คอลัมน์ ฟรีสไตล์เรื่องบ้าน-บ้าน : กฎหมายทรัพย์สิน 2563

12 มีนาคม 2562 คลอดเป็นทางการ กฎหมายทรัพย์สินหรือ Property Tax

เรากำลังพูดถึง “พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย โดยมีกำหนดเริ่มบังคับใช้จริง วันที่ 1 มกราคม 2563

เป็นกฎหมายใหม่อีกตัว เล่าแล้วเล่าอีก ชวนคุยทีไรก็ขนหัวลุกทุกครั้ง

สรุปสาระสำคัญ เก็บเฉพาะคนที่ถือครองทรัพย์สิน ถ้าไม่อยากจ่ายชาตินี้ก็ไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน จบนะ

Advertisement

อัตราจัดเก็บมี 4 ประเภท แบ่งออกมา 2 ประเภทแรกที่รัฐยังต้องอุดหนุนดูแล กลุ่มที่ 1 “ที่ดินเกษตรกรรม” เพราะเมืองไทย 70% คนทำอาชีพเกษตรกร ค่าภาษีถูกที่สุด เกษตรกรถ้ามีที่ทำเกษตรราคาไม่ถึง 50 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี

เขาสำรวจมาแล้ว ที่ดินเกษตรกรรมมี 6 ล้าน 8 แสนแปลง มีเข้าข่ายต้องเสียภาษี (เพราะยกเว้นเยอะแยะตาแป๊ะไก๋เต็มไปหมด) แค่ 800 แปลง ประเมินว่าน่าจะเก็บภาษีได้ 0.8 ล้านบาท อ่านว่า 8 แสนบาท อันนี้ฟังแล้วอย่าเพิ่งขำจนตกเก้าอี้นะคะ

กลุ่มที่ 2 “ที่อยู่อาศัย” หมายถึงบ้าน-คอนโดมิเนียมนั่นเอง ถ้ามีหลังเดียว ราคาไม่เกิน 50 ล้าน ชาตินี้รัฐยกเว้นให้ฟรีตลอดชีพ แต่ถ้ามี 2 หลังขึ้นไป รัฐบาลเริ่มเก็บหลังที่ 2 ที่น่ารักคือบ้านหลังไหนแพงให้มาจดทะเบียนขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้ 1 หลัง

Advertisement

ไม่รู้ว่าเป็นข่าวดีหรือเปล่า ที่อยู่อาศัย 24 ล้านหลังทั่วไทย ได้รับยกเว้น 22.39 ล้านหลัง มีกลุ่มที่เขาสำรวจเจอว่าต้องจ่ายภาษีแค่ 1.6 ล้านหลัง

อีก 2 ประเภทรัฐตั้งใจโขกภาษี เอ๊ย ไม่ใช่ ตั้งใจว่าจะจัดระเบียบให้การจ่ายภาษีเข้ารัฐได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 3 “พาณิชยกรรม” ภาษาเป็นทางการมาก ให้นึกไปถึงห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ

รีสอร์ต โคเวิร์กกิ้งสเปซ โฮสเทล โกดังสินค้า ฯลฯ โดนหมด

ค่าภาษีเริ่มต้นล้านละ 3 พันบาท จนถึงล้านละ 1.2 หมื่นบาท คำนวณจากราคาทรัพย์สิน เช่น ออฟฟิศราคาประเมินตึกละ 3,000 ล้าน ก็คูณเข้าไปสิ จ่ายต่อปีอีกต่างหาก

กลุ่มที่ 4 “ที่ดินเปล่า” ภาษากฎหมายนี้เขาเรียกว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันนี้แสบสุด ตั้งเพดาน 3% แต่อัตราจัดเก็บเริ่มต้นที่ 0.3% พูดอีกทีก็คือเพดานภาษีเก็บล้านละ 3 หมื่น แต่กลัวเศรษฐีตกใจก็เลยเริ่มเก็บจริงล้านละ 3 พันบาท

ที่ดินเปล่ายิ่งสูงยิ่งหนาว หมายถึงยิ่งราคาแพงยิ่งจ่ายเยอะ เพราะเก็บเป็นอัตราขั้นบันได ประมาณว่าตึกหลังเล็กถือเป็น SME หรือบริษัทจิ๊บๆ จ้อยๆ เก็บถูกหน่อย แต่ถ้าเป็นตึกเจ้าสัวตระกูลดังทั้งหลาย ก็เล่นกันเต็มแม็กไปเลย

โห้ แค่เล่าเรื่องเดิมก็เกือบจะหมดเวลาแล้วนะเนี่ย เรื่องใหม่คืออะไรบ้างล่ะ

ภาษีตัวนี้เหมือนโรคระบาด เก็บได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ทรัพย์สินตั้งแหมะอยู่ตรงไหน รัฐบาลก็ตามไปเก็บตรงนั้น หน่วยงานจัดเก็บคือ “อปท.-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จะใครซะอีกล่ะ ก็เทศบาล อบต. อบจ. เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร

ล่าสุดของล่าสุด เจ้าพ่อ อปท. เรากำลังพูดถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ออกมาแบไต๋ให้ฟังแล้วว่า กำหนดบังคับจัดเก็บจริง 1 มกราคม 2563 หน่วยงานมีความพร้อมสุดขีด

มีเครือข่าย 7,852 แห่ง ตัวเลขเป๊ะเว่อร์ ต้องมีพนักงานอย่างน้อย 2 คนรู้เรื่องเป็นอย่างดี ประมาณว่าคนหนึ่งถือเตารีด อีกคนหนึ่งถือที่ถอนขนห่าน เอ๊ะ ไม่ช่าย…(ฮา)

วิธีทำงานของ อปท.ทำอยู่ 3 อย่าง 1.จับเข่าคุยกับกรมที่ดิน เอามาซะดีๆ ระวางที่ดิน แปลงโฉนด แผนที่ แม้ว่าไม่ยอมไปเสียภาษีรัฐบาลก็จะตามมาเคาะประตูถึงบ้าน 2.จับเข่าคุยกับกรมธนารักษ์ อัพเดตราคาประเมินที่แพงที่สุด หรืออีกนัยหนึ่ง ราคาประเมินที่ทันสมัยที่สุด

3.ให้ทีมงาน อปท.ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งปลอบประโลมไปด้วยว่าไม่ต้องตกใจ ถ้าเห็นว่าแพงเกินไปสามารถอุทธรณ์ได้

ตัดกลับมาดูเศรษฐีกันดีกว่า เมืองไทยอุดมสมบูรณ์ ที่ดินเปล่ามีเยอะแยะไปหมด เศรษฐีเขาอยู่กันยังไงเหรอ

คำถามนี้ “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2562 เฉลยคำตอบเรียบร้อยแล้ว ฟังแล้วอย่าเสียสติไปซะก่อน เศรษฐีแห่ตั้งบริษัททำนา เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีทรัพย์สินค่ะ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ที่ดินแปลงใหญ่มากๆ จะมีบริษัทกฎหมาย-บริษัทบัญชีตามมารับจ้างบริหารจัดการให้ วิธีการก็เล่นไม่ยาก ตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคลขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เช่าที่ดินเพื่อทำการค้า หรือเพื่อทำเกษตร ทำนา ทำไร่

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ให้ย้อนกลับไปดูข้อมูลด้านบน ที่บอกว่ารัฐบาลสำรวจที่ดินเกษตรกรรม มี 6.8 ล้านแปลง แต่มีเข้าข่ายเสียภาษีแค่ 800 แปลง (ฮา)

มีข้อมูลจากบริษัทนักกฎหมาย เล่าสู่กันฟังว่า ที่ดินเปล่ามูลค่า 75 ล้านบาท ถ้าเอามาทำนาเสียภาษีแค่ 7.5 พันบาท แต่ถ้ายังเป็นที่ดินเปล่าภาษีปาเข้าไป 2.25 แสนบาท ต่างกัน 30 เท่า

ในด้านรายได้จัดเก็บ รัฐบาลหวังผลเลิศไว้อย่างนี้ค่ะ ที่ดินเปล่าเดาว่าเก็บได้ 8 แสนบาท, ที่อยู่อาศัย 1.6 ล้านหลัง 2.27 พันล้านบาท, ที่ดินการค้ากับที่ดินเปล่า ไม่ยอมให้ตัวเลขชัดๆ แต่เขียนกลมๆ มาว่าสองหมวดนี้รวมกันน่าจะเก็บได้ 3.7 หมื่นล้านบาท

รวม 4 ประเภท รัฐบาลฝันหวานมีรายได้เข้าท้องถิ่นปีละ 3.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเปรียบเทียบแบบเดิมที่เก็บภาษีโรงเรือนกับภาษีบำรุงท้องที่ มีรายได้ปีละ 3.29 หมื่นล้านบาท ถือว่ามีรายได้เพิ่มแค่ 6.8 พันล้าน เยอะหรือเปล่าไม่รู้ เนาะ

รู้แต่ว่า วันนี้เศรษฐีที่ดินเปล่าไหวตัวแล้ว เราๆ ทั่นๆ เจ้าของบ้าน-คอนโดฯเตรียมรับมือหรือยังเอ่ย !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image