เสียงจาก ‘เฟิร์สต์ ไทม์ โหวตเตอร์’ ในวันเลือกตั้ง เลือกเปลี่ยนประเทศสู่ประชาธิปไตย

เสียงจาก ‘เฟิร์สต์ ไทม์ โหวตเตอร์’ ในวันเลือกตั้ง เลือกเปลี่ยนประเทศสู่ประชาธิปไตย

เฟิร์สต์ ไทม์ โหวตเตอร์ – “เลือกตั้ง 62” นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประชาชนจะได้แสดงออก และสร้างความเปลี่ยนแปลง จากปลายปากกาของเรา

เป็นเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก นับแต่ปี 2557 ที่การเลือกตั้งครั้งนั้น ผลออกมาว่าเป็นโมฆะ ซึ่งหากนับย้อนกลับไปไทยห่างหายจากการเลือกตั้งถึง 8 ปี มาแล้ว

ตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” คือผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง เราจะมีกลุ่มผู้ที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก หรือ “เฟิร์สต์ ไทม์ โหวตเตอร์” (first time voter) หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 อยู่มากกว่า 7 ล้านคน เลยทีเดียว เปรียบได้กับเสียง ส.ส.หลายที่นั่ง

เสียงของคนกลุ่มนี้ จึงสำคัญไม่แพ้ใคร

Advertisement

น่าสนใจอย่างยิ่งว่าคนกลุ่มนี้ คือผู้ที่ “โซเชียลมีเดีย” มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอยู่มากทีเดียว

แล้วคนกลุ่มนี้ มองการเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขา ไว้ว่าอย่างไร

นายนพวิชญ์ ทองบาง

นายนพวิชญ์ ทองบาง วัย 23 ปี ชาวชุมพร ที่เพิ่งใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ชั้นปี 4 สาขาวิชามีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเป็นการใช้สิทธิครั้งแรกด้วย ก็รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมให้ประเทศชาติเดินหน้า

Advertisement

“แม้ว่าที่ผ่านมาอาจจะเคยโน้มเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ครั้งนี้ขอตัดสินใจด้วยตัวเอง ใช้แนวคิดตัวเอง โดยหาข้อมูลจากทั้งนโยบายพรรค วิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก่อนใช้เหตุผลว่าอยากเห็นอะไรใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สำคัญคืออยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อยากเลือกอนาคตที่นักศึกษาจบใหม่มีงานทำ” นพวิชญ์เผย

นางสาวรัตนเกษ หารสาร

มาที่ เฟิร์สต์ ไทม์ โหวตเตอร์ สาวคนนี้ แดนนี่-นางสาวรัตนเกษ หารสาร วัย 21 ปี นิสิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เราไม่แค่ตื่นตัวจากตัวเอง ว่าจะได้เลือกครั้งแรก แต่ยังออกไปเดินรณรงค์กับรุ่นพี่ ให้ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 24 มี.ค.ด้วย เราเองเป็นคนต่างจังหวัด ก็ต้องศึกษานโยบายจากคนที่บ้าน และโซเชียลมีเดียด้วย หากถามว่าอยากเห็นอะไร ก็อยากเห็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เศรษฐกิจความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับคนรากหญ้า ซึ่งเรามีปัญหาที่คนชนชั้นกลางอาจไม่รู้ รวมทั้งอยากเห็นภาพลักษณ์ของประเทศ ดีขึ้นในสายตาโลก

“หลายคนมองว่าคนรุ่นใหม่เลือกด้วยความรู้สึก แต่จริงๆ มันไม่ใช่เลย เราศึกษารัฐธรรมนูญ อ่านเรื่องโครงสร้างต่างๆ ของรัฐมา เรารู้ว่าเราต้องเลือกด้วยอะไร ถึงจะเห็นประเทศดีขึ้น ก่อนหน้านี้ เมื่อตอนลงประชามติ ไม่คิดว่าสำคัญนัก และติดเรียน แต่ครั้งนี้เป็นหน้าที่ ที่ต้องมา แม้ใครจะบอกว่าเลือกไปอย่างไรก็ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าหากความคิดเหมือนๆ กันรวมกัน เราก็จะเปลี่ยนประเทศได้ เราอยากเห็นผู้นำ เป็นไปตามระบบ ตรวจสอบได้” รัตนเกษเผย

นางสาวชนกนันท์ หาญฐาปนาวงศ์

ขณะที่ นางสาวชนกนันท์ หาญฐาปนาวงศ์ ชั้นปี 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มจธ. ที่จรดปากกา กาพรรคที่ใช่ เผยว่า ก่อนจะมาเลือกตั้งครั้งนี้ ติดตามข้อมูลในโซเชียลมีเดียเยอะมาก ทั้งทวิตเตอร์ ดูแฮชแท็กต่างๆ รวมไปถึงนำนโยบายพรรค และประวัติ ผลงานของแคนดิเดตนายกฯ มาปรึกษา พูดคุยกัน ความเห็นของเพื่อนๆ นับได้ว่ามีผลต่อการตัดสินใจอยู่เหมือนกัน เพราะทุกคนในรุ่น ก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่อยากเป็นเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับเรื่องปัญหาจราจร ที่อยากให้แก้ปัญหาโดยเร่งด่วน เพราะปัญหาเล็กๆ นี้ จะช่วยพัฒนาประเทศในภาพกว้างได้

นายวชิรวิทย์ โรจน์ศุภากร

หนึ่งเสียงนี้มองว่า ไม่ว่าจะวัยใด ก็เป็น 1 เสียงเท่ากัน อย่างหนุ่มโคราช นายวชิรวิทย์ โรจน์ศุภากร วัย 22 ปี เผยว่า แม้จะเลือกครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นมากนัก แต่ต้องหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทั้งเรื่องนโยบาย การดีเบตเวทีต่างๆ พูดคุยกับเพื่อนว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร รวมไปถึงข้อมูลเรื่องวิธีการเลือกตั้งด้วย

“การเลือกตั้งครั้งนี้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ได้เลือกตามที่บ้าน เรื่องนี้เราไม่พูดคุยกัน ไม่ว่าใครก็มี 1 คน 1 สิทธิเหมือนกัน คนรุ่นใหม่ก็มีสิทธิที่จะเลือกคนที่เหมาะเข้าไปบริหารประเทศเหมือนคนอื่น” หนุ่มโคราชกล่าว

นางสาวจุฑามาศ คงทน

ปิดท้าย นางสาวจุฑามาศ คงทน วัย 18 ปี ชั้น ม.6 โรงเรียนวัดพุทธบูชา ที่อายุถึงปุ๊บ ก็ได้เลือกตั้งปั๊บ อย่างไม่ต้องรอนาน รีบออกจากห้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย มาเลือกตั้งครั้งแรกพร้อมครอบครัว เผยว่า ด้วยความที่เลือกครั้งแรก จึงกลัวไปหมด กังวลว่าชื่อถูกไหม กาถูกหรือไม่ ดูหลายๆ รอบ และเลือกตามความคิดตัวเอง หาข้อมูลทั้งในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และคลิปย้อนหลังในยูทูบ เลือกเพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เสียที

“อยากเห็นคนในสังคมเท่าเทียม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ หากเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลใหม่ สนใจเรื่องประเด็นการศึกษา รวมไปถึงการสอบเข้า เพื่อให้รุ่นหลังๆ ไม่วุ่นวายและเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาเหมือนๆ กัน” จุฑามาศทิ้งท้าย

1 คน 1 เสียง เท่าเทียมกัน


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image