ถอดบทเรียน ‘ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ เตรียมไทยพร้อมสู่ สังคมสูงวัย

แม้จะมีเวลาเดี่ยวไมโครโฟนกันเพียงคนละ 10 กว่านาที ในเวทีเสวนาสาธารณะ “สังคมสูงวัยไทย-ญี่ปุ่น : สูงวัยอย่างมีพลังในโลกยุคดิจิทัล” (Digital and Active Ageing in Japan and Thailand) ที่จัดโดย เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุม 201 สสส. ท่ามกลางผู้สูงวัยที่เดินทางมาร่วมรับฟังจนเต็มทุกที่นั่ง

แต่วิทยากรทั้ง 3 คนก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงนโยบาย ปัญหา และข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะต้องประสบเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์อย่างชัดเจน จากทั้ง “ประเทศญี่ปุ่น” ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นผู้นำทางด้านสังคมผู้สูงอายุก่อนใครเพื่อน หรือ “ประเทศเกาหลีใต้” รุ่นน้องที่มีอัตราการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาแรงแซงทางโค้ง และนำเอาโมเดลด้านการดูแลผู้สูงอายุของทางญี่ปุ่นไปปรับใช้

ดร.เคอิจิโระ โออิซูมิ

ดร.เคอิจิโระ โออิซูมิ นักเศรษศาสตร์อาวุโส สถาบันวิจัยประเทศญี่ปุ่น เผยว่า ก่อนหน้านี้อัตราการเกิดในประเทศไทยสูงมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 2.5 แต่ในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.8 เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากอัตรารายได้ ค่านิยมการแต่งงานและมีลูกที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ เพราะทุกคนได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น ไปจนถึงเรียนจบในระดับอุดมศึกษา ลูกจึงต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้การจะมีลูก 1 คน จึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ยิ่งมีลูกมากก็ใช้จ่ายมาก ทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่มีลูก ตลอดจน “ไม่แต่งงาน” และจากผลสำรวจยังพบว่าในประเทศไทยมีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ขึ้นไปและยังไม่แต่งงาน มีจำนวนมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

Advertisement

“เพราะฉะนั้นในอนาคตข้างหน้า อัตราการเกิดคงไม่เพิ่มมากกว่านี้ และมีสิทธิที่สังคมสูงวัยจะแทรกซึมไปในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย” ดร.เคอิจิโระกล่าวถึงภาพรวมกว้างๆ ก่อนจะกล่าวต่อไปอีกว่า

ทุกวันนี้ระบบดิจิทัลมีส่วนทำให้ลักษณะการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป การไม่มีสมาร์ทโฟน หรืออินเตอร์เน็ต อาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึก “เหงา” และ “โดดเดี่ยว” ได้มากกว่า

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนใช้ชีวิตร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างกลมกลืน โดยผลสำรวจของญี่ปุ่นชิ้นหนึ่งระบุว่า ชายญี่ปุ่นร้อยละ 60 ยอมรับการมีแฟนเป็นระบบ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือเอไอ (AI : artificial intelligence)

Advertisement

แล้วสิ่งที่ต้องทำเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์คืออะไร?

“ในการสร้างสังคมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย หลักประกันทางสังคม การมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ และชุมชน แต่โมเดลของญี่ปุ่นไม่ใช่ครูที่ดี เพราะจากระบบบำนาญที่รัฐบาลจะเก็บเบี้ยจากประชาชนชาวญี่ปุ่นและนำมาเป็นสวัสดิการหลังเกษียณ ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับหนี้สาธารณะมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ประมาณ 2.5 เท่า และสถานการณ์เกือบเทียบเคียงประเทศกรีซ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าถึงการได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น ภายใต้กลยุทธ์เปลี่ยนอุปกรณ์ให้กลายเป็นประโยชน์ ผ่านช่องทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ

“ตลอดจนเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่ายังมี Active Aging หรือผู้สูงวัยที่ยังคงแอคทีฟ ยังทำกิจกรรมและเป็นพลังให้สังคมได้ โดยสิ่งสำคัญคือ ต้องมี “สายใยสัมพันธ์” อันเป็นปัจจัยหลักในการสร้างชุมชน และต้องคิดให้เป็นพลังบวก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง”

และแม้ว่าญี่ปุ่นจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าใครเพื่อน แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ตามเข้ามาติดๆ
โดยมี “อัตราเร่ง” ที่สูงมาก อาทิ “เกาหลีใต้” และ “ประเทศไทย”

ผศ.ดร.คิม ซองวอน

ผศ.ดร.คิม ซองวอน นักวิจัยเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุในเกาหลี กล่าวว่า แม้ว่าในละครเกาหลี วงการไอดอล และเค-ป๊อป จะมีภาพลักษณ์ดูดี แต่กระนั้นในสภาพความเป็นจริง ประเทศเกาหลีก็มีด้านที่มืดหม่น นั่นก็คือ “คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ” ที่มีความเป็นอยู่ที่ยากจนอย่างมาก และกำลังเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอย่างมากในเกาหลี

โดย ผศ.ดร.คิมเล่าว่า สืบเนื่องจาก “อัตราเร่ง” สู่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในเอเชียที่นำหน้ายุโรปอย่างรวดเร็ว

โดยเทียบลักษณะประชากรในมาตรฐานเดียวกัน พบว่าอัตราการเข้าสู่สังคมสูงวัยจากร้อยละ 7 ถึงร้อยละ 10 ในประเทศยุโรปใช้เวลานานถึง 40 ปีขึ้นไป โดยฝรั่งเศสใช้เวลากว่า 144 ปี ถึงจะเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ แต่ประเทศไทย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ใช้เวลาเพียง 18 ปีเท่านั้น

เกาหลีใต้จึงเร่งหามาตรการเตรียมรับมือทันที โดยนำเอาโมเดลของญี่ปุ่นมาปรับใช้ แต่ปรากฏว่า “ไม่ได้ผล”

ผศ.ดร.คิม กล่าวว่า ไม่ควรจะนำโมเดลของประเทศที่พัฒนาแล้วมาปรับใช้ เพราะทั้งสองประเทศยังมีความต่างในเรื่องรายได้ที่ค่อนข้างกว้าง กล่าวคือ คนเกาหลีที่มีอายุประมาณ 35-40 ปี จะไม่เป็นที่ต้องการของบริษัท ทำให้ต้องออกมาเปิดธุรกิจส่วนตัวจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงมากเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผู้สูงวัยในเกาหลีจึงคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนัก แถมยังไม่มีเงินจ่ายค่าเบี้ยสวัสดิการที่จะได้รับเมื่อถึงวัยเกษียณ ด้วยเหตุนี้กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมของเกาหลีจึงสร้างระบบเครือข่ายร่วมกับผู้ประกอบการและร้านค้า ไปจนถึงบริการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ เช่น ร้านตัดผม เซาน่า บ่อน้ำร้อน และร้านอาหาร เพื่อมอบโควต้าให้ผู้สูงอายุใช้บริการได้ฟรี ขณะที่บางแห่งก็ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการแพคอาหารเพื่อนำไปให้ผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน เป็นต้น

 

ศ.ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ศ.ดร.วรเวศน์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม้จะมีปัญหา แต่ก็นับว่าพอจะมองเห็นโอกาส และยังมีเวลาพอที่จะเตรียมรับมือ เพื่อนำพาสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ

“ไม่ว่าจะนิยามผู้สูงอายุว่า 60 หรือ 65 ปีขึ้นไป ที่แน่นอนคือเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย จากกรณีของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะพบว่าเขาพยายามกลับมาสู่การสร้างชุมชน และใช้ดิจิทัล เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยไม่ต้องใช้ต้นทุนที่สูง เพราะรัฐบาลต้องแบกรับหนี้สาธารณะมหาศาล ขณะที่ไทยเรายังอยู่ในสถานะที่คล่องตัวกว่ามาก ส่วนการเตรียมความพร้อมในเชิงนโยบายเพื่อรับมือสถานการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ในเรื่องระบบประกันสุขภาพและบริการผู้สูงอายุ ประเทศไทยดำเนินการได้ค่อนข้างดีและต่อเนื่อง เช่น ระบบบำนาญที่ครอบคลุมประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุร้อยละ 90 ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

“แต่กระนั้นประเทศไทยยังไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังจึงไม่มีแนวทางหรือนโยบายที่ชัดเจน จึงต้องศึกษาสถานการณ์ของรุ่นพี่ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เอาไว้อย่างคลาดสายตาไม่ได้” ศ.ดร.วรเวศน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image