เบื้องหน้า-เบื้องหลัง ‘อี-สปอร์ต’ ลบภาพเด็กติดเกมสู่ ‘โปรเพลเยอร์’ มีรายได้

เบื้องหน้า-เบื้องหลัง “อี-สปอร์ต” ลบภาพเด็กติดเกมสู่ “โปรเพลเยอร์” มีรายได้

“ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเป็นแชมป์ให้ได้ทุกลีก”

สองสมาชิกสโมสรอี-สปอร์ต “บุรีรัมย์ อาร์คติก วูฟ” กล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ของผู้เล่น “อี-สปอร์ต” (E-sport : Electronic sport) ในมุมมองของหลายๆ คน ที่ยังคงติดภาพจำของ “เด็กติดเกม” ที่เอาแต่เล่นเกมทั้งวันทั้งคืน ไม่ตั้งใจเรียน และถูกดันให้กลายเป็น “เด็กมีปัญหา” หรือ “น่าเป็นห่วง”

แต่ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เกม” ไม่ได้เป็นเพียงแค่กิจกรรมบันเทิงเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

เห็นได้จากผลสำรวจตลาดเกมของ NEWZOO องค์กรวิจัยการตลาดเกม ที่ระบุว่า ในปี 2561 มีผู้เล่นเกมในไทยถึง 18.3 ล้านคน และมีรายได้รวมจากธุรกิจเกมสูงถึง 1.9 พันล้าน

Advertisement

เช่นเดียวกับสถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) ที่มองเห็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาอาชีพ และต้องการให้นักศึกษาได้เห็นถึงช่องทางในอาชีพใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยม จึงจัดงานเสวนา “รู้เบื้องหน้า เจาะลึกเบื้องหลัง พร้อมทั้งหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ในวงการ E-Sport” ภายใต้โปรเจ็กต์ “Playfessional ชอบทางไหนต้องไปให้สุด” ณ ดีพียู เอ็กซ์ สเปซ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

โรมีโอ สตรีมมิ่ง
โรมีโอ สตรีมมิ่ง
แชมป์ - กฤตย์
แชมป์ – กฤตย์
โคราซอน (ซ้าย) - โรมีโอ (ขวา) (1)
โคราซอน (ซ้าย) – โรมีโอ (ขวา)

ซึ่งหากจะกล่าวถึง “ผู้นำทางด้านเกม และแพลตฟอร์มออนไลน์” ก็ต้องนึกถึง “การีนา” (Garena) เป็นลำดับต้นๆ

กฤตย์ พัฒนเตชะ หรือ “แชมป์” เฮด ออฟ การีนา ไทยแลนด์ ที่เผยว่า การีนาเข้ามาทำกิจการในไทยเมื่อปี 2012 โดยขยายฐานธุรกิจจากเกมพีซี มาสู่การเป็นเจ้าแรกๆ ที่ผลิต “โมบา เกม” (MOBA : multiplayer online battle arena) หรือเกมมือถือพกพาออกสู่ตลาด และได้รับความนิยมสูงมาก ส่งผลให้กลุ่มผู้เล่นเกมเปลี่ยนไป จากที่กลุ่มผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นผู้ชายทั้งหมด ก็เริ่มมีผู้หญิงเข้ามาเล่นมากขึ้น

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ ในแวดวงเกม ซึ่งที่ได้รับความนิยมหรือเป็นเทรนด์อยู่ในขณะนี้คือ “เกมสตรีมมิ่ง” หรือการถ่ายทอดสดการเล่นเกมออนไลน์ โดยผู้เข้าชมสามารถส่งของขวัญให้กับผู้เล่นได้ ทั้งในรูปแบบของเงินหรือไอเท็มต่างๆ

“ในปีที่ผ่านมา ตลาดเกมเติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 10 ทางแบรนด์ใหญ่ๆ ก็เริ่มเข้ามาสนับสนุนในการสร้างเวทีการแข่งขัน ทำให้เงินรางวัลของแต่ละเวทีนั้นสูงขึ้นๆ แต่กระนั้นในวงการเกมก็ไม่ได้มีเพียงตำแหน่งผู้เล่นมืออาชีพ ยังมีฝ่ายการตลาดที่ต้องคอยดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์ และฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะเกี่ยวกับการวางระบบเกม การออกแบบตัวละครในเกม โดยคุณสมบัติที่ต้องมีคือ ทัศนคติที่ดี และมีความชื่นชอบในการเล่นเกมอย่างแท้จริง” แชมป์กล่าว และว่า

“อีสปอร์ตเป็นวงการที่ไม่มีใครอยากออก มีแต่คนอยากเข้ามา”

ทั้งนี้ ในส่วนของนักกีฬา อี-สปอร์ต หรือที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้เล่นมืออาชีพ” (Pro Player) จะได้รับรายได้ 3 ช่องทาง คือ เงินเดือนที่ได้รับจากทางสโมสร ซึ่งขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000 บาท, เงินรางวัลจากการแข่งขัน และสตรีมมิ่ง การถ่ายทอดสดระหว่างฝึกซ้อมหรือแข่งขัน

แต่กระนั้นก็เป็นอาชีพที่ต้อง “มีวินัยสูง” ด้วยผู้เล่นมืออาชีพหลายคนก็ผันตัวมาจาก “เด็กติดเกม”

เฉกเช่น ธเนศพล ปัญญา หรือ “แบงค์” เจ้าของฉายา โคราซอน (Corazon) และ ปรีชา พรเพชรไพบูลย หรือ “ลีโอ” เจ้าของฉายา โรมีโอ (Romeo) คู่หูโปรเพลเยอร์วัย 19 ปี น.ศ.ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยครีเอทีฟ ดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี (ANT)

ที่พ่วงตำแหน่งสมาชิกทีมสโมสร “บุรีรัมย์ อาร์คติก วูฟ” ที่พัฒนาจาก “เด็กติดเกม” สู่ “ผู้เล่นมืออาชีพ”

โดยลีโอเริ่มเล่าเป็นคนแรกว่า แต่ก่อนเป็นเด็กติดเกมที่เรียกว่าเล่นทั้งวันทั้งคืน พ่อแม่เลยไม่ชอบใจมาก เพราะอยากให้โฟกัสเรื่องการเรียนให้มากกว่านี้ จึงมีปัญหากับที่บ้านมาโดยตลอด โดยที่ในใจก็คิดว่า อยากจะพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่เห็นว่า “ตั้งใจกับมันมากแค่ไหน” และ “เกมก็ไม่ไร้สาระ”

จนกระทั่งได้เข้ามาเป็นโปรเพลเยอร์ มีรายได้ ตลอดจนได้ทุนเรียนฟรี จึงรู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก

“ตอนนี้พ่อแม่ก็โอเคแล้ว จากที่คอยห้าม ตอนนี้ก็ตามาเชียร์ทุกแมตช์ รู้สึกว่าได้รับการยอมรับมากขึ้นด้วย” ผู้เล่นโรมีโอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

แต่ดูเหมือนว่าการเริ่มต้นแข่งในนาม “โปรเพลเยอร์” ครั้งแรกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

บุรีรัมย์ อาคติค วูฟ (ภาพจาก garena)
บุรีรัมย์ อาคติค วูฟ (ภาพจาก garena)
ภาพจาก pixabay

 

ธเนศพล ซึ่งพ่วงตำแหน่งกัปตันทีม เล่าว่า ครั้งแรกที่อยู่ในสนามแข่ง ต้องเล่นเกมต่อหน้าคนดูเป็นหมื่น เขารู้สึกตื่นเต้นมาก แต่พอมองย้อนกลับไป จากวันนั้นถึงวินาทีที่ได้เป็นแชมป์ รู้สึกภูมิใจ เพราะทั้งทีมทำตามสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ไว้ ทุกคนหมั่นฝึกซ้อมก็เพื่อวันนี้ พอได้รับมันแล้ว เลยรู้สึกดีใจมาก

ส่วนเคล็ดลับการเข้ามาเป็นผู้เล่นมืออาชีพ ธเนศพลแนะว่า อย่างแรกต้องเป็น “คนเก่ง มีฝีมือ” หรือมีพื้นฐานในการเล่น (Skill Play) มีความสนใจด้านเกม ตั้งมั่นที่จะฝึกฝนให้เก่ง อยากเป็นคนที่เก่งขึ้น ต้องขยันฝึกซ้อม และสร้างกำลังให้ตัวเองด้วยการกำหนดเป้าหมาย แล้วเราก็จะสู้คนอื่นได้

ขณะที่ “เสน่ห์” ของเกมออนไลน์ที่ทำให้พวกเขาชื่นชอบ คือ “ความสนุก”

“ผมชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก ถ้าเล่นแล้วรู้สึกเบื่อก็เลิกก่อน และส่วนมากผมก็เล่นเพื่อศึกษาด้วย เพราะเกมมีอะไรใหม่ๆ มาให้ศึกษาตลอด เช่น แผนการเดิน สกิล และฝึกความชำนาญของฮีโร่ด้วย ตลอดจนศึกษาข้อมูลของทีมตรงข้าม และแต่ละแมตช์ก็ให้ความรู้ที่ไม่ซ้ำกันเลย มากไปกว่านั้น ภาษาก็สำคัญในการใช้สื่อสาร เช่น ในลีกจะมีที่ต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเพราะบางทีมก็จะมีการคละกันระหว่างไทยกับต่างชาติ หากสื่อสารไม่เข้าใจก็จะทำให้ฟอร์มของทีมตกลง” ผู้เล่นโคราซอนเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ปิดท้ายด้วย ปรีชาหรือผู้เล่นโรมีโอ ที่เล่าถึงประสบการณ์ร่วมแข่งลีกนานาชาติที่สหรัฐอเมริกา ว่า รูปแบบการเล่นของทีมอี-สปอร์ตไทยกับต่างชาติ มีความแตกต่างกัน โดยต่างประเทศจะเน้นเกมบุกมากกว่า เพื่อรีบจบเกมให้เร็วที่สุด ช่วงต้นเกมคือจัดหนักมาก ขณะที่ทีมไทยจะเน้นตั้งรับ และยืดเกมมากกว่า

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ไม่ใช่ “เล่นๆ” แต่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและวินัยในการฝึกซ้อม

แชมป์ – กฤตย์
โคราซอน (ซ้าย) – โรมีโอ (ขวา)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image