คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : มหานครกะทัดรัด

ใครเป็นคนกรุงยกมือขึ้น

รู้หรือไม่เขามีนโยบาย “มหานครกะทัดรัด” ด้วยอ่ะ

วันนี้หยิบดาต้าเบสจากกองสำรวจและแผนที่ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร สำรวจพื้นที่ว่างเปล่าในเขตกรุงเทพฯ ณ ปี 2549 มีจำนวน 7,340 แห่ง ขนาดพื้นที่ 166.10 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับ 166,098,921.04 ตารางเมตร

อัพเดต ณ ปี 2558 จำนวนลดเหลือ 6,722 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 120,511,643.05 ตารางเมตร หรือเท่ากับ 120.51 ตารางกิโลเมตร

Advertisement

เห็นตัวเลขหนาๆ แล้วงงอ่ะดิ พื้นที่ว่างเปล่าลดลง 45 ตารางกิโลเมตร สาเหตุมีได้สารพัด คนออกไปสร้างบ้านเรือนมากขึ้น ตัวเมืองขยายออกไปตามความเจริญที่มีการตัดถนนใหม่ ทำรถไฟฟ้าพาดผ่าน ทำเลตรงไหนที่ดินแพงก็มักจะมีการปลูกตึกเพื่อใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า

ในจำนวนนี้ ท็อป 5 เขตที่มีพื้นที่ว่างเปล่ามากสุด อันดับ 1 เขตคลองสามวา มี 594 แห่ง ขนาด 13.57 ตารางกิโลเมตร

รองลงมาก็เขตหนองจอก 364 แห่ง พื้นที่ 12.56 ตารางกิโลเมตร, เขตมีนบุรี 367 แห่ง ขนาด 11.71 ตารางกิโลเมตร, เขตลาดกระบัง 364 แห่ง 11.47 ตารางกิโลเมตร

Advertisement

และเขตประเวศ 496 แห่ง 8.22 ตารางกิโลเมตร

คำถามสวนทาง ท็อป 5 เขตที่มีพื้นที่ว่างเปล่าน้อยที่สุดล่ะ สถิติอันดับแรกคือเขตพระนคร แบบว่า ไม่มีพื้นที่ว่างเปล่าเพียงเขตเดียว

รองลงมา เขตสัมพันธวงศ์ มีพื้นที่เปล่า 2 แห่ง คิดเป็น 0.003 ตารางกิโลเมตร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มี 6 แห่ง ขนาด 0.02 ตารางกิโลเมตร, เขตบางรักมี 12 แห่ง ขนาด 0.02 ตารางกิโลเมตร และเขตบางกอกใหญ่ มี 10 แห่ง ขนาด 0.04 ตารางกิโลเมตร

ต้นทางก็ต้องมาจากการปรับปรุงผังเมือง ไม่อยากจะ said มีแผนวิชาการยั้วเยี้ยเต็มไปหมด เช่น แผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 12 ปี 2560-2564, แผนใหญ่สุดก็ต้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เรามาแง้มดูร่างผังเมืองที่เป็น “ผังภาค กทม.และปริมณฑล” เขาบอกว่ามหานครกรุงเทพต้องเป็นมหานครแห่งเอเชียภายในปี 2580

การเป็นมหานครแห่งเอเชีย แปลว่าเมืองหลวงของเราและจังหวัดปริมณฑลต้องนับถอยหลังไปสู่การเป็น “มหานครระดับโลก”

ภาษาอสังหาริมทรัพย์เรียกเพราะๆ สวยๆ คำว่าเมืองก็คือคำว่า Urban นั่นเอง (สังเกตจะเห็นดีเวลอปเปอร์หยิบคำนี้ไปแปะสโลแกนหรือหยิบมาอธิบาย เช่น urban living solution, An infinite happiness of urban living เป็นต้น)

คนทำแผนเขาคิดจนหัวแตกได้แนวทางคร่าวๆ ออกมาว่า ในปี 2580 กทม.-ปริมณฑลประชากร (ตัวจริงกับประชากรแฝง) เพิ่มเป็น 18 ล้านคน หรือเพิ่มเกือบ 2 ล้านคนจากปัจจุบัน

ประชากรวัยชรา (อายุมากกว่า 60 ปี) เพิ่มจาก 2 ล้านคนเป็น 5 ล้านคน สัดส่วน 28% นอกจากนี้ มีประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาเรียนและทำงาน 8 แสนคน/วัน นักท่องเที่ยวเกิน 100 ล้านคน/ปี

ตรงนี้แหละเป็นโจทย์ที่รัฐต้องจัดให้มีบริการสาธารณะมารองรับ

วกกลับมาดูการใช้ประโยชน์ที่ดิน อีก 18 ปีหน้าพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างจะเพิ่มขึ้น 36.1% พื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 4.8% ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมลดลง -24.1% จากปัจจุบัน

ความจริงเขาเขียนซ่อนไว้บนบรรทัดเดียว แต่เห็นแล้วอดตาลุกไม่ได้ ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างจะบานออกมาอีกมากกว่า 1 ใน 3 ของสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหลายคนบ่นว่ากรุงเทพฯ ตอนนี้แออัดเกิ๊น จนต้องทำสารพัดกฎหมายออกมาคุมตึกสูงมั่ง บังคับอินฟราสตรักเจอร์ให้มุดดินมั่ง ลอยฟ้ามั่ง

ถัดจากผังเมืองวางให้เป็นมหานครระดับโลก องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับพิเศษอย่าง “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ก็เดินสายโชว์วิสัยทัศน์ กทม. 2575 กำหนดให้ กทม.เป็นมหานครแห่งเอเชียเช่นเดียวกัน

กทม.บอกว่าอย่างนี้ค่ะ ภายในปี 2575 บทบาทเมืองหลวงมีหลายด้าน เริ่มตั้งแต่มหานครปลอดภัย แนวคิดมี 4 ปลอดด้วยกันคือ “ปลอดมลพิษ-ปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด-ปลอดอุบัติเหตุ-ปลอดภัยพิบัติ”

เป็นมหานครสีเขียว มีสัดส่วนประชากร 1 คนต่อพื้นที่สวนสาธารณะเท่าไหร่ก็ว่าไป มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เป็นมหานครสำหรับทุกคน ทุกชนชั้น ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานภาพ

และเป็น “มหานครกะทัดรัด” โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างผังเมืองจากเมืองโตเดี่ยวรวมศูนย์ ไปเป็นมหานครที่อยู่กันเป็นก้อนๆ เป็นเมืองขนาดเล็ก กะทัดรัด จำนวนหลายเมือง อยู่ใกล้กัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน เชื่อมต่อกันโดยตาข่ายรถไฟฟ้า

พื้นที่หรือ “เมือง” กรุงเทพฯ ชั้นในจะถูกจำกัดขนาดและลดความแออัดลง เมืองเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วไปจะแตกตัวให้มีการเติบโตขึ้น

วาดวิมานในอากาศได้หรูหรามาก ประเด็นอยู่ที่มหานครกะทัดรัดในชีวิตจริง เนรมิตให้คนชั้นกลาง-รากหญ้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ป๊ะ

ใครออกแบบได้ช่วยบอกที จะตามไปเป็น FC กดไลค์ให้กระจายไปเลยค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image