เมื่อ “คำ ผกา” เขียนเรื่อง “ขาวดำต่ำช้า”

ขาวดำต่ำช้า

(มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 มกราคม; 22-28 มกราคม 2559)

 

“แค่ขาวก็ชนะ”

ประโยคนี้ประโยคเดียวเท่านั้น ทำเอาประเทศไทยกลายเป็นประเด็นพาดหัวสื่อระดับโลกทั้ง CNN ทั้งนิวยอร์กไทม์สก็เขียนถึงเรื่องนี้

Advertisement

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “นักโฆษณา” ของเรามีความสามารถพิเศษในการแสดงความ “อวิชชา” หรือ ignorance ให้โลกประจักษ์

คงจำกันได้ว่า หลายปีก่อน มีโฆษณาในบีทีเอสที่เขียนว่า “ที่นั่งสำหรับคนขาว” หรือในโปสเตอร์สอนภาษาอังกฤษ เมื่อต้องอธิบายคำว่า ugly ก็ปรากฏภาพคนผิวดำที่เป็นแอฟริกัน

เพื่อเข้าใจลำดับของกลุ่มอาการ ignorance ในสังคมต่อประเด็นเรื่อง ขาวและดำ นี้ขอเริ่มต้นที่คำว่า racist ก่อน

Advertisement

คำว่า racist หรือ การเหยียดเชื้อชาติ เป็นสิ่งที่สังคมไทยยังมีความเข้าใจเรื่องนี้เบาบางมาก เพราะเราด่าเพื่อนว่า เสี่ยว ว่าลาว เป็นอาจิณ

มิหนำซ้ำมุขตลกที่เล่นกันในสังคมไทยไม่เคยตระหนักถึงมิติความอ่อนไหวของความถูกต้องทางการเมืองหรือ political correctness

บวกกับความอ่อนแอทางวิชาความรู้ การศึกษา ประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ของตนเองและประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองคนอื่น

โลกของคนไทยจึงเป็นโลกในกะลาที่ทั้งเล็กทั้งหนา ถามว่า คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจประเด็นเรื่องการเหยียดสีผิวอย่างที่เป็นปัญหาในโลกตะวันตกหรือไม่ คำตอบคือไม่เข้าใจ

คนไทยที่คิดว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางจักรวาลยังเห็น “คนดำ” เป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่น่าเข้าใกล้ เอาง่ายๆ ว่า มีดารา นักร้อง ผิวสีคนไหนในโลกบ้างที่กลายมาเป็นขวัญใจมหาชนชาวไทย คำตอบคือไม่มีเลย!!!

และเราคงต้องยอมรับอย่างไม่อายว่าคนไทยส่วนมากไม่รับรู้ ไม่รู้จักการมีอยู่ (อย่าว่าแต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนผิวสี) ของคนผิวสีที่อยู่ในยุโรปและอเมริกา

ไม่มีนักเขียนผิวสีคนไหนเลยที่เป็นที่รู้จักของคนไทย แม้กระทั่งนักเขียนร่วมสมัยที่ดังมากๆ อย่าง Chimananda Ngozi Adiiche

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงว่า คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับแอฟริกาและคนแอฟริกันดีแค่ไหน?

คงมีคนไทยน้อยคนมากที่จะเห็นความหลากหลายของหน้าตา ผิวพันธุ์ของคนแอฟริกาว่าในแต่ละภูมิภาคก็มีโครงสร้างของใบหน้า ผม เฉดสีผิว รูปร่างที่แตกต่างกันออกไป ไม่นับศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ทว่า เรามองแอฟริกาเป็นภาพเดียวเท่านั้นคือ “ดำ”

และปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า เรายังเรียกคนผิวสีว่า “นิโกร”

ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ระหว่างฝรั่งผิวขาวกับคนผิวสี คนไทยอยากเข้าใกล้หรืออยากคุยกับใครมากกว่ากัน คำตอบก็น่าจะเป็นฝรั่งผิวขาว

ถามว่าถ้าคุณเป็นพ่อเป็นแม่ระหว่างลูกเขยผิวขาว กับลูกเขยผิวสี อยากได้ลูกเขยเชื้อชาติไหน

คำตอบก็น่าจะเป็นฝรั่งผิวขาวอีกนั่นแหละ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สังคมไทย “หูหนาตาเล่อ” (อยากจะเรียกอาการนี้ว่า “เรื้อน”) ไม่ลังเลที่จะคิดม็อตโตสโลแกนแบบ “แค่ขาวก็ชนะ” หรือ “ที่นั่งสำหรับคนผิวขาว”

เพราะคนไทยเรื้อนเหล่านี้ไม่ได้เข้าใจว่า “ขาว” ที่โลกเขารู้จักคือ ความเป็นคอเคเชี่ยน ซึ่งตามประวัติศาสตร์โลก เหล่าคอเคเชี่ยนเคยดูถูก กดขี่ เห็นคนทั้งที่เป็นมองโกลอยด์ ทั้งนิกรอยด์ เป็นเพียงกึ่งคนกึ่งสัตว์ เหมาะสำหรับเอามาเป็นทาสในไร่น่าเท่านั้น หรือไม่ก็เข้ามาปกครอง ให้การศึกษา ขัดเกลา เพื่อยกระดับความเป็นคนของเหล่าสรรพสัตว์เหล่านี้

ดังนั้น คำว่า “แค่ขาวก็ชนะ” จึงเป็นคำที่ “หยาบคายที่สุด น่าขยะแขยงที่สุด” เท่าที่โลกอารยะในปัจจุบันจะได้เคยได้พบได้เจอ!!!!!

ทั้งหยาบ ทั้งตอกย้ำความเจ็บปวดของเหล่ามนุษย์ที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นสัตว์โดยคนผิวขาว!!!!!!!

และเสียใจด้วยจริงๆ ที่จะบอกว่า มันถูกผลิตออกมาจากประชาชนชาติหนึ่งที่สักแต่ได้ชื่อว่า literate แล้วแต่ยังไม่ educate เสียที

ประเด็นถัดมา เป็นประเด็นว่าด้วย “ความขาว” ในโลกทัศน์ของมนุษย์ มองโกลอยด์ หรือมนุษย์ผิวเหลืองอย่างเราๆ ท่านๆ

เวลาที่มนุษย์ผิวเหลืองอย่างเราพูดว่า “อยากขาว” หรือชอบคน “ผิวขาว” เพราะสวยกว่า “ผิวคล้ำ” (ซึ่งเรามักเรียกรวมไปว่า “ดำ” คำว่า “ขาว” ในที่นี้หมายถึง fair คือ สีที่กระจ่าง สีที่อ่อน ในบรรดามองโกลอยด์ กลุ่มคนที่มีสีผิว “อ่อน” คือคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ส่วนแถบอุษาคเนย์อย่างเรานั้นล้วนแต่มีผิวสี “น้ำผึ้ง” – อันนี้ว่ากันไปตามกรรมพันธุ์

เหนือกว่าความเป็นกรรมพันธุ์คืออะไร? เหนือกว่าความเป็นกรรมพันธุ์คือ ผิวแบบไหนที่ได้ชื่อว่า “สวย” นั้น มันคือมิติของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง

เคยได้ยินคำว่า “ผิวพรรณดีสมกับเป็นลูกผู้ลากมาดี” ไหม?

เคยได้ยินคำว่า “ราศีจับ” ไหม? เคยได้ยินคำว่า “ผิวพรรณสมกับเป็นคนมีบุญ” ไหม? ถ้าเคยได้ยินจะอธิบายโลกทัศน์นี้อย่างไร?

ในยุคศักดินาที่การเลื่อนชนชั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง

และข้อจำกัดของการเลื่อนสถานะทางสังคมที่ปิดตายนี้ถูกอธิบายด้วยหลักการทางศาสนา เช่น คนเป็นผู้ปกครองได้เพราะบุญญาบารมีที่สั่งสมมา หรือเป็นผู้ปกครองมาตั้งแต่ชาติปางก่อน

ดังนั้น ชีวิตของมนุษย์ในชาตินี้ถูกกำหนดมาแล้วจาก “กรรม” ของชาติที่แล้ว

ดังนั้น ไพร่ทาสที่ทำงานหนักกลางแจ้ง อดมื้อกินมื้อ เผชิญกับโรคระบาดอย่างอเนจอนาถ ย่อมมีผิวพรรณวรรณ ที่หมองคล้ำ เต็มไปด้วยกลากเกลื้อน รอยแผลเป็น แมลงสัตว์กัดต่อย หรือแม้กระทั่งแผลเป็นจากโรคฝีดาษอันน่าเกลียดน่ากลัว

ไม่นับภัยจากโรคผิวหนังต่างๆ นานา อันเนื่องมาจาก “ความสะอาด” หรือ “สุขาภิบาลที่ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา

ไม่ต้องพูดถึง “กลิ่น” อันไม่พึงประสงค์อันเกิดจากการขาดสุขอนามัยหรือขาดซึ่งคุณภาพชีวิตและท้ายที่สุด มันก็ทำให้ความหมองคล้ำไปเท่ากับความสกปรกและเชื้อโรคและแน่นอนเท่ากับความจนอันน่าเดียดฉันท์

ส่วนชนชั้นสูงที่นั่งกินนอนกินอยู่ในปราสาทอันโอ่อ่า ย่อมมีผิวพรรณวรรณะที่ผ่องใส เนื่องจากยุงไม่ไต่ ริ้นไม่ตอม แดดไม่โดน ไม่ต้องทำงานหนักแต่อย่างใด

การณ์เช่นนี้ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า “ดูสิ ผู้มีบุญ ผิวย่อมผ่องแผ้วเป็นทองนพคุณฉะนี้แล”

สภาวการณ์เช่นนี้ไม่ได้มีแต่สังคมอุษาคเนย์ สังคมศักดินาที่ไหนก็ไม่ต่างกัน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ล้วนนิยมคนผิวขาวผ่อง ปราศจากไฝฝ้าราคีทั้งมวล

มิเช่นนั้นเกอิชาคงไม่ทาหน้าขาว สังคมยุโรปก็นิยมคนผิวเกลี้ยงไม่มีรอยฝีดาษ

ดังนั้น มากกว่า “ความงาม” คุณภาพของผิวพรรณเป็นตัวบ่งชี้ “บุญญาธิการ” ของคนคนนั้น

หากลูกไพร่ ลูกทาส ลูกชาวนาคนไหน เกิดมาผิวพรรณดีงามผิดพี่ผิดน้องผิดพ่อผิดแม่ หมอดูก็จะมีอันทำนายทายทักว่า นี่คือผู้มีบุญมาเกิด หากเป็นชายก็จะได้บวชได้ดิบได้ดี หากเป็นหญิงไม่ช้านานจะได้แต่งงานกับเจ้าคนนายคน ดังจะเห็นจากนิทานพื้นบ้านประเภทนางตัวหอม นางผมหอมทั้งหลาย

ล่วงมาถึงยุคสมัยใหม่-ขอทำทางแยกที่จะเข้าใจเรื่องนี้ออกเป็นสองทาง คือ ทางของสังคมตะวันตก กับทางของสังคมไทย ที่ไม่อาจใช้กรอบคิดแบบสมัยใหม่มาอธิบายได้ทั้งหมด แต่ดูจะต้องผสมสองกรอบคิดคือกรอบคิดทางมานุษยวิทยาว่าด้วย “ร่างกายกับอำนาจ” กับระบบสังคมที่ไม่ได้ก้าวผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้ทุนนิยมและกลไกการตลาดล้วนๆ ทว่า ยังถูกกำกับด้วยจักรวาลวิทยาโบราณ นั่นคือเรื่องของชนชั้นวรรณะกับบุญญาบารมี

ต่างจากของสังคมตะวันตกที่สามารถเข้าใจประเด็นนี้ผ่านกรอบคิดว่าด้วย ร่างกาย อำนาจ ทุนนิยม ประชาธิปไตย การตกเป็นวัตถุของอำนาจครอบงำ และความย้อนแย้งพลิกกลับของผู้ถูกกระทำสู่การเป็นผู้กระทำ

อีกทั้งยังหมายถึงการสลัดตัวออกจากการเป็นเพียง “ฉายาของพระผู้เป็นเจ้า” ด้วยการลงมือ “จัดการ” กับร่างกายของตนเอง ทั้งฉีด ผ่า ตัด ดึง ดัดแปลง เฉือนทิ้ง เพื่อให้ได้ร่างกายอย่างที่ตนเองปรารถนา

ก่อนที่จะไปถึงสองประเด็นนั้น เราพึงมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า มนุษย์ไม่เคยปล่อยร่างกายไปตาม “ธรรมชาติ”

เคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งหนึ่งนานมาแล้วว่า สวยธรรมชาติของแท้เท่าที่จะยกตัวอย่างได้คือสวยแบบผีตองเหลือง อันนั้นธรรมชาติจริง ห่มใบตอง ไม่มีครีมบำรุง สีผึ้งทาปากใดๆ

แต่ไอ้สวยธรรมชาติแบบมนุษย์อารยะดัดจริตทั้งหลายคือ “แต่งตัว” อย่างไรให้ดูเป็นธรรมชาติ

แต่งตัวอย่างไรให้ดู “ลึกซึ้ง” ไม่ฉูดฉาดบาดตา

เพราะในบางสำนักคิด ให้ค่ากับความสามารถในการ “ดัด” ตนให้กลืนไปกับธรรมชาติ เช่น สำนักคิด มินิมอล หรือ วาบิซาบิ ทั้งหลาย

สำหรับฉันแล้วไม่มีสำนักแห่งความไหนจะดัดจริตยิ่งใหญ่ได้เท่าสำนัก “ธรรมชาติ”

เพราะธรรมชาติไม่ได้แปลว่าปล่อยทุกอย่างตามธรรมชาติ แต่พยายามปรุงแต่งทุกอย่างให้ดูเป็น “ธรรมชาติ”

ซึ่งผลที่ได้คือมันจะสวยกว่าเกินธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ทำให้คนหลงเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ปรุงแต่งมาเพียงน้อยนิด

ถ้าเราคิดว่าการศัลยกรรม โบท็อกซ์ ฉีดกลูต้าให้ขาว การเหลากรามให้หน้าเรียว การฉีดฟิลเลอร์กล้ามท้องซิกซ์แพ็ก คือความเลวร้ายฉาบฉวยของทุนนิยม

เราก็ต้องไม่ลืมว่า การดัดแปลงร่างกายเพื่อให้ลงรอยกับความงามอันเป็นมาตรฐานของสังคมที่เราสังกัดอยู่ในอดีตก่อนหน้าที่จะมีทุนนิยมก็โหดร้ายไม่น้อยไปกว่ากัน

ไม่ว่าจะเป็นการสัก การกรีดผิวหนังให้เกิดแผลเป็น การเอากระดูกปลาวาฬมารัดเอวให้เหลือสิบสามนิ้ว การรัดเท้าผู้หญิงให้เหลือสามนิ้ว การดึงหน้าให้ตึงตลอดเวลาโดยเอาเข็มตรึงหน้าผากไว้กับกลางกระหม่อม ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีความพยายามในการ “จัดการ” ร่างกายของตนเองต่างๆ นานา

ไม่ว่าจะเป็นการ สัก การเจาะ การเอาห่วงมาสวมคอจนยาวขึ้นเรื่อยๆ (เคยตั้งคำถามไหมว่า ทำไมฝรั่งเอากะเหรี่ยงคอยาวไปโชว์ตัวที่อังกฤษ ว่าเป็นมนุษย์ประหลาด แต่เราไม่ยักจะอยากเอาผู้หญิงฝรั่งที่เอากระดูกปลาวาฬมารัดเอวให้เหลือสิบสามนิ้วมาโชว์ตัวเป็นตัวประหลาดบ้าง?)

บางชนชาติก็ระเบิดหู บางชนชาติก็ระเบิดปาก สวมใส่เครื่องประดับบนอวัยวะที่เราคาดไม่ถึงว่าจะใส่หรือใส่แล้วสวย ฯลฯ

การบิดเบือนร่างกายนานาเหล่านี้ก็เพื่อบรรลุซึ่ง “ความงาม” ตามมาตรฐานของสังคมนั้นๆ ในสมัยนั้น หรือเพื่อบรรลุซึ่งคุณสมบัติแห่งการเป็นผู้นำของเผ่า เพื่อได้แต่งงานกับคนที่มั่งคั่งของเผ่า ฯลฯ

ไม่ได้ต่างอะไรจากการที่คนสมัยนี้ออกกำลังกาย ผ่าตัด ศัลยกรรม กินยา ดูดไขมัน หรืออื่นๆ เพื่อ ดัด แปลง เสริม ตัด และ “ปั้น” ร่างกายของตัวเองออกมาใหม่ให้ใกล้เคียงกับร่างกายในอุดมคติของตน

เผยร่างพรางกาย

ในการทำความเข้าใจกระบวนการปั้นหรือ crafting body กรอบคิดของนักปรัชญาที่นำมาใช้กันมากคือของฟูโกต์ เล่มที่คนไทยได้อ่านกันมาก็คือ “เผยร่างพรางกาย” อีกทั้งหลายบทความเกี่ยวกับ “ร่างกายใต้บงการ”

ศุกร์หน้ามาอ่านกันต่อว่าแนวคิดว่าด้วย “ร่างกายใต้บงการ” เมื่อมาถึงเรื่อง ความอยากขาว อยากดำ อยากอ้วน อยากผอม ในดีเบตหรือ “ดราม่า” ในบริบทแบบไทย มันมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนมากกว่าการเป็น “ร่างกายใต้บงการ” ของฟูโกต์อีก

ความเดิมจากตอนที่แล้ว (ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่หนึ่งควรไปหามาอ่านเพราะเขียนดีมาก!)

ตอนที่แล้วเราปิดท้ายกันที่แนวคิดเรื่อง “ร่างกายใต้บงการ” ของฟูโกต์

ร่างกายใต้บงการคืออะไร

ขออธิบายอย่างไม่เป็นวิชาการอย่างหยาบเพื่อเข้าใจง่ายๆ ว่า สำหรับฟูโกต์แล้ว ร่างกายของมนุษย์ไม่ใช่ร่างกายตามธรรมชาติ แต่เป็นเรือนร่างของสังคม

บน “ร่างกาย” ของเราที่ถูกกำกับปกครองด้วยโครงสร้างทางสังคม การกำกับเรือนร่างนี้มีทั้งผ่านการเมืองการปกครองที่ตรงไปตรงมา เช่น การกำกับเรือนร่างของนักเรียนด้วยกฎระเบียบของโรงเรียน การกำกับฝึกฝนร่างกายของทหารด้วยระเบียบการฝึกตามหลักสูตร การกำกับเรือนร่างของนักโทษผ่านการออกแบบสภาพเรือนจำ ทรงผม เสื้อผ้า เป็นต้น

อีกโครงสร้างหนึ่งทางสังคมที่กำกับเรือนร่างของมนุษย์คือการนิยาม ความงาม ความสะอาด ความสกปรก ความแข็งแรง ลักษณะของอนามัยที่ดี

ร่างกายใต้บงการ

โลกก่อนสมัยใหม่นิยามนี้อ้างอิงอยู่กับอำนาจสัมบูรณ์ของระบบฟิวดัล ศักดินา ศาสนา เพราะอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจไม่อาจแยกออกจากกัน

ในโลกสมัยใหม่และโดยเฉพาะโลกเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยม อำนาจในการนิยม “ความงาม” เป็นอำนาจของตลาด

แต่ทั้งสองอำนาจทำให้มนุษย์อย่างเรามองเห็นเรือนร่างของเราเป็น unfinished project นั่นคือเป็นเรือนร่างที่ยังสร้างไม่เสร็จ ยังต้องการการซ่อมบำรุง การแก้ไขข้อบกพร่อง

เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงนำตัวเราเข้าสู่การฝึกฝนที่ต้องมีระเบียบวินัย เช่น วินัยในการกิน วินัยในการออกกำลังกาย วินัยในการนอน (นอนน้อยทำให้แก่เร็ว)

การใช้สารพัดเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวเพื่อให้เรือนร่างของเรา “ดีขึ้น”

หรือแม้กระทั่งการทำศัลยกรรม ส่วนคนที่ไม่มี “วินัย” เช่น ไม่ดูแลตัวเอง กินเยอะ ปล่อยให้อ้วน ไม่ออกกำลัง หรือปล่อยให้ผิวหนังแห้งเป็นขุย หยาบกร้าน ก็จะถูก “ลงโทษ” เช่น ไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำงาน ถูกจัดให้ไปทำงานในส่วนที่ต้อยต่ำ ไม่มีเสน่ห์ดึงดูด ฯลฯ

หรือที่ในภาษาวิชาการใช้คำว่า Marginalized หรือ การถูกกีดกันออกไปอยู่ชายขอบของสังคม

ก่อนจะไปพูดถึงฟูโกต์ต่อ คำ ผกา ขอเสริมตัวอย่างที่ฟูโกต์ไม่ได้พูดเอาไว้ นั่นคือ ในการ “ด่าทอ” หรือ ประณาม การโฆษณาครีมผิวขาว ยาลดความอ้วน เรามักจะหยุดอยู่แค่เรื่องกระบวนการ marginalized ที่ทำให้เกิดการโมโหโกรธา “ทุนนิยม” “บริโภคนิยม” “โฆษณา” “นิตยสาร” “รายการโทรทัศน์” ที่รวมหัวกันสร้าง “สังคมกดทับ” ดูหมิ่น เหยียดยาม กีดกัน มนุษย์ที่ไม่สามารถดัดหรือฝึกร่างกายให้เข้าตามมาตรฐานของ “สังคม” ได้

มิหนำซ้ำยังก่อให้เกิดโรคสารพัดโรคอันเกี่ยวกับการหมกมุ่นในเรือนร่างของตนเอง นั่นคือโรคสกุลที่ลงท้ายด้วยคำว่า rexia ต่างๆ นานา

ถามว่าหากมนุษย์เชื่อว่าเรือนร่างของตนเองเป็น finished project คือ สร้างเสร็จแล้ว มนุษย์ไม่ต้องไปกระทำใดๆ กับร่างกายของตนเองอีกมันจะดีกว่าไหม?

ก็คงจะดีหากมันไม่มีคำว่า “อำนาจ” เข้ามาเกี่ยวข้อง

เกี่ยวข้องอย่างไร?

โลกก่อนสมัยใหม่ “อำนาจ” กำหนดว่า ใครมีสิทธิในการ “พัฒนา” เรือนร่างของตนเอง ใครไม่มีสิทธิในการพัฒนา “เรือนร่าง” อำนาจนี้ในหลายกรณี ไม่ใช่อำนาจทางตรงแต่เป็นอำนาจทางอ้อม เช่น

หากเราเป็นหญิงชาวนา เราคงไม่สามารถรัดเท้าเล็กๆ ให้ดูเป็นผู้ดีได้ เพราะเราต้องใช้ “เท้า” ใหญ่ๆ ในการทำไร่ทำนา ค้าขาย

ในขณะที่สตรีชั้นสูงที่มีข้าทาสบริวารมากมายสามารถมีชีวิตอยู่ได้กับเท่าพิการเพราะไม่ต้องทำอะไรด้วยตนเองจึงสามารถครอบครองเท้าที่เล็กงามดุจดังดอกบัวได้

ในบางสังคมศักดินาสงวนสิทธิในการกำหนดและ “ฝึกฝน” “ดัดแปลง” เรือนร่างให้เป็นเรือนร่างตามอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็นการอบร่ำร่างกายด้วยเครื่องหอม การขัดผิวด้วยขมิ้น น้ำนม ที่ต้องมีทั้งนางกำนัลช่วยขัดสีฉวีวรรณให้และต้องมี “เวลาว่าง” อันเหลือเฟือในการทำเช่นนั้น สตรีชั้นสูง จึงหอม ผุดผ่อง สะอาด ผิวพรรณที่ผ่องแผ้วนพคุณจึงเป็นสิ่งที่สตรีชั้นล่างไม่อาจครอบครองได้ เพราะไม่มีทั้งเวลา ทรัพยากร และแรงงานในการขัด บ่ม ดูแลผิวขนาดนั้น

แถมยังต้องใช้ร่างกายไปกับการทำงานหนักกลางแจ้ง

และแน่นอนว่า “ชนชั้นสูง” ย่อมมีความสามารถในการกลบเกลื่อน “ความเหลื่อมล้ำ” นี้และมีกลยุทธ์ที่จะไม่ให้เหล่าไพร่ ทาส ที่อยู่ข้างล่างนั้นกระเหี้ยนกระหือรืออย่าง “ผ่องแผ้วนพคุณ” กับเขาบ้าง เพราะขืนอยากขึ้นมา ไอ้อีไพร่เหล่านั้นจะเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมคนกลุ่มนั้นมีเวลาว่างมากมาย แต่ทำไมเราไม่มี? ทำไมคนกลุ่มนั้นมีน้ำนมไว้อาบเป็นถังๆ ทุกวัน แต่เราจะหาขนมปังแข็งๆ กินให้ครบสามมื้อยังยาก?

เพื่อไม่ให้คนชั้นต่ำเหล่านั้นตั้งคำถาม คนชั้นสูงมักใช้ “ศาสนา” มาสยบคำถามของคนชั้นล่างเสีย

เช่น อธิบายที่ชาตินี้เกิดมารูปชั่วตัวดำก็เพราะชาติที่แล้วทำบาปเยอะ สะสมบุญมาไม่พอ ชาตินี้จึงลำบากยากจน หน้าตาก็ไม่สวย ผิวพรรณก็เป็นไปตามวรรณะ

เกิดเป็นจัณฑาลจะให้ผิวผ่องใสได้อาบน้ำแร่แช่น้ำนมเหมือนคนที่เขาทำบุญมาเยอะๆ ตั้งแต่ชาติที่แล้วได้ยังไง เอ๊ะ ไอ้อีพวกนี้ “กำเริบ” อยากจะผิวผ่องเหมือนท่านลอร์ดท่านเลดี้ ยิ่งกำเริบยิ่งลำบาก ยิ่งจะทำให้ชาติหน้าขี้ริ้วกว่าเดิม คอยดู

บ้างก็อธิบายว่า พระเจ้าสร้างเรามาเท่านี้ อย่าริไปเปลี่ยนอะไรเป็นการท้าทายอำนาจของท่าน

สิ่งเดียวที่ทำได้คือ เฝ้าสวดมนต์ อธิษฐานภาวนา อ้อนวอนขอความเมตตาต่อท่าน ขอบคุณท่านที่สร้างเรามา

การเชื่อในบุญ กรรม หรือพระเจ้า เท่ากับการถูกทำให้เชื่อว่าเรือนร่างของเราเป็น finished project จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีก

ในขณะที่ชนชั้นล่างถูกสอนให้มองว่าเรือนร่างเป็น finished project ชนชั้นสูงก็อาบน้ำนมรัวๆ ขัดขมิ้น มะขามเปียกรัวๆ ผิวผ่องเชียว

ทว่า การเดินทางมาของ “ตลาด” หรือ “ทุน” นั่นเองที่ไปทำลายอำนาจผูกขาดของชนชั้นสูงยุคสังคมสัมบูรณ์สิทธิ์ศักดินา

ฟูโกต์บอกว่า “คนชายขอบ” ทั้งหลายได้ใช้ “จุลอำนาจ” หรือ Micropower ของปัจเจกบุคคลในการท้าทายชีวอำนาจทั้งจากรัฐสมัยใหม่และทุนนิยม

นั่นคือ เมื่อปัจเจกบุคคลถูก “กระทำ” จากอำนาจรัฐและทุน ปัจเจกบุคคลก็ใช้ “ทุน” นั่นแหละในการท้าทาย “ทุน” เพราะ “ทุน” ในตลาดเสรีไม่ได้ผูกขาดศักยภาพในการ “กระทำ” หรือ “ดัดแปลง” “ปรับปรุง” เรือนร่างไว้กับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งอีกต่อไปแล้ว

ในบทความ “สลักเรือนร่าง” ของ จุฬารัต ผดุงชีวิต เขียนไว้ว่า “History of Sexuality เล่ม 3 ของฟูโกต์สนับสนุนความหลากหลายของอัตลักษณ์อย่างเสรีซึ่งฟูโกต์มองว่าเป็นงานหัตถศิลป์ (the craft) ของปัจเจกบุคคล อันแสดงถึงความเป็นองค์ประธานของร่างกายได้เป็นอย่างดี สวนทางกับแนวคิดของฟูโกต์ในช่วงแรกที่ร่างกายตกเป็นเหยื่อของสังคม เป็นเรือนร่างอันว่านอนสอนง่าย (docile body)…ปัจเจกบุคคลจักต้องดูแลตัวเองเนื่องเพราะหลักการดูแลตัวเองนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่ตัวเขาจะเป็นองค์ประธานเหนือการพัฒนาตัวตนและจัดระเบียบการปฏิบัติตนของพวกเขา” (อ่านวิพากษ์ มิเชล ฟูโกต์, หน้า 251, หน้า 259)

อ่านวิพากษ์มิเชล ฟูโกต์

นักวิชาการจำนวนหนึ่งเริ่มหันมามองกลุ่มคนที่เป็นโรค Anorexia ใหม่ว่าการกำหนดความอยากผอมของพวกเขาให้เป็นความป่วยไข้นั้นเป็นการใช้ “อำนาจ” ของความเป็นวิชาการทางแพทย์และสาธารณสุขไปสร้างความ “ป่วยไข้” ให้พวกเขา (the hegemony of scientific medicine)

หรือจะมองว่า พวกเขาได้ “เลือก” ประท้วงบรรทัดฐานคลั่งผอมของสังคมโดยการปฏิเสธอาหารให้ผอมจนแม้แต่สังคมคลั่งผอมเองก็ไม่อาจยอมรับความผอมในเวลานี้ได้-หรือไม่?

ภายใต้กรอบคิดนี้เราจะเห็นว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วร่างกายและเรือนร่างของเราเหวี่ยงไปมาระหว่างการเป็น “ผู้กระทำ” (subject) และ “ผู้ถูกกระทำ” (object)

เราไม่อาจ-หรือไม่มีวัน-หลีกเลี่ยงการเป็นผู้ถูกกระทำได้โดยหมดจดเพราะเราไม่ใช้ชีวิตตามลำพังบนโลกใบนี้หรืออยู่กันแต่คนลิเบอรัลแรดิคัลอนาคิสต์ด้วยกันเอง แต่เราใช้ชีวิตอยู่บนเครือข่ายอำนาจสารพัดอำนาจที่ป่ายปีนเปะปะข้ามกันไปมา

ในบางจุดเราก็คือเหยื่อผู้สยบยอมต่อเงื่อนไขของสังคมที่บูชาความขาวความผอม

แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็พลิกกลับใช้อำนาจเหนือร่างกายของเราและอำนาจ “ทุน” ที่เรามีอยู่ไปสร้างความขาว ความผอม ความหน้าเรียว หรือแม้กระทั่งตัดจู๋ ตัดจิ๋ม เพิ่มนม และอื่นๆ ของเราเพื่อเป็นผู้ชนะในโครงสร้างนี้

เช่นเดียวกับที่รองเท้าส้นสูงด้านหนึ่งถูกมองว่ากดขี่ผู้หญิงให้ต้องเขย่งเก็งกอยอยู่บนรองเท้าที่รัดรึงทรมาน

อีกด้านหนึ่งผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ก้าวขึ้นมาครองโลกด้วยอำนาจที่รองเท้าส้นสูงมอบให้กับเธอ

เช่น เมื่อสวมมันแล้วเธอมีความมั่นใจ เมื่อสวมมันแล้ว เธอใช้ส้นเข็มของรองเท้าทำหน้าที่ประดุจ “ลึงค์” ที่เธอสวมใส่มันและทำให้เธอรู้สึกถึงความแข็งแกร่ง

บางอย่างสามารถ “สู้” กับ “ผู้ชาย” บนโต๊ะแห่งการเจรจาต่อรองใดๆ ได้

เพราะฉะนั้น การวิจารณ์เรื่องความคลั่ง “ขาว” ในสังคมไทยและสังคมเอเชียอื่นๆ ไม่อาจทำได้โดยง่ายและตื้นเขินเพียงการก่นด่าว่า สังคมนี้มันเลวจริงๆ มันไม่มีที่ทางให้คนผิวคล้ำ เราต้องสู้เพื่อความงามที่หลากหลาย เพราะในความเป็นจริง ความงามที่หลากหลายอันถูกสถาปนาขึ้นนั้นก็หนีไม่พ้นการเข้าไปข้องแวะกับอำนาจสถาปนาอำนาจใดอำนาจหนึ่งที่จำเป็นต้อง marginalized คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปนั่นเอง

เช่น ในหมู่คนผิวขาวที่มีการกีดกันของผิวขาวซีด และอ้วน เพราะความงามมาตรฐานคือขาวแต่ได้อาบแดดพอประมาณและฟิตแอนด์เฟิร์ม

หรือในหมู่ผู้ชายผิวขาวมีการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าเดตผู้หญิงเอเชีย หรือแอฟริกา เป็นการแสดงถึงการสมาทานลัทธิ multi culturalism ที่ดูเก๋ไก๋กว่าการเดตผู้หญิงผิวขาวด้วยกันที่ดูไม่ cool ดู “ขวา” เกินไป

สิ่งที่เราควรจะโฟกัสในเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องการศักยภาพของมนุษย์ในการเข้าถึงและพัฒนา “เรือนร่าง” บนสำนึกแห่งการมีอำนาจอธิปไตยเหนือเรือนร่างของตน

นั่นคือการดัดแปลงเรือนร่างใดก็แล้วแต่หากมันเกิดจากสำนึกว่าตนเองเป็นเจ้าของและมีอำนาจสิทธิขาด autonomy เหนือร่างกายตัวเองแล้ว

หลังจากนั้นจะอยากอ้วน จะอยากผอม จะอยากคล้ำ จะอยากขาว ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละปัจเจกบุคคล

และเราปฏิเสธไม่ได้ว่า เรือนร่างนั้นเป็น “ทุน” ชนิดหนึ่ง

ถ้าหากเรามีต้นทุนอื่นในชีวิตมากพอ เช่น มีทุนทางเศรษฐกิจ พ่อแม่รวยมาก มีทุนทางการศึกษา เรียนเก่งมาก จบการศึกษาสูง มีทุนทางวัฒนธรรม พ่อแม่ให้เรียนดนตรี เต้นรำ ตั้งแต่เด็ก มีความสามารถพิเศษเยอะแยะไปหมด

หากเรามีทุน “หนา” อยู่กับตัวแล้ว ทุนทางเรือนร่างอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เผลอๆ อาจเป็นสิ่งที่เราได้มาโดยไม่ต้องพยายาม

แต่สังคมไทยที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา “ทุน” ในชีวิตนั้นแคบและเรียวมาก ในยุคแห่งตลาดเสรีจะมีโอกาสไหนที่ไม่เลือกที่รักมักที่ชังเท่ากับโอกาสแห่งการสร้างทุนทางร่างกายผ่านการกินกลูต้า เสริมนม เสริมจมูก เสริมซิกซ์แพ็ก หากทุนนั้นจะหมายถึงโอกาสในการขยับเลื่อนชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ

คนที่มี “ทุน” อยู่แล้วมักจะดูแคลนวิจารณญาณของคน “ไม่มีทุน” ว่า “คิดสั้น มักง่าย ขี้เกียจ หวังรวยทางลัด”

หนักกว่านั้นโดยไม่รู้ตัวคนเหล่านี้มองว่า คนจน คนบ้านนอกช่างน่าสมเพชที่พยายามตะเกียกตะกายล้างกำพืดความเป็นบ้านนอกตัวดำมาให้ขาวผ่องเป็นสาวชาวกรุง ช่างไม่เจียมตัว ช่างน่าสงสารที่จะต้องกินกลูต้าจนตัวตายหรือโดนครีมผสมน้ำยาล้างส้วมจนเสียโฉม

เพราะคนเหล่านี้ไม่รู้ตัวว่ายังพกโลกทัศน์แบบศักดินาล้าหลังมองว่ารูปโฉมโนมพรรณนั้นมาจากชาติกำเนิด โมดิฟายไม่ได้ ดัดแปลงไม่ได้

น่าสังเวชกว่านั้นคนเหล่านี้แหละที่ลงทุนไปกับรูปโฉมโนมพรรณตัวเองมากกว่าคนจนไม่รู้กี่เท่าเพียงแต่มีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า เจอหมอที่เก่งกว่า หรือมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหนือชั้นกว่าไม่ต้องพึ่งกลูต้ากากๆ หรือครีมพริตตี้ปลอมๆ

ความยอกย้อนว่าด้วย “ความขาว” ในสังคมไทยก็เป็นฉะนี้

ไม่ดูถูกคนดำแต่ดูถูกคนจน-เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image