‘เล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร’ จากสาวสังคมสุดซ่าส์ สู่ผู้สร้างตำนานบทใหม่ ‘ปาร์คนายเลิศ’

‘เล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร’ จากสาวสังคมสุดซ่าส์ สู่ผู้สร้างตำนานบทใหม่ ‘ปาร์คนายเลิศ’

เมื่อกล่าวชื่อ “ปาร์คนายเลิศ” ก็ต้องนึกถึงภาพตำนานความยิ่งใหญ่ และการเป็น “เจ้าแรก” ในหลายๆ ธุรกิจของ “พระยาภักดีนรเศรษฐ” หรือ “นายเลิศ เศรษฐบุตร”

เจ้าของอู่ต่อเรือ “เลิศ สะมันเตา” อันเลื่องชื่อจนกลายเป็นประโยคพ้องเสียงที่คุ้นเคยกันดีอย่าง “เริด สะแมนแตน” แทนความหมายว่า “ดีเลิศ” หรือ “วิเศษสุด”

ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างขวาง และความสามารถทางการค้าที่เก่งกาจ

นายเลิศ เศรษฐบุตร
รถเมล์ขาว
เลิศ สะมันเตา

นายเลิศจึงเป็นผู้ริเริ่มรถโดยสารประจำทางขึ้นในเมืองไทย หรือที่รู้จักในชื่อ “รถเมล์ขาว” ทำน้ำแข็งจำหน่ายเป็นเจ้าแรกๆ รวมทั้งนำไม้ที่เหลือจากการต่อเรือมาสร้างเป็น “บ้านปาร์คนายเลิศ”

Advertisement

ตลอดจนเป็นผู้สร้างตำนานโรงแรมดัง “สวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ” ที่อยู่คู่เมืองหลวงของไทยมาหลายทศวรรษ ก่อนจะปิดตัวลงในเวลาต่อมา

แต่การเดินทางของ “ปาร์คนายเลิศ” ยังไม่สิ้นสุด

เมื่อทายาทรุ่นที่ 4 “เล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร” เข้ามารับไม้ต่อ ขึ้นแท่นดำรงตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการบริษัท สมบัติเลิศ จำกัด”

Advertisement
เล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร

ซึ่งกว่าจะเป็น “ผู้บริหารคนเก่ง” เธอได้เผยถึงเรื่องราวความแสบ เซี้ยว เปรี้ยว ซ่าส์ ระหว่างเธอและ “ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ” คุณยายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอย่างออกรส

ณพาภรณ์เล่าย้อนกลับไปว่า แต่ก่อนเธอเป็นลูกคุณหนูคนหนึ่งที่แทบจะทำอะไรด้วยตัวเองไม่เป็น เพราะมีพี่เลี้ยงคอยดูแลตลอด ด้วยเหตุนี้ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์

ผู้เป็นคุณยายจึงเกิดความกังวล เพราะอยากให้หลานๆ ทุกคนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และช่วยเหลือตัวเองได้ จึงตัดสินใจส่งเธอและพี่สาวไปเรียนที่โรงเรียนประจำหญิงล้วน ในเมืองผู้ดี ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 12 ปี

“ตอนนั้นเล็กยังเด็กไปที่จะกลัว รู้สึกเพียงแค่เปลี่ยนที่วิ่งเล่นและยังอุ่นใจว่ามีพี่สาวไปด้วย แต่ที่ไหนได้ พอไปแล้วแทบไม่ได้เจอกัน เพราะเรียนอยู่คนละชั้น คนละหอพัก”

และเมื่อไปถึง ณพาภรณ์ยัง “สอบตก” ด้วยอุปสรรคเรื่อง “ภาษา” เธอยังสื่อสารภาษาอังกฤษได้ไม่ดี จนค่อยๆ ปรับตัวและเริ่มรู้ภาษามากขึ้น

“พอสื่อสารกับใครไม่รู้เรื่อง ก็ไม่มีเพื่อนเลย ท้อนะ แถมโดนแกล้งด้วยเพราะเราเป็นคนเอเชีย แต่ทำไงได้ก็หัวเราะขำๆไป จนคิดได้ว่าไม่มีเพื่อนก็ไปเล่นกับลูกบอลซะ” ผู้บริหารสาวเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส

จากนั้นเธอจึงพาตัวเองไปสมัครเข้าชมรมกีฬา ทั้งแบดมินตันและเทนนิส จนฝีมือเก่งกาจ ได้เป็น “กัปตันทีมของอังกฤษคนแรกที่เป็นคนเอเชีย”

ทำให้ชีวิตในรั้วโรงเรียนของ ณพาภรณ์ พลิกผัน มีเพื่อนๆ อยากทำความรู้จัก และได้รับการยอมรับมากขึ้น

“การใช้ชีวิตที่นั่น สอนให้เรียนรู้ถึงวิธีเอาตัวรอดในสังคม ใครเป็นเพื่อนแท้ ไม่ใช่แบบโลกสวย แต่ก็เสี่ยงที่จะทำตัวเองพังได้ หากไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน เพราะฉะนั้นการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศก็เป็นได้ทั้งด้านบวกและลบ แต่เล็กโชคดีที่มีครอบครัวเข้าใจ มีคุณยายและครอบครัวคอยประคองตลอด”

กระนั้นการใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำก็ผ่านไปอย่าง “ไม่ง่าย” เพราะต้องทำ “ทุกอย่าง” ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า ล้างจาน ตลอดจนทำเวรทำความสะอาด ทั้งถูพื้น กวาดห้อง และเก็บที่นอน

“เอาจริงๆ นะ ซักผ้าก็ไม่เป็น กดเปิดเครื่องยังไม่เป็นเลย ล้างแก้วล้างยังไง ต้องใช้ฟองน้ำเหม็นๆ นี่เหรอ บางครั้งก็ขี้เกียจว่าทำไมต้องซักผ้าบ่อยๆ ด้วย แต่ก็ผ่านมาได้”

“พอคิดย้อนกลับไปมันเป็นประสบการณ์ที่ดี ถ้าไม่ผ่านตรงนั้นมา ก็คงไม่มีมุมมองว่ากว่าน้ำจะออกมาแก้วนึง กว่าพรมจะสะอาดเพื่อเตรียมต้อนรับคนคนหนึ่ง ไม่ง่าย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และเป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้ในการทำงานจนถึงทุกวันนี้” อดีตคุณหนูกล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

สาวสังคมสุดซ่าส์
จนได้ฉายา”ปารีส ฮิลตัน”เมืองไทย

ภายหลังจากที่เรียนจบไฮสคูล ณพาภรณ์เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ด้านบริหารจัดการโรงแรม มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ 3 ปี

ก่อนกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย จากนั้นจึงเริ่ม “ทำงาน”

เธอเล่าถึงชีวิตการทำงานช่วงนั้นว่า “ตื่นนอนประมาณ 11 โมงเช้า แต่งตัวสวยมาที่โรงแรม กินข้าวเที่ยงกับคุณยาย จากนั้นพอมีเวลาว่าง 2-3 ชั่วโมง ก็เดินเล่น เดินโชว์ตัวในโรงแรม ก่อนออกไปกินข้าวกับเพื่อนๆ ต่อด้วยปาร์ตี้ วนอยู่แถวสีลม กลับบ้านประมาณตี 5-6 โมงเช้า และใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ประมาณ 5-6 ปี”

กระทั่งได้ฉายาว่า “เจ้าแม่สีลม”

มากไปกว่านั้น ภายใน 1 วัน เธอยังแต่งตัวแบบจัดจ้าน เพื่อไปร่วมงานสังคมมากถึง 4 งานต่อวัน ด้วยมีคนเชิญไปออกงานเยอะ และเธอเองก็รู้สึกสนุก ทำให้เธอมีชื่อเสียงและกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคม

จนถูกขนานนามว่าเป็น “ปารีส ฮิลตัน แห่งเมืองไทย”

การันตีความแสบ เซี้ยว เปรี้ยว ซ่าส์ ได้เป็นอย่างดี

ประสบการณ์ “เทรนนิ่ง”
จุดเปลี่ยนสาวสังคม

ณพาภรณ์เล่าต่อว่า ขณะที่ยังใช้ชีวิตแบบสาวสังคมอยู่นั้น มีวันหนึ่งท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ได้ถามเธอขณะรับประทานอาหารด้วยกันว่า “วันนี้เล็กได้เรียนรู้อะไร”

เธอจึงกล้อมแกล้มตอบไปว่า “ประชาสัมพันธ์” ท่านผู้หญิงก็เพียงแค่รับทราบ ด้วยรู้ว่าหลานสาวคนนี้ไม่ได้อินกับการทำงานโรงแรม เพราะเคยให้ไปฝึกงานกับพนักงานในโรงแรม 3 เดือน ตั้งแต่แผนกแม่บ้าน ทำหน้าที่ขัดส้วม ก็ไม่รอด

“พนักงานไม่กล้าปล่อยให้ทำ หรือสอนงาน เพราะรู้ว่าเป็นหลานเจ้าของโรงแรม”

ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์จึงตัดสินใจส่งหลานสาวไปเทรนงานภาคปฏิบัติที่ “โรงแรม โฟว์ ซีซั่น” ประเทศสิงคโปร์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ในนามของ “พนักงานฝึกงาน” คนหนึ่งเท่านั้น

ซึ่งการเทรนงานครั้งนี้ ณพาภรณ์ขอนิยามคำเดียวว่า “สุดยอด”

“จากที่คิดว่าการทำโรงแรมคือธุรกิจที่หรูหรา มีกาแฟแพงๆ กิน มีที่นั่งสวยๆ ทาน ทุกอย่างสะอาด ที่ไหนได้ต้องขัดส้วมจริง รู้ถึงวิธีล้วงส้วมต้องเข้าไปตรงแล้วล้วงซ้าย การทำความสะอาดห้องต้องซ้ายไปขวา ต้องจัดระเบียบที่เปียกก่อน หากโรงแรมไหนมีอ่างจากุซซี่ก็ต้องดึงจุกที่อุดออกมาทำความสะอาด เพราะตรงนั้นสกปรกมาก มีทั้งเส้นผม และไขมัน”

“เป็นเทรนนิ่งครั้งที่เปลี่ยนความคิด เปิดสวิตช์และเปลี่ยนทุกอย่างของเล็ก บางสิ่งที่คิดว่ารู้ และเป็นเรื่องที่ใครก็รู้ได้ง่ายๆ แต่ความเป็นจริงทุกอย่างมีระบบให้ต้องเรียนรู้ ต้องทำเองหมด เพราะเขาไม่สนใจว่าเราเป็นใคร เป็นแค่เด็กที่มาเทรนงานคนหนึ่ง” ณพาภรณ์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

บ้านปาร์คนายเลิศ
กับหลักการทำงานที่เน้นเป็น”ผู้ให้”

หลังกลับจากสิงคโปร์ ณพาภรณ์กลับมาช่วยงานที่บ้านอย่างเต็มตัว โดยคอยดูแลระบบโรงแรมและช่วยพัฒนา

ซึ่งการออกงานสังคมก็ทำให้ชื่อของ “ปาร์คนายเลิศ” ได้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

เธอจึงตัดสินใจต่อยอดพื้นที่กว่า 20 ไร่ บริเวณ “บ้านปาร์คนายเลิศ” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์อาศัยอยู่ตลอดชีวิต จนวาระสุดท้าย และสร้างโดยนายเลิศ มีอายุกว่า 104 ปี

บ้านปาร์คนายเลิศ

มาแตกไลน์ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “เลดี้ แอล การ์เดน บิสโทร” ร้านอาหารตะวันตก, “มา เมซอง” ร้านอาหารไทย ที่ขึ้นชื่อเมนูหาทานยากและเป็นตำรับดั้งเดิมของคุณหญิงสิน ภรรยาของนายเลิศ, “ไวท์บัส เคเทอริ่ง” ธุรกิจจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่,

“นายเลิศ บัตเลอร์” สถานฝึกอบรมบัตเลอร์และการให้บริการระดับสูงแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย และธุรกิจโยคะเพื่อสุขภาพ “ครี โยคะ”

โลโก้ปาร์คนายเลิศ

และหากสังเกตจะเห็นว่า “โลโก้” ของปาร์คนายเลิศ คือวงกลมและมีกากบาทตรงกลางสะท้อน แนวคิดเรื่อง “พรหมวิหาร 4” ที่ลูกหลานปาร์คนายเลิศยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และทำงานมาโดยตลอด

โดยเฉพาะ “การเป็นผู้ให้”

กับเรื่องนี้ ณพาภรณ์เผยว่า เธอก็เคยสงสัยว่าทำไมต้องเป็น “ผู้ให้” มากขนาดนั้น อย่างที่สีลมก็สร้างโรงพยาบาลแล้วมอบให้รัฐบาลดูแล คือ “โรงพยาบาลเลิดสิน” งานดอกไม้รายได้ก็มอบให้การกุศล และสร้างโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ เพื่อเด็กๆ อีกด้วย

“ตอนเด็กสงสัยก็เลยถามคุณยายว่าทำไมต้องให้สังคม ทำไมไม่ให้เล็ก ซึ่งคุณยายไม่ขำ และบอกเล็กว่า เราเกิดมาโชคดีแบบนี้ เรามี เราต้องแบ่งปัน ก็เหมือนกับเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่ใช้เงิน ก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ เมื่อมีก็ต้องให้ เพราะทุกอย่างเป็นระบบหมุนเวียนและเอื้อต่อกัน”

เช่นเดียวกับด้านการทำงาน ที่พนักงานทุกคนต่างบอกว่า “ปาร์คนายเลิศ ให้ชีวิต”

“วันที่ปิดโรงแรมปาร์คนายเลิศ ต้องเลย์ออฟพนักงานกว่า 200 ชีวิต เป็นความรู้สึกที่พูดไม่ออก พวกเขาอยู่กับโรงแรมมานานกว่า 30 ปี อยู่กันมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ตอนนี้อายุก็มากกันแล้ว ไม่มีที่ไหนรับเขาแล้ว เล็กจึงรับพนักงานเก่าแก่มาทำงานต่อที่บ้านปาร์คนายเลิศ ไม่มีระบบเกษียณ จ้างปีต่อปีไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะไม่ไหว”

“มากกว่าเงิน หรือรายได้ เล็กอยากทำอะไรให้กรุงเทพฯ หรือโลกน่าอยู่ แล้วคนมีความสุข อย่างการมาทำงานที่บ้านปาร์คนายเลิศก็เหมือนกัน เล็กอยากให้ทุกคนทำงานอย่างสนุกแล้วมีความสุข” ณพาภรณ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

และทิ้งท้ายถึงเคล็ดลับในการบริหารงานว่า ต้องมีการวางแผน จากนั้นลงมือทำ และจุดสำคัญคือ “การติดตามผล” เพราะมีส่วนช่วยกำหนดทิศทางที่จะต้องดำเนินไปต่อ หากฟีดแบ๊กจากลูกค้าดี แสดงว่าควรทำต่อไป แต่หากฟีดแบ๊กไม่ดี ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม

100 ปีชาตกาล
ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ

“คุณยายเป็นคนระเบียบจัดมาก เวลาท่านดุเล็ก ท่านจะดุเหมือนจิกลงมาที่ใจ เมื่อก่อนเล็กทำตัวไม่ค่อยดี คิดตลอดว่า ฉันเจ๋ง ฉันโก้มาจากเมืองนอก คุณยายก็ถามว่า “เล็กคิดว่าตัวเองเก่งไหม” เล็กก็ตอบไปว่า “เก่ง” และคุณยายก็พูดคำหนึ่งว่า คนเก่งเขาต้องโง่ให้เป็นนะ” ณพาภรณ์เล่าด้วยรอยยิ้ม และว่า

หลังจากนั้น คำสอนนี้ก็ติดอยู่ในใจเธอ และคอยเตือนใจอยู่เสมอ

ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ

“ในพี่น้อง 4 คน เล็กสนิทกับคุณยายที่สุด ชอบมากินข้าวกับคุณยาย ชอบรสนิยมและสไตล์การแต่งตัวของท่าน ฟังท่านเล่าเรื่องสมัยก่อน ตั้งแต่สมัยคุณทวด เล็กชอบสังเกตและมองการใช้ชีวิตของคุณยาย เพราะยกให้ท่านเป็นไอดอลในการใช้ชีวิต”

“คุณยายเป็นคนใช้ชีวิตแบบสมดุล จัดการชีวิตเป็น เที่ยวก็เที่ยวเป็น ทำงานก็ทำงานจริง ไม่หรูเกินไปแต่ก็ไม่ธรรมดา”

“คุณยายบอกว่าของแพงก็ใช่ว่าจะดีที่สุด แต่การใช้ของดีต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ เช่น การทำร้านอาหาร อย่าหลอกลูกค้า ต้องใช้วัตถุดิบที่ดี เพราะลูกค้าเขารู้ ถ้าดีจริงก็จะเกิดการบอกต่อ”

นอกจากนี้ยังมีคำสอนอื่นๆ อีก เช่น การไม่โอ้อวดตน การบริหารงานบริหารลูกน้องที่ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ติเตียนได้แต่คำที่ใช้ต้อง “ไม่บาดใจคน”

นิทรรศการศิลปะแห่งพวงมาลัย

และเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ใน “งานดอกไม้ปาร์คนายเลิศ” ปีนี้ ณพาภรณ์จึงได้เปิดบ้านปาร์คนายเลิศ จัด “นิทรรศการศิลปะแห่งพวงมาลัย” เพื่อเป็นการระลึกถึงท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ และได้ตัดสินใจเปลี่ยนเรือนไม้สักหลังงาม เป็นพิพิธภัณฑ์ (Living Museum) ให้ผู้ที่สนใจอยากชมความงามของเรือนไม้สักอายุร่วม 100 ปี ซึ่งรวบรวมเรื่องราวชีวิตของนายเลิศ เศรษฐบุตร และเป็น “บ้าน” ที่ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์เคยพักอาศัยอยู่ โดยเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ วันละ 3 รอบ ได้แก่เวลา 11.00 น. 14.00 น. และ 16.00 น.

จากท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ วันนี้ “เล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร” เธอรับไม้ต่อในการสร้างตำนานบทใหม่ให้กับอาณาจักร “ปาร์คนายเลิศ”


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image