ศูนย์ฝึกอบรม ‘ออทิสติก’ สร้างอาชีพ ผสานความภูมิใจ ยกระดับพลเมือง ‘ออทิสติก’

ศูนย์ฝึกอบรม ‘ออทิสติก’ สร้างอาชีพ ผสานความภูมิใจ ยกระดับพลเมือง ‘ออทิสติก’

 

“เด็กพิเศษ” คำที่ใครหลายคนคิดถึง คนที่ไม่ชอบสบตา พูดช้า ทำอะไรซ้ำๆ เหม่อลอย เมื่อความพิการบกพร่องทางด้านสมอง ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งการเคลื่อนไหว การเรียนรู้ การสื่อสารและเข้าสังคม แต่ในอีกแง่หนึ่ง บุคคลออทิสติกเหล่านี้ก็มีความพิเศษในตัวเอง ทั้งความสามารถ และจิตใจ ที่ไม่แพ้ใคร

เพียงแต่คนเหล่านี้ ยังขาดโอกาสในสังคม ที่จะก้าวยืนอย่างมั่นคงด้วยตัวเอง

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมด้วยมูลนิธิออทิสติกไทย ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้เข้าไปร่วมส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มคนเปราะบางกลุ่มนี้ ให้สามารถช่วยเหลือตัวเอง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้

Advertisement

เป็นที่มาให้ 8 ปีที่แล้ว กลุ่มทรูได้เสนอออทิสติก แอพพลิเคชั่น ใช้เสริมทักษะทั้งการเคลื่อนไหว พัฒนากล้ามเนื้อ และการสื่อสาร การเข้าสังคม ไปจนถึงการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน เช่น การฝึกผสมคำต่างๆ ขยายสู่ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก ที่ได้ฝึกฝนตั้งแต่งานสำนักงาน งานศิลปะ ออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการเป็นบาริสต้า ในร้านกาแฟต้นแบบ ฟอร์ ออล คอฟฟี่

โดยคณะทำงานจัดพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก ณ มูลนิธิออทิสติกไทย เนื่องในวันรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะออทิสซึ่ม

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย เผยว่า ปัจจุบันจำนวนบุคคลออทิสติกในไทยมีจำนวนกว่า 3 แสนคน แต่มีผู้จดทะเบียนในระบบเพียงหมื่นกว่าคน สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้แค่ 200 คนเท่านั้น และยังมีแนวโน้มว่าทั้งโลกนี้จะมีผู้เป็นออทิสติกเพิ่มมากขึ้น ยิ่งขาดผู้ปกครองคอยดูแลด้วยแล้วยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ การฝึกอาชีพให้เขาดูแลตัวเองได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ศูนย์ฝึกอบรมแห่งใหม่นี้ มีการเปิดหลักสูตรอบรมทั้งทักษะอาชีพ ควบคู่กับสังคม ปรับให้เหมาะสมตามความต้องการของผู้เรียนและสถานประกอบการ ทั้งยังส่งไปฝึกงาน เพื่อให้มีรายได้ของตัวเอง ไม่เป็นภาระครอบครัว

Advertisement

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยว่า กว่า 8 ปี ที่เราได้ร่วมมือสนับสนุนมูลนิธิออทิสติกไทย ในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนพิเศษในด้านต่างๆ ให้สามารถดำรงชีวิตร่วมกับคนปกติได้ โดยเฉพาะเราตั้งปณิธานว่าจะทำให้เทคโนโลยี เข้ามาเติมเต็มชีวิตของคน ยิ่งกับคนที่ไม่มีโอกาสเท่าคนอื่น ยิ่งต้องการเทคโนโลยี หากใช้ถูกเงื่อนไขและเวลา จะทำให้เป็นไปในทางที่ดี พัฒนาศักยภาพของเขาได้

“ดีใจที่ได้เห็นว่าแอพพลิเคชั่นเพื่อบุคคลออทิสติกที่เราได้ผลิตขึ้นมานั้น ทำให้เขาสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ เรียกแม่คำแรกขึ้นมาได้ ได้สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวในแน่นแฟ้น ได้ผลักดันศักยภาพของเด็กออทิสติก ในส่วนของศูนย์ฝึกอาชีพนี้ ไม่เพียงแต่อยากให้เขาได้ใช้องค์ความรู้ยืนด้วยตัวเอง แต่อยากให้ผู้ปกครอง ได้เข้าใจสมาชิกครอบครัวด้วย ซึ่งความตระหนักรู้นี้จะเปลี่ยนชีวิต เป็นแรงบันดาลใจสังคมโดยรวม” ศุภชัยเผย

เมื่อก้าวเข้าสู่ศูนย์ฝึกอบรมแห่งนี้ เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะได้ผ่านการวิเคราะห์ โดยครูสัมฤทธิ์ เพิ่มสุวรรณเจริญ นักจิตวิทยาและพัฒนาการ เพื่อประเมินว่าเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แค่ไหน ก่อนได้เลือกก้าวต่อสู่สิ่งที่เขาเหล่านั้นสนใจ

ครูสัมฤทธิ์เผยว่า เมื่อบุคคลออทิสติกเข้ามา เราจะประเมินเขาผ่านงานศิลปะ หรือภาพแมนดาลา ภาพที่ไม่มีความหมายแต่มีจุดศูนย์กลาง เปรียบเหมือนตัวของพวกเขา ซึ่งจะบอกความรู้สึก หรือความคิดของเขาได้ เช่นเดียวกับผู้ปกครองที่เราให้เขาระบายสีรูปไปพร้อมกันกับเด็ก เพื่อรับรู้ว่าในใจของพวกเขามีอะไร จากนั้นจึงวิเคราะห์ผ่านแบบประเมินที่จัดไว้ 3 ขั้น หากอยู่ในขั้นที่ 3 คือช่วยเหลือตัวเองได้ รู้เรื่อง เราก็พร้อมส่งเขาไปห้องเรียนอื่นต่อ ฝึกงานให้ครูประเมินได้ทันที ตามแต่สิ่งที่เขาสนใจ แต่ถ้าอยู่ในขั้น 1-2 เราก็จะค่อยๆ สอนและแก้ไขปัญหาเขาไปทีละจุด จนกว่าจะทำได้ครบ

สำหรับทักษะของบุคคล ออทิสติกที่แสดงให้เห็นว่าสามารถทำงานได้นั้น ครูสัมฤทธิ์เผยว่า หลักๆ คือต้องสื่อสารกับคนอื่นได้ รู้จักเข้าสังคม ไม่หลบสายตา พฤติกรรมเหล่านี้สามารถปรับได้โดยเริ่มจากการพูดคุยกับผู้ปกครอง ว่าเขาเคยผ่านอะไรมาบ้าง เรียนที่ไหน และค่อยๆออกแบบกิจกรรม พยายามดูแลเขาเหมือนเขาเป็นผู้ใหญ่ เพราะเขาโตแล้ว มีความคิด ต้องมีกฎชัดเจน หากทำผิดต้องถูกลงโทษ แต่เป็นรูปแบบที่ไม่ใช้ความรุนแรง เขาจะรู้ว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ รวมถึงฝึกให้อยู่กับเพื่อนๆ มองคนอื่นเป็นเพื่อน ซึ่งผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในเรื่องนี้

ผลงาน
ภาพแมนดาล่า
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
สัมฤทธิ์ เพิ่มสุวรรณเจริญ นักจิตวิทยาและพัฒนาการ

และ 1 ในห้องที่บุคคลออทิสติก เลือกจะเรียนรู้คือ ห้องฝึกอาชีพงานสำนักงานและงานเอกสาร ที่สตรีรัตน์ สว่างวงษ์ ครูประจำห้อง เล่าว่า หลังจากที่ผ่านการเรียนพิมพ์ดีดรวมไปถึงโปรแกรมตัดต่อภาพวิดีโอมาแล้ว ที่ห้องนี้ทุกคนจะได้จำลองการทำงานจริง เริ่มจากประชุมแผนงานด้วยกันตอนเช้า เพื่อเรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม ก่อนหมุนเวียนไปทำงาน ทั้งงานเอกสาร จดหมาย ติดต่อประสานงาน สรุปการประชุม บางคนก็จะเป็นคนถ่ายภาพงานต่างๆของมูลนิธิและนำมาตัดต่อเพื่อเผยแพร่ ก่อนที่ในช่วงเย็นจะต้องสรุปงานที่ทำให้เป็นระบบและประชุมอีกครั้ง นอกจากทักษะแล้วก็ยังฝึกมารยาท โดยมีกติกาในการทำงานร่วมกัน เป็นการเรียนรู้สถานการณ์จริง ก่อนที่เขาจะออกไปทำงาน

และมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ สร้างรายได้ดูแลตัวเองได้ ยิ่งกว่านั้นคือความภาคภูมิใจเช่น กล้า สัณฑกร ชาติพาณิชย์ วัย 22 ปี เล่าว่า ความฝันวัยเด็กของผม คืออยากออกแบบเกม จึงได้เริ่มเรียนวาดรูปตั้งแต่เด็ก เรียนไปก็ชอบในศิลปะ พอมาอยู่ที่ศูนย์ ก็ได้หัดหลายอย่าง ชงกาแฟตามสูตรบ้าง แต่ชอบศิลปะที่สุด ก็ได้มาทำงานในห้องสกรีน ออกแบบกระเป๋า ผ้าพันคอ หมวก เป็นลายต่างๆ หาเงินได้เอง ผมก็ดีใจ เวลาที่เงินเดือนเข้าก็จะเอาให้คุณแม่ แม่บอกว่าเงินนี้ปันส่วนหนึ่งส่งให้น้องเรียน ก็รู้สึกภูมิใจมาก

ขณะที่คุณแม่ ภาสินี ชาติพานิชย์ เผยว่า เมื่อได้มาอยู่ที่นี่ เขาได้ฝึกอาชีพ ได้มีผลงานเป็นของตัวเองและได้ไปฮ่องกงแสดงผลงาน นอกจากนี้เขายังปรับเปลี่ยนนิสัยไปมาก มีความคิดเป็นของตัวเอง ทำให้แม่ภูมิใจมาก ในทุกวันแม่จะบอกเขาว่าเขาส่งน้องเรียนนะ ให้เขารู้สึกมีคุณค่า จากที่แต่ก่อนอาจโดนเพื่อนล้อต่างๆนาๆ การจะเลี้ยงลูกออทิสติก สิ่งสำคัญก็คือครอบครัว ต้องมีเวลาให้เขา เรียนรู้ไปกับเขา เมื่อได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของลูก จะทำให้เรามีความสุขขึ้นไปด้วย

เพื่อความอบอุ่นในครอบครัว

ร้านกาแฟ
เรียนพิมพ์ดีด
ห้องสกรีน
สตรีรัตน์ สว่างวงษ์ ครูประจำห้อง
สัณฑกร ชาติพาณิชย์ และแม่
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image