ตาม ‘คณะทูต’ สัมผัส ‘สยาม’ มุมใหม่ หลงเสน่ห์ ‘ไทย เมจิก’

ตาม ‘คณะทูต’ สัมผัส ‘สยาม’ มุมใหม่ หลงเสน่ห์ ‘ไทย เมจิก’

ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับกิจกรรมคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรสทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ที่ในปีนี้มีคณะทูตต่างประเทศและภริยาเข้าร่วมโครงการกว่า 71 คน จาก 44 ประเทศ และสหภาพยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส, อิสราเอล, อินเดีย, มาเลเซีย, ลาว, ปากีสถาน และบังกลาเทศ โดยนำพาไปทัศนศึกษายังพื้นที่ด้ามขวานของประเทศไทย จังหวัดภูเก็ตและจังหวัดพังงา เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน

เพื่อให้คณะทูตและภริยาได้สัมผัสถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตที่แท้จริงของสองเมืองท่องเที่ยว ในมุมที่แม้แต่นักท่องเที่ยวก็ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน

อาทิ เยี่ยมชมพื้นที่ย่านกรุงเก่า พร้อมรับฟังประวัติความเป็นมาและความหลากหลายของวัฒนธรรมในจังหวัดภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ซึ่งหลอมรวมกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่น ก่อนจะไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพใน “ชุมชนสามช่องเหนือ” ชุมชนมุสลิมที่มีศักยภาพและยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต โดยผู้ชายประกอบอาชีพประมง ขณะที่ผู้หญิงอยู่กับเหย้าทำกะปิ ผ้ามัดย้อม และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อหารายได้ ซึ่งคณะทูตก็ได้ทดลองทำกะปิและผ้ามัดย้อม ด้วยความสนุกสนาน

จากนั้นเดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลและร่วมปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ทะลอันดามัน ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา ต่อด้วยเยี่ยมชมชุมชนตัวอย่างภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพภายหลังภัยพิบัติสึนามิ ณ โครงการหมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย (บ้านทุ่งรัก) และศึกษาดูงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปูม้า ณ บริเวณแนวป่าชายเลนชุมชน ท่ามกลางการต้อนรับที่อบอุ่นจากชาวบ้านในพื้นที่

Advertisement

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กิจกรรมนี้มีมากว่า 10 ปีแล้ว เพราะต้องการให้คณะทูตได้สัมผัสกับประเทศไทย นอกเหนือจากในกรุงเทพมหานคร โดยปีนี้เลือกมาที่ จ.พังงาและภูเก็ต เพราะแม้ว่านักท่องเที่ยวจะรู้จัก จ.พังงาและภูเก็ต แต่ก็เพียงผิวเผิน ตลอดจน จ.ภูเก็ตและพังงา ยังเป็นจุดติดต่อค้าขายของไทยกับโลกภายนอกที่มีประวัติเป็นมายาวนาน

“คณะทูตต่างสนใจโครงการในพระราชดำริเป็นอย่างมาก เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าซึ่งมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ทรงริเริ่ม ในฐานะคนไทยก็ภาคภูมิใจว่าเรามีภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมภายใต้โครงการดังกล่าว และสามารถเป็นประสบการณ์ไว้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนานาประเทศต่อไปได้ในอนาคต

Advertisement

ขณะเดียวกันท่านทูตหลายท่านก็สนใจการนำชมโครงการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้เห็นว่าหลังจากประสบภัยพิบัติสึนามิในปี 2004 จากสภาพที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ปัจจุบันทุกคนสามารถฟื้นฟูขึ้นมาใช้ชีวิตแบบปกติ ทำมาหากินได้ ภายใต้การอนุเคราะห์ของสมเด็จพระเทพฯ เพราะฉะนั้นโครงการพระราชดำริจึงเป็นโครงการที่สามารถสานต่อไปสร้างเครือข่ายในประเทศต่างๆ ได้ ด้วยทุกโครงการมีจุดร่วมคือมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People Center) กล่าวคือการทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง” รมช.กระทรวงการต่างประเทศกล่าวด้วยรอยยิ้ม

นายอับดุลเลาะห์ ญุมอะห์ อับดุลเลาะห์ อัลชัรฮาน เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทย กล่าวว่า พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพี่น้องชาวภูเก็ตและพังงา สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและได้เห็นรอยยิ้มของคนไทยในทุกที่ ซึ่งผมขนานนามว่าเป็น “เวทมนต์ของคนไทย” (Thai Magic) และในการทัศนศึกษาครั้งนี้แม้จะเป็นเวลาไม่นานที่พวกเราได้ไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นว่าเขาทานอะไร ผลิตอะไร และมีอาชีพอะไรบ้าง ตลอดจนได้เข้าไปเยี่ยมชมในหลายพื้นที่ แต่ผมยังสังเกตว่าผู้คนที่ประสบภัยทางธรรมชาติสึนามิในปี ค.ศ.2004 ได้ย้ายถิ่นฐานและมีชีวิตที่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากโครงการในพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

“ผมไม่ได้รู้สึกแปลกใจเลย เพราะตั้งแต่ผมได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตคูเวตประจำประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ริเริ่มหลายโครงการทั่วประเทศเป็นตัวอย่างก่อนหน้านี้แล้ว

มูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินหลายโครงการเพื่อที่จะบรรเทาทุกข์ของคนในพื้นที่ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกได้ถึง ‘พลังของคนไทย’ (Thai Spirit) ที่เต็มไปด้วยความใจสู้ แม้ว่าจะเจออุปสรรคที่หนักแค่ไหนก็ตาม ก็สามารถส่งรอยยิ้มให้กันได้ โดยไม่คิดที่จะยอมแพ้ สิ่งนี้ได้กลายเป็นบทเรียนอีกอย่างหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ นั่นคือการไม่ยอมแพ้ ทุกคนควรมีความมุ่งมั่นในการทำงาน และไม่มีอะไรที่ยากเกินกว่าความสามารถของเราเอง” เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทยกล่าวและว่า

“นอกจากนี้ผมคิดว่าเราควรสนับสนุนการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ของประชาชน และควรส่งต่อ ‘Thai Spirit’ ให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย”

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายอับดุลเลาะห์ ญุมอะห์ อับดุลเลาะห์ อัลชัรฮาน เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image