เครื่องแรก…ของโลก สมาร์ทโฟน’โฮโลกราฟิก’

(ภาพ-Human Media Lab/Queen"s University)

ทีมนักวิจัยแคนาดา นำโดย โรเอล เวอร์เทกาล จากห้องปฏิบัติการฮิวแมน มีเดีย ในสังกัดควีนส์ ยูนิเวอร์ซิตี ประเทศแคนาดา เผยแพร่ความสำเร็จในการคิดค้นสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของโลก ที่สามารถแสดงผลเป็นภาพ 3 มิติแบบลอยตัว หรือ 3ดี โฮโลกราฟิก ได้สำเร็จ นอกจากนั้น ยังสามารถโค้งงอจอภาพได้และใช้การโค้งงอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมการทำงานของโทรศัพท์

สมาร์ทโฟนตัวใหม่ที่ถูกตั้งชื่อว่า “โฮโลเฟล็กซ์” สามารถให้ภาพสามมิติแบบลอยตัวได้โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องสวมแว่น 3 มิติแบบที่ใช้ตามโรงภาพยนตร์หรืออื่นใดเพื่อช่วยในการสร้างภาพสามมิติ แต่ใช้หน้าจอแอลอีดีพิเศษที่มีความคมชัดระดับฟุลเอชดี เรโซลูชั่น 1920×1080 ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป ความพิเศษของมันอยู่ตรงที่มันสามารถยืดหยุ่นดัดโค้งงอได้เท่านั้น

หลักการทำงานของ “โฮโลเฟล็กซ์” ก็คือการแบ่งภาพที่แสดงผ่านจอออกเป็นพิกเซลบล็อกทรงกลมขนาด 12 พิกเซลเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ด้านบนของจอชั้นในจะเป็นชุดไมโครเลนส์ อาร์เรย์ บางเฉียบที่ “พิมพ์” ออกมาโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แผ่นไมโครเลนส์ดังกล่าวนี้จะประกอบด้วยเลนส์ฟิชอายจำนวนมากถึง 16,000 เลนส์ เมื่อพิกเซลบล็อกเหล่านี้ถูกมองผ่านชั้นไมโครเลนส์ จะทำให้ภาพที่ได้มองเหมือนเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามมุมมองของผู้มอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเพียงภาพสองมิติปกติเท่านั้น

ปัญหาเพียงอย่างเดียวของเทคนิคการทำงานแบบนี้ก็คือภาพที่ได้จะหยาบกว่าปกติมาก ถ้าหากภาพต้นฉบับมีความละเอียดในระดับฟุลเอชดี เมื่อผ่านกระบวนการแสดงภาพทั้งหมดข้างต้นแล้ว สิ่งที่หลงเหลือออกมาจะเป็นเพียงแค่ภาพที่มีความละเอียดเพียง 160×104 เรโซลูชั่นเท่านั้นเอง กระนั้นก็สามารถสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นได้จากการสร้างภาพสามมิติที่ทุกคนมองได้พร้อมๆ กันหลายๆ คน และทางทีมวิจัยระบุว่า เทคโนโลยีใหม่นี้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้งานอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนของเราต่อไปในอนาคต

Advertisement

เวอร์เทกาลระบุว่า โฮโลเฟล็กซ์ไม่ได้มีจอไว้โค้งงอเล่นเฉยๆ แต่การงอและยืดหน้าจอถูกนำมาใช้เป็นวิธีการในการควบคุมอุปกรณ์ในรูปแบบใหม่ ซึ่งทีมวิจัยเรียกว่า “แซด-อินพุท” ซึ่งเป็นการควบคุมเพิ่มเติมจากแกนเอ็กซ์ และแกนวาย (แนวตั้งและแนวนอน) ที่เราใช้ในการควบคุมผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนอยู่ในขณะนี้ นั่นคือเพิ่มการควบคุมใน “แนวลึก” เข้าไปด้วย โดยการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับทั้งตัวผู้ใช้และสภาวะแวดล้อมโดยรอบ ตัวอย่างเช่นเมื่อติดตั้งกล้องที่สามารถตรวจจับความลึกได้ ก็ช่วยให้โฮโลเฟล็กซ์สามารถสร้างภาพโฮโลกราฟิกของการประชุมทางโทรศัพท์ หรือเทเลคอนเฟอเรนซ์ ได้นั่นเอง

“โฮโลเฟล็กซ์” ยังคงเป็นเพียงต้นแบบอยู่ในเวลานี้ ทีมวิจัยเชื่อว่ายังสามารถพัฒนาขีดความสามารถของมันให้สูงขึ้นได้ในอนาคตก่อนที่จะกลายเป็นการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการทำงานเต็มรูปแบบของ “โฮโลเฟล็กซ์” ได้จากคลิปวิดีโอ
https://www.youtube.com/watch?v=UDOkwJTPgCc

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image