สารพัดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ทำ ‘คนไทยป่วยหนัก’ ก่อนวัย

สารพัดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ทำ ‘คนไทยป่วยหนัก’ ก่อนวัย

สารพัดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ – “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่กระนั้น หลายคนก็ยังมีพฤติกรรมทำลายสุขภาพที่นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยในที่สุด

ในงานเสวนาวิชาการ “ต้นสายปลายเหตุ ภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่คนไทยต้องแบกรับ” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ (ซ้าย)

ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย รายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากร พ.ศ.2557 ที่ทำการศึกษา 14 ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญของคนไทย พบสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและตายก่อนวัยอันควร ในเพศชาย ได้แก่ การดื่มสุราและสูบบุหรี่ ส่วนเพศหญิง คือการมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนและภาวะความดันโลหิตสูง

ซึ่งพฤติกรรมทางสุขภาพที่เสี่ยงเหล่านี้ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคมะเร็ง หัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และยังส่งผลต่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นผลจากการดื่มสุรา

Advertisement

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ยังคงเป็นต้นเหตุสำคัญอันดับหนึ่งของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในคนไทย พบครึ่งหนึ่งของคนสูบบุหรี่จะเสียชีวิตจากบุหรี่ ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน และในแต่ละปีคนไทยตายจากบุหรี่ปีละ 55,000 คน ซึ่งเฉลี่ยจะตายก่อนวัยอันสมควรคนละ 18 ปี

ด้าน ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่ทำให้คนไทยป่วยและตายก่อนวัยอันควร และยังคงเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสีย

ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อันตรายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทำคนไทยตายมากกว่าโรคติดต่อถึง 3 เท่า และยังสร้างความพิการ คุณภาพชีวิตตกต่ำ เป็นต้นเหตุความยากจนและความรุนแรงในสังคม

“ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังป้องกันได้ถึง 70% และส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่ทำอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะยาสูบ เหล้าเบียร์ อาหารที่มีส่วนผสมในระดับอันตรายจากเกลือโซเดียม น้ำตาล ไขมัน และการไม่มีพื้นที่เชิงบวกที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ฯลฯ”

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงในช่วงเลือกตั้งควรแสดงจุดยืนและประกาศนโยบายพรรคเพื่อจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ ซึ่งมาตรการสำคัญคือการขึ้นภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพโดยเฉพาะบุหรี่และสุรา


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image