คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : ที่ราชพัสดุ 2562

ปีที่ 4 ในรัชกาลที่ 10 ปรับปรุงกฎหมายเก่า กลายเป็นกฎหมายอัพเดตล่าสุด “พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562”

ให้ไว้ ณ วันที่ 6 มีนาคม 2562 แต่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 มีนาคม 2562 โดยให้นับเวลาอีก 120 วันแล้วกฎหมายค่อยมีผลบังคับใช้

สรุปสาระสำคัญ มีด้วยกัน 8 หมวด 50 มาตรา ในภาพรวมนับเป็นการจัดระเบียบที่ราชพัสดุให้ทันสมัย เหมาะทั้งกาละเวลาและราคาค่างวดของอสังหาริมทรัพย์ เพราะที่ราชพัสดุทุกวันนี้เป็นที่ดินตั้งอยู่บนทำเลทองเยอะแยะไปหมด

หมายความว่าต่อไปนี้ การเช่าที่ราชพัสดุจะโมเมมั่วนิ่ม เช่าในที่ลับราคาถูกๆ แล้วมาปล่อยเช่าต่อหรือปล่อยเช่าช่วงในราคาแพงๆ กินหัวคิวหรือกินส่วนต่างแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว

Advertisement

และหมายความว่าคดีบุกรุกที่ราชพัสดุทั้งหลาย เดิมหาเจ้าภาพยากเย็น หมายถึงเจ้าภาพที่จะมาจัดการปัญหา

ต่อไปนี้ กฎหมายบอกว่ามีความผิดเต็มประตู (ผิดกฎหมายที่ราชพัสดุนี่แหละ ไม่ต้องไปพูดถึงกฎหมายอาญากฎหมายแพ่งให้วุ่นวายอีกแล้ว) มีโทษทั้งจำคุกทั้งปรับสตางค์

วัตถุประสงค์จริงๆ เห็นบอกว่ารัฐบาลอยากจัดระเบียบการเช่า-การใช้ที่ราชพัสดุ เพราะของเดิมสับสนวุ่นวาย อีนุงตุงนัง อยากทำอะไรแต่ละทีก็เจอตอเจอแต่ปัญหา

Advertisement

วันนี้เราลองมาหยิบกฎหมายดูเป็นบางมาตรากันดีกว่า

มาตรา 6 ให้คำนิยาม “ที่ราชพัสดุ” 3 อย่าง คือ อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์แผ่นดินทุกชนิด, ที่ดินสงวนหรือหวงห้ามเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และเพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมาย

มาตรา 7 บอกด้วยว่า มีอีก 7 อย่างที่ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ เช่น ที่รกร้างว่างเปล่าที่กลับคืนเป็นของแผ่นดินภายใต้กฎหมายที่ดิน, อสังหาฯ ของรัฐวิสาหกิจ-องค์กรปกครองท้องถิ่น-องค์การมหาชน ซึ่งได้มาจากการอุทิศบริจาค หรือไม่ได้รับเงินอุดหนุน ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินไปซื้อ เป็นต้น

มาตรา 21 หน่วยงานที่ขอใช้ที่ราชพัสดุ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ เช่น ขอใช้ประโยชน์เพื่อทำบ้านพัก ต่อมามีการเปิดร้านอาหารสวัสดิการด้วย (มีรายได้) ต้องแจ้งกรมธนารักษ์และทำข้อตกลงใหม่ (มีค่าเช่าด้วยมั้ง แต่อาจเป็นราคาเช่ารัฐกับรัฐ)

มาตรา 22 เข้าใจว่าออกมาปราบพวกชอบแทงกั๊ก ถ้าขอใช้ที่แล้วไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย 3 ปี กรมธนารักษ์เขาจะเรียกคืน

มาตรา 24 ที่ราชพัสดุที่อยู่ในครอบครองผู้ขอใช้ (ส่วนราชการเป็นหลัก) ถ้าไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย ให้อำนาจกระทรวงการคลังนำมา “จัดหาประโยชน์” ได้ ความหมายเท่ากับนำมาเปิดประมูลหาผู้เช่ารายใหม่ที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ

มาตรา 27 กรณีใครก็ตามที่ไม่ใช่ภาครัฐ ขอเช่า สามารถทำได้แต่เงื่อนไขเปลี่ยนแปลงจากอดีต เช่น ค่าเช่าเป็นราคาตลาด, มีการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนอื่นนอกเหนือจากค่าเช่า

รวมทั้งต้องคำนึง “มูลค่าอสังหาฯ บนที่ดินที่จะกลับคืนมาอยู่กับกระทรวงคลัง ในเวลาที่สัญญาสิ้นสุดลง” อันนี้น่าจะหมายถึงให้คำนวณมูลค่าทางบัญชีล่วงหน้า เช่น สัญญาเช่า 20 ปี มีการคำนวณผลประโยชน์ล่วงหน้า 20 ปี แล้วทอนกลับมาเป็นราคาค่าเช่าในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า NPV-net present value

ยกตัวอย่าง นายปรายุทธ (นามสมมุติ) ขอเช่าที่ราชพัสดุทำเลใจกลางหมู่บ้าน อยู่ตรงข้ามตลาดสด แถมอยู่ริมถนนสายหลักอีกต่างหาก ขอเช่า 20 ปี ค่าเช่าเริ่มต้นปีละ 500 บาท ถ้าคำนวณ NPV ในปีสุดท้ายซึ่งทำเลเปลี่ยนแปลง มีความเจริญมากขึ้น ค่าเช่าอาจต้องเป็นปีละ 50,000 บาท เป็นต้น

ไม่ใช่สูตรแบบเดิมๆ ค่าเช่าเริ่มต้นปีละ 500 บาท ขึ้นค่าเช่า 15% ทุกสามปี หรือขึ้นค่าเช่าได้ 6 รอบ รอบละ 15% ลองคำนวณแบบขำๆ พบว่าจนถึงปีที่ 19-20 นายปรายุทธ จ่ายตามสูตรเดิมแค่ปีละ 1,307 บาทเท่านั้นเอง

มาตรา 28 กำหนดไว้ว่าถ้าค่าเช่าเกิน 500 ล้านบาท ให้จบที่ “บอร์ด-คณะกรรมการที่ราชพัสดุ” ที่มีรัฐมนตรีคลังนั่งหัวโต๊ะ มีปลัดคลัง ปลัดมหาดไทย ปลัดกลาโหม และเพิ่มทรงคุณวุฒิได้อีก 3 คน

มาตรา 32 ที่ดินมีคนบริจาค ถ้าไม่ได้ทำประโยชน์ใน 5 ปี ทายาทผู้บริจาคมีสิทธิขอคืนได้ อุ๊ย อันนี้น่าจะสนุกดีนะ

มาตรา 33 กำกับไว้อีกชั้นหนึ่งว่า ถ้ามีการขอคืนจากทายาท กระทรวงคลังต้องพิจารณาให้จบว่าจะคืน-ไม่คืนภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน

มาตรา 41 ที่ราชพัสดุในต่างประเทศ ถ้าจะมีการโอนหรือขายทอดตลาดต้องทำภายใต้ “มติคณะรัฐมนตรี” ให้รับผิดชอบร่วมกันทั้งคณะ

อืมม์ ก่อนหน้านี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้าง มีเจ้าสัวตระกูลดังถามซื้อสถานทูตไทยในต่างประเทศ ในบางประเทศ ไม่บอกก็รู้ชิมิว่า หนึ่งในนั้นคือสถานทูตไทยในสิงคโปร์ (ฮา)

เรามาดูไฮไลต์กันดีกว่า อยู่ในหมวดสุดท้าย “หมวด 8 บทกำหนดโทษ”

มาตรา 45 กรณีมีผู้บุกรุก (บุคคลธรรมดา) มีโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสน จ๊าบที่สุดคืออุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรใดๆ “ให้ริบเสียทั้งสิ้น”

มาตรา 46 กรณีผู้บุกรุกที่เป็นนิติบุคคล ผู้จัดการ-กรรมการเข้าปิ้งด้วย มีคนวิจารณ์ว่า โห เด็ดดวงมากเลยเพราะที่ผ่านมากรรมการนิติบุคคลล้มบนฟูกมานักต่อนักแล้ว

การปรับปรุงกฎหมายที่ราชพัสดุปี 2562 ต้องถือเป็นผลงานยุครัฐบาล คสช. เพื่อทำให้กระบวนการเปิดประมูลภาครัฐทำได้รวดเร็ว ทันสมัย ที่สำคัญ ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมีความยุติธรรมมากขึ้น

ว่าแต่ว่าไปอ่านข่าวเก่าเจอข้อมูล ที่ราชพัสดุ 95% เป็นพื้นที่ทหาร อุ๊บส์ !!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image