีกทางหนึ่งด้วย โดยสิ่งที่ต้องบริหารจัดการคือ “เวลา” ควรมีการลิสต์สิ่งที่ต้องทำทุกวัน และนำมาเรียงลำดับความสำคัญ สิ่งไหนต้องทำก่อน-หลัง สิ่งไหนสามารถมอบหมายให้คนอื่นทำแทนได้ เป็นต้น

ขณะเดียวกันด้านอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการถ่ายทำแต่ละคลิป ต้องมีการคำนวณ โดยแรกเริ่มยังไม่มีรายได้ก็ต้องคิดคอนเทนต์ที่ไม่ต้องใช้ “ทุน” เยอะไปก่อน

เรียกว่ากว่าจะได้ 1 คลิป ก็ “ไม่ง่าย”

ขอบคุณรูปภาพจาก DPU X Space

เบื้องหลังอินฟลูเอนเซอร์!


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image