เรื่องนี้ต้องเปลี่ยน เสียง ‘นักปกป้องสิทธิ’ สตรี อยากเห็น ‘รัฐบาลใหม่’ แก้อะไร

เรื่องนี้ต้องเปลี่ยน เสียง ‘นักปกป้องสิทธิ’ สตรี อยากเห็น ‘รัฐบาลใหม่’ แก้อะไร

นักปกป้องสิทธิ – ในยุคปัจจุบัน ผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นมามีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน การเมือง รวมทั้งมีส่วนในการต่อต้านการทุจริต มากขึ้น

โดยมีตัวเลขของนักสิทธิสตรีมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ

แต่ผู้หญิงเหล่านี้ กลับเป็นเป้าหมายการโจมตี ทั้งการคุกคามทางเพศ การฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อให้ผู้หญิงโดดเดี่ยวและขาดกำลังใจในการทำงาน รวมไปถึงการกีดกัน ไม่ยอมรับทางสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงชาวไทยก็เช่นกัน พวกเธอต้องเผชิญกับความท้าทาย ที่บั่นทอนในการต่อสู้ แต่ก็ไม่เคยย่อท้อและยอมแพ้

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้จัดงาน วันสตรีสากล 8 มีนาคม ประจำปี 2562 ประกาศเกียรติยศผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 6 รางวัล ประกอบด้วย เครือข่ายผู้หญิงรักษ์น้ำอูน เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย เครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผู้หญิง นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และนางพะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553

Advertisement

โดยมีเหล่าคณะทูตประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมงานครั้งนี้ด้วย

การประกาศเชิดชูเกียรติผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

และในโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อจะได้เลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม เหล่าผู้หญิงที่ได้รับการเชิดชูเกียรติจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าพวกเธอเหล่านี้ ต้องการอะไรจากรัฐบาลชุดใหม่ โดยประสานเสียงกันว่า อยากเห็นรัฐบาลใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตย ไปเป็นปากเสียงให้ประชาชนในสภาจริงๆ

Advertisement

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยการหยุดงาน 2 ชั่วโมง หลังนายจ้างเลื่อนจ่ายค่าจ้างหลายครั้ง แม้ว่านายจ้างจะจ่ายค่าแรง แต่เธอถูกเลิกจ้าง แต่ก็ยังสู้ เรียกร้องให้กับเหล่าคนงาน จนต้องถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐและโรงงาน ทั้งยังถูกฟ้องร้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเธอโพสต์เฟซบุ๊กว่า คนงานได้ค่าตอบแทนน้อยกว่ากฎหมาย เรื่องที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง จึงไม่พ้นเรื่องกฎหมาย

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล

“ทำงานตรงนี้ หลายครั้งเราถูกคนรวยใช้กระบวนการยุติธรรมทำร้ายคนจน เราจึงอยากให้รัฐบาลใหม่ ยกเลิก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เป็นเครื่องมือคนรวยจำกัดสิทธิเรา ยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุม เพราะนี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ไม่ควรห้าม หรือจับกุม และอยากให้รัฐบาลใหม่มีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐให้เป็นทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่รังแกคนจน

ขณะที่ตัวแทนจากเครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงในมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้อย่าง “รอซิดะห์ ปูซู” ที่ลุกขึ้นมาให้ความรู้ และผลักดันผู้หญิงให้มีศักยภาพทัดเทียมผู้ชาย แม้จะเป็นเรื่องยากและต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่มาก แต่ก็ไม่เคยท้อถอย เผยว่า

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราทำงานโดยคิดว่านี่คือบ้านเรา หากเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เรารู้ว่าพึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตลอด เขามาแล้วก็ไป สิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลใหม่ช่วยสนับสนุนคือ อยากให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ปลอดภัยจริงๆ มีประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจลงมาถึง อยากให้มีกองทุนเพื่อผู้หญิงโดยผู้หญิง เพราะแม้ทุกวันนี้จะมีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แต่กลับจำกัดอยู่แค่เจ้าหน้าที่รัฐ ประธานจึงควรเปลี่ยนมาเป็นผู้หญิงจริงๆ รวมไปถึงปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัย”

เครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นรับการเชิดชูเกียรติ

รัศมี ทอศิริชูชัย จากเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ที่ต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงม้งที่หย่าร้างกลับสู่ครอบครัวเก่าได้ และเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าผู้ชาย เผยว่า แม้ว่าไทยจะมีกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่อยากให้รัฐบาลเข้าไปบังคับใช้กฎหมายผ่านเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ทั้ง LGBT หรือหญิงและชาย ไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมทางเพศ

รัศมี ทอศิริชูชัย

ปิดท้ายด้วย ดาราราย รักษาสิริพงษ์ ตัวแทนมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า อยากเห็นประเทศไทยมีกระบวนการประชาธิปไตย ที่ผู้หญิงเข้าไปมีสิทธิมีเสียงในสภา และอยากให้ผลักดันประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงทบทวน พ.ร.บ.คุ้มครองสถาบันครอบครัว ที่มีความคิดจะนำมาใช้แทน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ซึ่งมุ่งไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างสามีภรรยามากกว่า เป็นทางออกจริงๆ อาจส่งปัญหาต่ออนาคตได้

ดาราราย รักษาสิริพงษ์ ตัวแทนมูลนิธิผู้หญิงรับการเชิดชูเกียรติ

เรื่องร้อนของเหล่านักปกป้องสิทธิสตรี


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image