ไอคอนสยาม จัดงาน ‘The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM’ เชิดชูคุณค่าปลากัด

ปลากัดลายธงชาติ

ไอคอนสยาม จัดงาน “ The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” เชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่าของปลากัดไทยในฐานะสัตว์น้ำประจำชาติ 19 – 23 เมษายน 2562 ณ ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร

ไอคอนสยาม อภิมหาโครงการเมืองแห่งการใช้ชีวิตสู่โลกอนาคต สัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับ กรมประมง กระทวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), Optimum Betta, ไปรษณีย์ไทย, ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาปลากัดพื้นบ้าน และฟาร์มเพาะและพัฒนาพันธุ์ปลากัดสวยงาม Glodenbetta  ร่วม เชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่าของปลากัดไทยในฐานะสัตว์น้ำประจำชาติ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ในงาน “The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” (ดิ ไอคอนิค ไซมีส ไฟท์ติ้ง ฟิช แอท ไอคอนสยาม) แสดงพันธุ์ปลากัดไทย ที่เป็นต้นกำเนิดของปลากัดทุกสายพันธุ์ พร้อมสายพันธุ์ปลากัดที่พบในภาคต่างๆ ของประเทศไทย และปลากัดสวยงามที่แปลกและหาชมได้ยาก จำนวนกว่า 500 ตัว ซึ่งล้วนแล้วเป็นสายพันธุ์ปลากัดที่มีการพัฒนาทางด้านพันธุกรรมมาจากปลากัดไทยที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens และมีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish รวมทั้งจัดงานเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับปลากัดในเชิงการค้าและการต่อยอดธุรกิจ ระหว่างวันนี้ – วันที่ 23 เมษายน 2562 ณ เจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร

นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า “ไอคอนสยามมีปณิธานที่จะเชิดชูเรื่องราวอันมีคุณค่า และเป็นความภาคภูมิใจจากทุกมิติของความเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยมามากกว่า 100 ปี โดยนำเสนอเรื่องราวความเป็นไทยที่มีคุณค่าให้แก่ประเทศ และช่วยกันเผยแพร่และสืบทอดเรื่องราวดีๆ ให้คนไทยและทั่วโลก จึงได้จัดงาน “The ICONIC Siamese Fighting Fish at ICONSIAM” ขึ้น เพื่อร่วมเชิดชูปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ (ICONIC) ประจำชาติ โดยนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการให้ความรู้ ได้แก่ การผลักดันให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ, ถิ่นที่อยู่ของปลากัด, ความรู้เกี่ยวกับปลากัดและปลากัดสายพันธุ์ต่างๆ และการต่อยอดภาพลักษณ์ของปลากัดในเชิงการค้า ในเชิงธุรกิจ เพื่อเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับปลากัดนานาพันธุ์ ให้ประชาชนที่สนใจและกลุ่มคนรักปลากัด ตลอดจนผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ปลาได้มาเรียนรู้พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน”

ผู้บริหาร
ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง

 ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กระทวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “ปลากัด เป็นปลาน้ำจืดประจำถิ่นของประเทศไทยมาแต่โบราณ โดยทางประวัติศาสตร์นั้นมีทั้งหลักฐานและเอกสารที่พบว่า คนไทยเลี้ยงปลากัดมาเนิ่นนาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 มีการบันทึกเรื่องราวของปลากัดในกฎหมายตราสามดวง รัชกาลที่ 2 มีบันทึกไว้ในบทละครเรื่องอิเหนา รัชกาลที่ 3 ได้มอบปลากัดให้เป็นของขวัญเป็นตัวแทนระลึกจากไทย ซึ่งต่อมามีการจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2453 ว่า Betta splendens ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5  จากหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ว่า ตัวอย่างปลากัดที่นำมาจำแนกตามหลักอนุกรมวิธานเป็นตัวอย่างที่เก็บมาจากลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพ ฯ จึงเป็นการแสดงถึงความเป็นเจ้าของและถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นของประเทศไทยนั้นเอง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ 3 มิติ ทั้ง

Advertisement
  • ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เนื่องจากคนไทยรู้จัก คุ้นเคย และมีความผูกพันกับปลากัดมาตั้งแต่โบราณ
  • ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปลากัดไทย ที่เสนอให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ มีชื่อว่า Betta splendens ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และได้รับการยอมรับในระดับสากลมากกว่า 100 ประเทศ
  • ด้านประโยชน์ใช้สอย โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนําไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ”
ประติมากรรมน้ำแข็งแกะสลักรูปปลากัด
ชานนทร์ โควสุภัทร แฟนพันธุ์แท้ปลากัด

ภายในงานพบกับไฮไลท์ ประติมากรรมน้ำแข็งแกะสลักรูปปลากัด  โดยทีมช่างแกะสลักน้ำแข็งคนไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในงาน “International Snow Sculpture ครั้งที่ 46 ปี 2562” ณ เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น  การจัดแสดงพันธุ์ปลากัดไทย ที่เป็นต้นกำเนิดของปลากัดทุกสายพันธุ์ ด้วยความสามารถของเกษตรกรไทยในการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดสวยงามที่แปลกและหาชมได้ยาก จำนวนกว่า 500 ตัว อาทิ ปลากัดสีทอง ปลากัดลายธงชาติ, ปลากัดโพนี, ปลากัดกาแล็กซี่สตาร์, ปลากัดมังกร, ปลากัดอสูร ฯลฯ

การแสดงสายพันธุ์ปลากัดที่พบในภาคต่างๆของประเทศไทย ได้แก่ ปลากัดภาคกลาง, ปลากัดภาคอีสาน, ปลากัดภาคใต้, ปลากัดมหาชัย ซึ่งพบได้ในประเทศไทยที่เดียว และ ปลากัดภาคตะวันออก นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของ “ปลากัดไทย” กับ การประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ และผลิตภัณฑ์ที่นำเอาปลากัดมาสร้างสรรค์และการต่อยอดทางธุรกิจ อาทิ โทรศัพท์มือถือ iPhone 6S ที่นำปลากัดไทยโกอินเตอร์ออกสู่สายตาชาวโลก, Srichand x ASAVA เครื่องสำอางค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสีสันของปลากัด, Betta Paradiso หนังสือภาพถ่ายปลากัดของ วิศรุต อังคทะวานิช, ผลงานมาสเตอร์พีซปลากัดที่รังสรรค์จากไม้ไผ่โดย กรกต อารมย์ดี นักออกแบบผู้สร้างงานจากเทคนิคการทำว่าว, ชุดราตรีผลงานของไทยดีไซเนอร์ อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ หรือ โจ้ Surface ที่ออกแบบให้กับผู้เข้าประกวด Miss International Queen 2019 และ Papercraft ศิลปะจากงานตัดกระดาษโดย Pitoon Paper Artist

Advertisement
ปลากัดภาคกลาง หรือ Betta Splendens
ปลากัดสีทอง
ปลากัดโค่ยไทเกอร์

 พลาดไม่ได้กับงานเสวนาและกิจกรรมเวิร์คช็อปให้ความรู้เกี่ยวกับปลากัด อาทิ งานเสวนาหัวข้อ ”จากปลากัดพื้นบ้าน สู่การเพาะพัฒนาสายพันธุ์ใหม่”, งานเสวนาเรื่อง “การต่อยอดปลากัดไทยในเชิงธุรกิจ”,งานเสวนา “ปลากัดสมบัติชาติและความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทย”, เวิร์คช็อปจัดตู้ไม้น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด และเวิร์คช็อปเทคนิคการถ่ายภาพปลากัด เป็นต้น โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมฟรี ระหว่างวันนี้ – วันที่ 23 เมษายน 2562 ณ บริเวณเจริญนครฮอลล์ ชั้น M ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-495-7080 หรือ www.iconsiam.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image