ศิลป์เชิงช่าง ‘แกะสลักงานไม้’ สานสัมพันธ์ ไทย-ลาว บ้านพี่เมืองน้อง

ศิลป์เชิงช่าง ‘แกะสลักงานไม้’ สานสัมพันธ์ ไทย-ลาว บ้านพี่เมืองน้อง

“ไม่ว่าจะเก่งหรือมีฝีมือแค่ไหน ก็ต้องการการพัฒนา”

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวในการให้กำลังใจและส่งเสริมความก้าวหน้าในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประเภทงานไม้ ภายใต้ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมร่วม (Cross Culture Crafts 2019) ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

ซึ่งก่อนที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องรณรงค์ให้ “สืบทอด” และ “รักษา” งาน หัตถศิลป์ของไทย ให้ยังคงอยู่เสียก่อน เพราะในปัจจุบัน หลายๆ ทักษะเชิงช่างศิลป์ และช่างฝีมือของไทย กำลังจะเลือนหายไป ด้วยไม่มีทายาทสืบทอด และในขณะเดียวกัน “ครูช่างศิลป์” ก็เหลือน้อยรายเต็มที

การดำรงอยู่ของ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ” จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อการนี้

Advertisement
นางอัมพวัน พิชาลัย (ซ้าย) ดร.ไมสิง จันบุดดี (ขวา)
บรรยากาศในโครงการแลกเปลี่ยน ช่างไม้ไทย – ลาว

นางอัมพวันกล่าวว่า หากนึกถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็จะนึกถึง “อาเซียน” เป็นอันดับแรก เพราะมีความใกล้ชิดกันทั้งในเรื่องวัฒนธรรม ตลอดจนองค์ความรู้ในด้านงานหัตถกรรม การจะรื้อฟื้นและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ก็ต้องเริ่มจากบ้านใกล้เรือนเคียง

“ในแต่ละปี เราจะเลือกประเภทงานศิลปหัตถกรรมที่จะไปแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับต่างประเทศ จากงานที่ใกล้สูญหายมากที่สุด หมายถึง งานที่มาถึงทางตัน หาทางพัฒนาต่อไปได้ยาก ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 4 เลือกงานไม้ ด้วยมองว่างานไม้น่าจะพัฒนาต่อยอดเป็นของใช้ในบ้าน หรือเครื่องประดับได้ แต่ต้องแฝงงานศิลปหัตถกรรมเข้าไปด้วย และการจะต่อยอดองค์ความรู้ในงานไม้ให้มากขึ้นก็ต้องร่วมมือกับประเทศลาว ซึ่งโดดเด่นเรื่องการแกะสลักไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้พะยูง ไม้เนื้อหอม ไม้ชิงชัง ซึ่งในไทยจะนิยมแกะไม้เนื้ออ่อนเป็นส่วนใหญ่ ความร่วมมือครั้งนี้เป็นประโยชน์มากขึ้น เมื่อเกิดคอนเน็กชั่นระหว่างครูศิลป์ด้วยกัน เป็นการเชื่อมโยงที่ลึกลงไปกว่าแค่องค์ความรู้ และตั้งใจว่าจะบันทึกองค์ความรู้เหล่านี้ไว้ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ต่อไปได้” ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศกล่าว

เครื่องมือช่างไม้ไทย

Advertisement

ด้าน ดร.ไมสิง จันบุดดี ผู้อำนวยการ สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวเป็นประเทศที่มีแหล่งไม้อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็ง อาทิ ไม้ประดู่ ไม้พะยูง ฯลฯ และมีวิวัฒนาการด้านงานไม้มายาวนาน แต่เมื่อก่อนลาวขายไม้ส่งออกแบบไม่แปรรูปเป็นจำนวนมากจนป่าไม้ลดลง ปัจจุบันภาครัฐจึงอนุญาตให้ส่งออกเฉพาะไม้แปรรูปเท่านั้น แต่ยังมีอุปสรรคหลายอย่าง อาทิ เรื่องการขนส่ง เนื่องจากลาวเป็นประเทศที่ไม่ติดทะเล การขนส่งสินค้าชิ้นใหญ่จึงทำได้ยาก จึงต้องพยายามพัฒนาสินค้าและลดขนาดสินค้าให้มีขนาดเล็กลง อาทิ ตะเกียบ ทัพพี ฯลฯ เพื่อเป็นสินค้าส่งออกในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าเมื่อทางรถไฟลาว-จีนแล้วเสร็จ ผลงานแกะสลักไม้ของลาวจะเผยแพร่ออกไปสู่ประเทศอื่นๆ มากขึ้นอย่างแน่นอน

“เหล่าศิลปินมองว่าไม้เป็นชีวิตประจำวันของคน ไม่ว่าจะทำเฟอร์นิเจอร์หรือของประดับตกแต่ง ลวดลายที่แกะสลักไม้ของลาวจึงเกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรม และวัฒนธรรมดั้งเดิม งานแกะสลักไม้จึงเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของประเทศ ที่จริงแล้วการแกะไม้ของลาวและไทยมีความคล้ายคลึงกันในด้านเทคนิคการแกะ แต่ไทยมีเทคนิคเฉพาะตัว และมีศักยภาพสูงที่สามารถแกะงานได้ละเอียดและสวยงามกว่าลาว การร่วมมือครั้งนี้ช่างลาวจึงมีโอกาสได้เห็นผลงานของช่างไทย เป็นการได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคเพื่อให้ลาวได้พัฒนาตัวเองขึ้น” ผอ.สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว กล่าว

ด้าน นายสีทอง สีเวินไซ อาจารย์สาขางานหัตถกรรมไม้ สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ สปป.ลาว กล่าวว่า เอกลักษณ์งานแกะสลักไม้ในลาวคือจะนิยมสลักลายผักกูด หรือลายดอกกระดังงา ขณะที่ไทยจะนิยมลายเปลวไฟ

“นักศึกษาในลาวที่เรียนแขนงการงานไม้มักจะจบออกไปประกอบอาชีพในวงการเฟอร์นิเจอร์ และทำธุรกิจส่วนตัวรับทำผลงานแกะสลัก ซึ่งลูกค้านิยมสั่งแกะสลักในรูปพระพุทธรูป รูปวัตถุโบราณ เช่น วัดพระแก้ว วัดธาตุหลวง นอกจากนี้คนลาวก็ชอบใช้ของที่ทำจากไม้ในการประดับบ้านด้วย” ครูนักแกะสลักของลาวกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ขณะที่ นายยรรยงค์ คำยวง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2562 ประเภทเครื่องไม้ (แกะสลักไม้) ของไทย กล่าวว่า ตนไม่ได้เอาสิ่งของหรือผลงานมาแลกเปลี่ยน แต่นำเทคนิค แรงบันดาลใจ และประสบการณ์มาแบ่งปันกัน เช่น แนวทางการแกะสลักไม้ของไทยจะนิยมแกะสลักแบบผลงานลอยตัว แต่ทางลาวจะนิยมแกะสลักพระพุทธรูป วรรณคดี ลงบนไม้เนื้อแข็งให้สอดคล้องกับลักษณะของแผ่นไม้ ขณะเดียวกันในไทยตอนนี้ก็เริ่มจะหาคนทำงานไม้น้อยลงแล้ว เพราะผลงานแกะสลักเป็นสินค้าที่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน ลูกค้าที่มาอุดหนุนส่วนมากจะเป็นคนมีฐานะ จึงเป็นงานที่ไม่มีค่าแรงรายวัน คนรุ่นใหม่ๆ จึงหาลู่ทางประกอบอาชีพด้านอื่นๆ แทน แต่ส่วนตัว

“ผมมองว่าคุณค่าของงานแกะสลักไม้อยู่ที่ความใส่ใจ ต้องใช้ฝีมือและใช้เวลาในการรังสรรค์ งานแกะสลักไม้จึงอยู่ได้นาน”

นายสีทอง สีเวินไซ (ซ้าย) นายยรรยงค์ คำยวง (ขวา)
ผลงานของช่างไม้ไทย (แบบลอยตัว)
ผลงานไม้ของช่างลาว (พระพุทธรูป)

ยิ่งนานยิ่งทรงคุณค่า


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image