โลหิตจาง มองข้ามไม่ได้! เช็กตัวเอง ห่างไกลธาลัสซีเมีย

ธาลัสซีเมีย

โลหิตจาง มองข้ามไม่ได้! เช็กตัวเอง ห่างไกลธาลัสซีเมีย

ธาลัสซีเมีย – โลหิตจาง คือ ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ โดยอาการของโรคโลหิตจาง จะแสดงออกมาเล็กน้อยมาก มักไม่มีอาการแสดงชัดเจน ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติใดๆ อย่างไรก็ตาม หากร่างกายมีภาวะโลหิตจางมาก หรือโลหิตจางเฉียบพลัน จะมีการแสดงออกของอาการมากกว่า คือ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด มึนงง เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ใจสั่น

ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางชัดเจนมักพบอาการหน้าตาซีดเซียว ฝ่ามือซีด เล็บซีด เยื่อบุเปลือกตา ริมฝีปาก และลิ้นซีดขาวกว่าปกติ

ดังนั้น ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด จะมาแนะนำวิธีการ และสาเหตุของการเกิดโรคโลหิตจาง เพื่อสามารถสังเกตตัวเองเบื้องต้น ได้ดังนี้

สาเหตุของการเกิดโรคโลหิตจาง เกิดจาก 6 ปัจจัยหลัก คือ 1.ขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด 2.ขาดอาหารหรือโปรตีน 3.โลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว 4.ไตวายเรื้อรัง มักพบร่วมกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไต 5.โลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ แตกสลายง่าย ส่งผลให้มีอาการซีดเหลืองเรื้อรังมาตั้งแต่เด็ก กระดูกใบหน้าผิดปกติ ม้ามโต และ 6.ธาลัสซีเมียชนิดความรุนแรงสูง เด็กอาจเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดออกมาได้ไม่นาน

Advertisement

โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดในโลก ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียประมาณ 1% มีทารกเกิดใหม่เป็นโรคนี้ประมาณ 12,500 รายต่อปี และมีผู้ที่เป็น “พาหะของโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” มากถึง 30-45% (มียีนผิดปกติแฝงอยู่โดยไม่เป็นโรค แต่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้) โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคธาลัสซีเมีย แพทย์จะวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมียและการเป็นพาหะของโรคได้จากประวัติอาการและประวัติในครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง และชนิดของโรคธาลัสซีเมีย

Advertisement

การป้องกันโรคธาลัสซีเมีย เนื่องจากโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการมีบุตร เพื่อตรวจคัดกรองว่าคู่สามีภรรยามีพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่

ผู้ป่วยธาลัสซีเมียสามารถควบคุมอาการของโรคไม่ให้รุนแรงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำและแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image