พรมเปอร์เซีย อาร์ตพีซมีระดับกับอารยธรรมที่ใกล้สาบสูญ

พรมเปอร์เซีย อาร์ตพีซมีระดับกับอารยธรรมที่ใกล้สาบสูญ

“พรมเปอร์เซีย” นอกจากจะเป็นของใช้ในบ้าน และของประดับบ้านแล้ว ยังเป็นที่รู้จักในนามของ “ของสะสม” และ “อาร์ตพีซ” อันทรงคุณค่า และมีราคาสูงมากด้วย

แต่เพราะอะไร “พรมเปอร์เซีย” ถึงมีมูลค่าและกลายเป็นของสะสมที่บรรดานักธุรกิจผู้มีกำลังทรัพย์ และเซเลบริตี้ให้ความสนใจ

ส่วนหนึ่งมาจากต้นกำเนิดของ “พรมเปอร์เซีย” ที่ไม่ธรรมดา เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์น่าค้นหา ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมใน “อาณาจักรเปอร์เซียโบราณ” ที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 3,000 ปี

โดย “ทักษะดั้งเดิมในการถักทอพรม” นับเป็นมรดกทางอารยธรรมของชาวเปอร์เซียที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตทุกหลังคาเรือนและทุกหมู่บ้านต่างมีเทคนิคและเคล็ดลับในการถักพรมที่แตกต่างกันออกไปอย่างมีเอกลักษณ์ และโดดเด่น

Advertisement

ซึ่งในปัจจุบันอาณาจักรเปอร์เซียได้กลายเป็น “ประเทศอิหร่าน” นั่นเอง

Isfahan Classic (อิสฟาฮาน คลาสสิก)
Isfahan Classic (อิสฟาฮาน คลาสสิก)

เพราะฉะนั้นจึงมีคำพูดทำนองที่ว่า “หากเดินทางไปเที่ยวอิหร่าน แต่ไม่ได้เข้าร้านขายพรม ก็นับว่าไปไม่ถึงอิหร่านเสียแล้ว”

Advertisement

มากไปกว่านั้น “คุณสมบัติ” ของพรมเปอร์เซียก็ไม่ธรรมดา เพราะสามารถ “คงความงาม” ไว้ได้แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายสิบปี

เพราะ “พรมเปอร์เซียแท้” มีคุณลักษณะสำคัญคือ เป็นงานทำด้วยมือ เต็มไปด้วยรายละเอียด อาทิ ใน 1 ตารางนิ้วเมื่อแหวกดูจะพบกับปมผ้าหลายหมื่นปม และสีที่ปรากฏในผืนพรมล้วนมาจากธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเมื่อโดนน้ำสีจะไม่ตก เมื่อโดนแดดสีจะไม่ซีด เนื้อพรมไม่หดไม่ยุ่ย

แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่เด่นที่สุดคือ “ความทนทาน” และในปัจจุบัน “พรมเปอร์เซียแท้” ก็เริ่มหาได้ยาก และมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้สะสมพรมเปอร์เซียคาดการณ์ไว้ว่า “ในอีก 50 ปีข้างหน้า อาจจะไม่มีผู้ผลิตพรมเปอร์เซียแท้แล้ว”

เพราะฉะนั้นในตลาดโลก พรมเปอร์เซียร์ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป จึงได้รับความสนใจจากนักธุรกิจหรือนักสะสมเป็นอย่างมาก

เอ-จิตรกร มงคลธรรม ผู้ก่อตั้ง “อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” (Art on da floor) คอมมูนิตี้เพื่อคนรักงานศิลปะ ในฐานะผู้สะสมพรมเปอร์เซียและมีในครอบครองไม่น้อยกว่า 20 ผืน ได้จัดงาน “เปอร์เซียน คาร์เปทส์ ไพรเวท คอลเล็กชั่น บาย อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” นิทรรศการแสดงคอลเล็กชั่นพรมเปอร์เซียหายากกว่า 30 ผืน ซึ่งบางผืนที่นำมาจัดแสดงมีอายุกว่า 100 ปี และมีมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ ณ ร้าน Duke Contemporary Art Space ชั้น 1 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ

โดยจิตรกรกล่าวว่า พรมเปอร์เซียคืองานศิลปะที่เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา และเป็นที่หมายปองของนักสะสมทั่วโลก แต่สำหรับนักสะสมไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่มาก โดยเขาเริ่มสะสมพรมเปอร์เซียตั้งแต่ 2 ปีก่อน จากความหลงใหลในความงามและรายละเอียดของพรมเปอร์เซีย ไม่ใช่เพียงแค่ผิวเผิน แต่ต้องศึกษาหาข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้สะสมด้วยกัน ตลอดจนลงพื้นที่เพื่อไปสัมผัสและเลือกพรมอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

จิตรกรยังกล่าวอีกว่า “การสะสมงานศิลปะไม่ได้มอบความสุขทางใจอย่างเดียว แต่ยังเป็นการลงทุนระยะยาวรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า แพสชั่น อินเวสเมนต์ (Passion Investment)”

Nain Deer in the Forest (นาอิน เดียร์ อิน เดอะ ฟอเรสต์)
Nain Deer in the Forest (นาอิน เดียร์ อิน เดอะ ฟอเรสต์)
Green Qum (กรีน กวม)
Green Qum (กรีน กวม)
Silk Nain (ซิลค์ นาอิน)
Silk Nain (ซิลค์ นาอิน)
Isfahan (อิสฟาฮาน)
Isfahan (อิสฟาฮาน)

“พรมเปอร์เซียมีคุณค่าในตัวเอง และยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามกาลเวลา ที่สำคัญคือเป็นพรมที่มีชีวิต นำไปวางไว้ตรงไหนที่นั่นก็จะดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที จึงเป็นอาร์ตพีซที่ใช้ได้จริง อย่างที่บ้านผมจะเปลี่ยนพรมเปอร์เซียในบ้านทุกๆ 2 สัปดาห์ เวลาที่กลับมาบ้านหลังจากทำงานเสร็จพอได้เห็นของสะสมของเราก็ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าได้ นี่คือคุณค่าทางจิตใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นธุรกิจที่เกิดจากความชื่นชอบได้ด้วย” นักสะสมพรมเปอร์เซียกล่าวด้วยรอยยิ้ม และเผยว่า

“มูลค่าของพรมเปอร์เซียมักจะเริ่มที่ 6-7 หลักขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ อายุของพรม แบรนด์ ขนาด รายละเอียด เทคนิค และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อย่างบางผืนก็จะเป็นของแบรนด์เก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมานาน ใช้วัตถุดิบที่พิเศษเช่น ซิลค์ ออน ซิลค์ หรือใช้สีย้อมหายาก อย่างสีเทอควอยซ์ ตลอดจนมีลูกเล่นในการทอพรมทำให้พรมทั้งสองด้านมีลวดลายที่แตกต่างกัน เป็นต้น”

ส่วน วิธีการรักษาพรมเปอร์เซีย เบื้องต้น จิตรกรเผยว่า ให้ใช้เครื่องดูดฝุ่นในการทำความสะอาด โดยดูดย้อนทางพรม เพื่อไม่ให้พรมเสียทรง

ด้าน มร.วิคเตอร์ โบลลิเกอร์ นักสะสมพรมเปอร์เซียตัวยงมากว่า 20 ปี แนะเกร็ดการลงทุนในพรมเปอร์เซียว่า ต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น สถาบันการประมูล หรือตระกูลทำพรมเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญต้องเลือกที่มีคุณภาพดี อาจต้องลงลึกไปถึงคุณภาพของชิ้นงาน ตั้งแต่รูปแบบลวดลาย “กรรมวิธีการทอปม” (Persian Knot) ยิ่งจำนวนปมเยอะก็ยิ่งสวยงามและทนทาน เห็นได้จากพรมเปอร์เซียบางผืนมีอายุเป็น 100 ปี ก็ยังสวยและใช้งานได้

“การลงทุนในงานศิลปะเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนเหมือนกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะเป็นเจ้าของงานศิลปะ ต้องเลือกจากชิ้นที่เจ้าของชอบเป็นหลักก่อน จากนั้นค่อยคิดเผื่อถึงการลงทุนว่าถ้าซื้อจากตระกูลที่มีชื่อเสียง มีกรรมวิธีการผลิตที่ประณีต ลวดลายสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กเกินไป ก็จะยิ่งเป็นที่ต้องการในตลาดนักสะสมมากกว่า”

เอ-จิตรกร มงคลธรรม ผู้ก่อตั้ง “อาร์ต ออน เดอะ ฟลอร์” (Art on da floor) และ มร.วิคเตอร์ โบลลิเกอร์ นักสะสมพรมเปอร์เซียตัวยงมากว่า 20 ปี

 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมนิทรรศการ “เปอร์เซียน คาร์เปทส์ ไพรเวท คอลเล็กชั่นฯ” ฟรี! ตั้งแต่วันนี้-12 เมษายน เวลา 11.00-24.00 น. ณ ร้าน Duke Contemporary Art Space ชั้น 1 เกษร วิลเลจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image