ผนึกกำลังช่วย “เด็กข้ามชาติ”

ภาพจาก UNICEF Thailand2014

ผนึกกำลังช่วย “เด็กข้ามชาติ”

แม้ว่าจะเป็น “เด็ก” เหมือนกัน แต่เด็กไทยและเด็กข้ามชาติกลับไม่เหมือนกัน เพราะแม้จะมีกฎหมายต่างๆ เพื่อคุ้มครองเด็กทั่วโลก แต่กับเด็กผู้อพยพเหล่านี้ กลับได้รับโอกาสที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา หรือการรักษาพยาบาล

สหภาพยุโรป (อียู) องค์การยูนิเซฟ และรัฐบาลไทย เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ประกาศความเป็นพันธมิตรเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย

โดยอียูได้สนับสนุนงบประมาณ 2.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 82 ล้านบาท ในการสร้างความเข้มแข็งให้นโยบายและการปฏิบัติการสำหรับเด็กข้ามชาติ โดยได้จัดงานแถลงข่าว ณ ห้องร่วมฤดีบอลรูม โรงแรมโนโวเทล เพลินจิต

นายเปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เผยว่า ประเด็นเรื่องเด็กผู้อพยพถือเป็นเรื่องสำคัญทั่วโลก ซึ่งเด็กเหล่านี้ต้องถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสงคราม ในภูมิภาคนี้มีเด็กผู้ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นฐานถึง 15 ล้านคน จากทั่วโลก 28 ล้านคน

Advertisement

ในบรรดาผู้อพยพนั้น ครึ่งหนึ่ง เป็นเด็ก และ 1 ใน 3 คน ไม่ได้อยู่ในประเทศของตนเอง เด็กนั้นมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น ทั้งการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และการค้าบริการทางเพศ รวมทั้งเข้าไม่ถึงการแพทย์และการศึกษา โครงการนี้ สหภาพยุโรปได้ทำงานร่วมกับอีก 8 ประเทศ อาทิ เมียนมา มาเลเซีย บังกลาเทศ คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

เปียร์ก้า ตาปิโอลา
เปียร์ก้า ตาปิโอลา
โธมัส ดาวิน
โธมัส ดาวิน

ขณะที่ อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ เผยว่า ปัจจุบันมีเด็กผู้อพยพในไทยประมาณ 3-4 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 160,000 คน ที่ได้ลงทะเบียนกับรัฐ แต่อีกแสนไม่มีสถานะเลย แม้เด็กเหล่านี้มีโอกาสได้เรียนในไทย แต่กับเรื่องสุขภาพต้องซื้อประกันสุขภาพรายปี ไม่เหมือนกับเด็กไทย บาง รพ.ก็ไม่ขายให้ หากป่วยโรคร้ายแรงก็ควบคุมได้ยากและอาจเสียชีวิต ยังไม่รวมปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากการไม่มีสถานะของบุคคลเหล่านี้

Advertisement

ปิดท้ายด้วย สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาไทยจะมีกฎหมายที่ก้าวหน้า รวมทั้งมีมาตรการที่ดี อย่างการคัดแยกเด็กผู้อพยพมาอยู่ในศูนย์ ไม่ต้องอยู่ในห้องกัก แต่ยังขาดกลไกที่ชัดเจน ซึ่งต้องแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้น คือเด็กต้องมีตัวตนทางกฎหมาย ในปีนี้ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน จึงอาจใช้โอกาสนี้ในการประกาศความร่วมมือกับนานาชาติแก้ปัญหาตรงนี้

เด็กทุกสัญชาติมีสิทธิที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image