นักวิทย์ญี่ปุ่นค้นพบวิธี ฟื้นฟูสายตาผู้สูงวัยด้วยเทคนิคสเต็มเซลล์

ภาพ-docakilah.wordpress.com

ทีมนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นในโครงการวิจัยพิเศษเพื่อฟื้นฟูสภาวะการมองเห็นของผู้สูงอายุด้วยเทคนิคสเต็มเซลล์ นำโดย ศ.มาซาโยะ ทากาฮาชิ จากศูนย์ไรเคนเพื่อพัฒนาการทางชีววิทยา ประสบความสำเร็จในการเพาะสร้างจอตาส่วนนอก (อาร์พีอี) ที่พัฒนาจากเซลล์ผิวหนังของผู้ป่วยเอง หลังจากนั้นก็นำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยเพื่อฟื้นฟูการมองเห็นบางส่วนกลับคืนมาอีกครั้ง

โครงการทดลองครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2014 แต่ทีมวิจัยรอการเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้นานกว่าปี เนื่องจากต้องการรอดูผลของการปลูกถ่ายและระยะเวลาความคงทนของจอตาส่วนนอกที่ปลูกถ่ายเข้าไปจนแน่ใจ จึงเผยแพร่ข้อมูลผ่านการประชุมประจำปีของสมาคมวิจัยเพื่อการมองและจักษุวิทยา (อาร์โว) ประปี 2016 ที่นครซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา เมื่อเร็วๆ นี้

กระบวนการฟื้นฟูการมองเห็นดังกล่าวทดลองกับผู้ป่วยสตรีอาสาสมัครวัย 70 ปี ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อตาเสื่อมตามวัย (เอเอ็มดี) ซึ่งเป็นสาเหตุลำดับแรกที่สร้างปัญหาการมองเห็นให้กับผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากการนำชิ้นผิวหนังผู้ป่วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มม. มาใช้เพื่อปรับแต่งเซลล์จากชิ้นผิวหนังดังกล่าวเสียใหม่ให้กลายเป็น “เซลล์ไอพีเอส” (เซลล์ต้นกำเนิดที่พัฒนาจากเซลล์ร่างกาย ซึ่งสามารถเพาะให้กลายเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของร่างกายได้แทบทุกชนิด) จากนั้นนำมาปรับแต่งใหม่ให้พัฒนาไปสู่เนื้อเยื่อจอตาส่วนนอก (อาร์พีอี) ที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางเป็นพิเศษแล้วจึงนำแผ่นอาร์พีอีที่ได้ไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย

การผ่าตัดเป็นไปด้วยดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน และเมื่อติดตามความคืบหน้าพบว่าเซลล์อาร์พีอีสามารถอยู่ได้โดยไม่มีอาการข้างเคียงหรือการปฏิเสธจากร่างกายแต่อย่างใดเป็นเวลาปีครึ่ง และทำให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ดีขึ้น ใสชัด และขอบเขตของลานสายตากว้างขึ้นอีกด้วย

Advertisement

ทีมวิจัยยอมรับว่า วิธีการนี้ไม่สามารถฟื้นฟูการมองเห็นของผู้ป่วยให้กลับมาสมบูรณ์ได้เหมือนเดิม แต่ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญในวิธีการใช้เซลล์ไอพีเอสเพื่อการรักษาอาการ และเชื่อว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคอื่นๆ ได้อีกมาก รวมทั้งโรคพาร์คินสันและอัลไซเมอร์ เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image