คอลัมน์ นอกลู่ในทาง : บิ๊กดาต้าอีคอมเมิร์ซ

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน จากการสำรวจมูลค่าตลาดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ตั้งแต่ปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มจาก 9.3 ล้านคน ในปี 2551 มาเป็นกว่า 45 ล้านคนในปัจจุบัน

สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การพัฒนาของเครื่องมือสื่อสาร และราคาที่ถูกลงทำให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น ทั้งจำนวนผู้ซื้อ และผู้ขายออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น

โดย ณ สิ้นปี 2561 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือมากกว่า 124.8 ล้านราย มีผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่น “ไลน์” (Line) กว่า 44 ล้านคน และมีผู้ใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) กว่า 52 ล้านราย

ผลการสำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยพบว่าปี 2561 มีมูลค่า 3.15 ล้านล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 14.04% แบ่งเป็นมูลค่าตลาดแบบ B2G (การค้าระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ) 5.72 แสนล้านบาท โตขึ้น 15.50% ตลาด B2B (การค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ) 1.71 ล้านล้านบาท โต 13.55% และตลาด B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) 8.65 แสนล้านบาท เติบโต 14.04%

Advertisement

ขณะที่ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce) ก็มาแรงไม่แพ้กัน โดยจากการสำรวจพบว่า คนไทยเลือกซื้อสินค้าผ่าน Social Commerce เป็นอันดับสองรองจากอี-มาร์เก็ตเพลซ (e-Marketplace) เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ซื้อง่ายขายคล่อง ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย และเพิ่มอำนาจการต่อรองของลูกค้าทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น

อีกปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ด้านโลจิสติกส์ (Logistics) หรือการขนส่งสินค้า ซึ่งมีการพัฒนาไปตามความต้องการของลูกค้า เช่น มีระบบการติดตาม (Tracking) ตรวจสอบสถานะการส่งทำให้เกิดความมั่นใจในการสั่งซื้อ มีผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นจึงมีตัวเลือกค่อนข้างหลากหลาย และมีบริการที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง ระหว่าง 8-10% ต่อปี และคาดการณ์ว่าในปี 2562 นี้ จะเติบโตอีก 20% ไปอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านบาท

Advertisement

จากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคที่เชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น จากกลุ่มคนวัยดิจิทัลที่โตมากับเทคโนโลยี หรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงวัยที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ทำให้ค่าบริการถูกลง และส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น

“มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ รูปแบบการชำระเงิน ที่แม้บัตรเครดิตและเดบิตจะยังเป็นอันดับ 1 ที่ 42.69% แต่อันดับ 2 คือ การจ่ายเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแอพพลิเคชั่น 27.23% แสดงให้เห็นถึงความคุ้นเคยและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการซื้อ”

ไม่ใช่เท่านั้น ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ B2C (การค้าระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค) สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่ามีมูลค่าเพิ่มกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท จากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบ e-Payment ที่สะดวกขึ้น และการขนส่งที่รวดเร็วขึ้น

หากมองไปยังโอกาสของสินค้า และบริการต่างๆ จะเห็นว่าธุรกิจห้างสรรพสินค้าออนไลน์เติบโตสูงมากจากโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจลูกค้า ความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในแหล่งขายที่มีตัวตน

ในส่วนของอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และอาหารเสริมเติบโตตามมาติดๆ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมอาหาร และรักสุขภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการกระตุ้นความต้องการซื้อผ่าน Influencer และ YouTuber อย่างต่อเนื่อง

การสำรวจของ “สพธอ.” ยังพบด้วยว่าในปี 2562 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีการทำการตลาดออนไลน์สูงถึง 69.92% โดยใช้เงินกับเฟซบุ๊กมากสุดถึง 93.94% ทั้งในรูปแบบของการ boost post และ boost ads เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รองลงมาเป็นไลน์ 3.09% กูเกิล 1.48% ยูทูบ 1.34% อินสตาแกรม 0.15% และเสิร์ช 0.01%

ในส่วนของการนำข้อมูลบิ๊กดาต้า (Big Data) มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจพบว่า 46.15% มีการลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท และ 100% ใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ 92.85% ใช้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอย่างแม่นยำและการวางแผนการตลาด รวมถึงใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้า 85.71%

สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีองค์กรขนาดใหญ่ 76.93% นำมาใช้แล้ว แต่ 38.46% ยังลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท 23.07% ลงทุนราว 1-5 ล้านบาท

โดย 69.23% นำ AI มาใช้พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการเป็นอันดับ 1 เช่น ใช้ Chatbot เพื่อให้ข้อมูลกับลูกค้าได้รวดเร็ว และการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) 69.23% รวมถึงใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค และเพื่อการตัดสินใจในเชิงการบริหาร ในสัดส่วนที่เท่ากัน ที่ 15.38%

ทั้งมีการประเมินว่าหากไทยก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี 5G จะยิ่งทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น “โดรนขนส่งและตรวจตราความปลอดภัย”,

วิดีโอสตรีมมิ่ง และการถ่ายทอดสดแบบ 360 องศา, โลกเสมือนจริงแบบสามมิติเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น

ไม่เฉพาะแค่ตลาดภายในประเทศ แต่ยังสามารถที่จะผลักดันให้อีคอมเมิร์ซไทยไปบุกตลาดต่างประเทศได้ด้วย เมื่อวิเคราะห์จุดแข็งของประเทศไทยจากการที่เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลก และสินค้าไทยเองก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในหลายประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนามที่ชอบสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยทั้งเครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก, อินโดนีเซียชอบอาหารทานเล่นของไทยมาก, อินเดียชอบเครื่องปรุงรสอาหารไทย และเครื่องสำอาง, จีนชอบเครื่องสำอาง สมุนไพร เสื้อผ้าและกระเป๋า เป็นต้น ทั้งหมดล้วนมีส่วนขับเคลื่อนผลักดันตลาด “อีคอมเมิร์ซ” ให้เติบโตต่อไปได้อีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image