คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : อัพเดตโซเชียลมีเดีย

การใช้งานโซเชียลมีเดียในบ้านเรายังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการวิเคราะห์การเติบโตในปี 2561 โดย “ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย)” บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านโซเชียลมีเดียพบว่าทั้งเฟซบุ๊ก (Facebook), อินสตาแกรม (Instagram : IG) และทวิตเตอร์ (Twitter) พบว่ายังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” จากปีก่อนหน้า มีฐานผู้ใช้งาน 49 ล้านคน ขยับเพิ่มขึ้นมาเป็น 53 ล้านคน ส่วน “อินสตาแกรม” มีจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 13 ล้านคน และทวิตเตอร์ 7.8 ล้านคน

กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา มีจำนวนข้อความเกิดขึ้นบนโลกโซเชียลสูงถึง 5.3 พันล้านข้อความ หรือโดยเฉลี่ย 10,000 ข้อความต่อนาที เติบโตขึ้นถึง 47% จาก 2.6 พันล้านข้อความในปีก่อนหน้า อีกทั้งยังพบด้วยว่ามีการแชร์ภาพในโซเชียลสูงถึงกว่า 230 ล้านภาพ

“ไวซ์ไซซ์” จึงพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า “Social seeing” ที่สามารถรับรองการวิเคราะห์รูปภาพบนโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความเข้าใจในพฤติกรรม

ผู้บริโภคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปต่อยอด

Advertisement

ในการพัฒนากลยุทธ์ของแบรนด์ได้ถูกต้อง ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ เช่น การวิเคราะห์การรับรู้ของแบรนด์ผ่านภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมทางการตลาด โดยจะเปิดให้ใช้งานได้ในไตรมาส 2

และเตรียมเปิดให้บุคคลทั่วไปได้ใช้ “Wisesight Trend” เพื่อติดตามกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลได้ด้วยแบบเรียลไทม์ ที่ https://trend.wisesight.com

“ปัจจุบันมีการใช้งานโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น และสามารถใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแชต, การแชร์, การใช้เพื่ออำนวยความสะดวก หรือใช้ในเชิงธุรกิจ ถือได้ว่าโซเชียลมีเดียเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด ทำให้งาน Thailand Zocial Awards 2019 ปีนี้มาในคอนเซ็ปต์ PLAY: Rolling your data เพราะอยากให้ทุกคนสนุกไปกับการนำดาต้าไปใช้อย่างสร้างสรรค์และมีประโยชน์”

Advertisement

ในงานได้เชิญตัวแทนจากโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้ง Google, Facebook, Instagram, LINE, Pantip, Twitter มาพูดถึงความสนใจของผู้ใช้งานในแต่ละแพลตฟอร์มในปีที่ผ่านมา ร่วมกับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วย

จากการวิเคราะห์ของ “กูเกิล” พบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคพูดถึงโซเชียลมีเดียมากขึ้นทำให้การเข้าถึงผู้ใช้จำเป็นต้อง “ถูกคน ถูกที่ และถูกเวลา” สำหรับผลิตภัณฑ์ 7 ตัวหลักของ “กูเกิล” ที่มีการใช้งานมากกว่าพันล้านคนในปัจจุบัน คือ Search, Youtube, Chrome, Gmail, Google Play, Android และ Google Map

“เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม” มีการใช้งานเติบโตก้าวกระโดดเช่นกันหากวัดจากจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นแตะเลขหลักพันล้านคนทั่วโลกในทั้ง 2 แอพพลิเคชั่น โดยในเมืองไทย “เฟซบุ๊ก”ได้รับความนิยมมาก (อันดับ 8 ของโลก) มีจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อวัน 37 ล้านคน (Daily active user) กว่า 90% ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ และเริ่มให้ความสำคัญกับ Social Commerce เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ “IG story” อีกฟีเจอร์ของ “อินสตาแกรม” เติบโตอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันมีคนใช้ถึง 400 ล้านคนทั่วโลก

“ไลน์” (Line) อีกแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานในเมืองไทยเหนียวแน่นมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในปีที่ผ่านมา คือการเป็นตัวกลางระหว่างแบรนด์กับกลุ่มลูกค้า มีการเปิด “เคพีไอ” ให้กับหลังบ้านของแบรนด์เพื่อให้แบรนด์ส่งข้อมูลทุกอย่างสู่ลูกค้าได้โดยตรงจึงกลายเป็นช่องทางเชื่อมต่อให้กับแพลตฟอร์มของแบรนด์ต่างๆ

ส่วนเว็บบอร์ดดัง “Pantip” มีฟีเจอร์ติดตามแท็กสร้างความเฉพาะเจาะจงในเรื่องที่สนใจมากขึ้น ทั้งมี Expert account และ Expert brand เพื่อให้ความรู้และคำตอบที่น่าเชื่อถือแก่ผู้ใช้ และในปีนี้จะมีการทำ Quiz Gameให้แบรนด์ต่างๆ เพื่อเพิ่มผู้ใช้มากขึ้นด้วย

ในปีที่ผ่านมา “ทวิตเตอร์” ยังเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นมาก โดยในกลุ่มผู้ใช้งานช่วงอายุ 25-34 ให้ความสนใจรับข้อมูลข่าวสารผ่านแอ๊กเคาต์ของ

แบรนด์ออฟฟิเชียลแบบเรียลไทม์ เช่น เช็กได้ว่าเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นบนท้องถนน เป็นต้น

ในส่วนของสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น “AIS Play” ของ “เอไอเอส” มีการนำจุดแข็งของเน็ตเวิร์กและพาร์ตเนอร์ เช่น ผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์อย่าง Netflix และ iflix มาตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่ชื่นชอบการดูหนัง จนปัจจุบันมีลูกค้าเกือบ 4 ล้านคน เติบโตถึงสองเท่าจากปีก่อนหน้า

เช่นกันกับแอพพลิเคชั่นมิวสิกสตรีมมิ่ง “Joox” ที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ใช้ทำให้ฐานคนใช้เติบโตมากขึ้นเช่นกัน โดยในปีนี้มีแผนขยายบริการไปยังประเทศพม่า และเพิ่มฟีเจอร์คาราโอเกะให้ผู้ใช้ร้องคาราโอเกะในแอพพลิเคชั่นได้

สำหรับตัวแทนจาก “Line TV” พูดถึงพฤติกรรมคนดูโทรทัศน์ในปัจจุบันว่า เปลี่ยนแปลงไปมากและต้องการดูรายการโทรทัศน์จากที่ไหน และเวลาใดก็ได้จึงมีการเสริมคอนเทนต์ของช่องโทรทัศน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งคอนเทนต์ “ทีวีรีรัน” และปีนี้ตั้งเป้าขยายกลุ่มคนดูไปสู่กลุ่มแมสครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในการเป็น “แพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ของคนไทย”

ฟากแอพพลิเคชั่น “TrueID” ใช้ดาต้าอินเตอร์เน็ตที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ 30% เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนต่างจังหวัดได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีการลงทุนเรื่องลิขสิทธิ์คอนเทนต์เพื่อตีตลาดหนังเถื่อน และยกระดับมาตรฐานการดูออนไลน์ให้คุณภาพดีขึ้น เช่นกันกับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม น้องใหม่ “VIU” ที่มาอัพเดตข้อมูลการใช้งานด้วยว่า แม้จะเติบโตขึ้น 89% แต่ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นสร้างฐานให้แข็งแรงและสร้างเอกลักษณ์ให้ชัดเจนขึ้น

ตบท้ายด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มรุ่นใหญ่อย่าง “Youtube” ที่ปัจจุบันมีคนใช้งานต่อเดือนมากถึง 1.9 พันล้านคนทั่วโลก และจากการมีเครื่องมือวัดชั่วโมงการดู (Watch Time) พบว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ของเอเชีย-แปซิฟิกที่มีผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มยูทูบสูงที่สุดของโลก และกลุ่มที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้จะเข้าใช้งานสูง 92% ด้วยกัน

เห็นอย่างนี้แล้วเชื่อว่าการใช้โซเชียลมีเดียในบ้านเราคงยังเป็นขาขึ้นต่อไป แม้ว่า 2 ใน 3 ค่ายมือถือบ้านเราจะเริ่มแตะเบรก “ดาต้าแพคเกจเหมาจ่ายรายเดือนใช้ได้ไม่จำกัด” (Unlimited) ลงไปบ้างแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image