พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของลูก จิตแพทย์แนะ ‘รักอย่างเข้าใจ’ เสริมพัฒนาการลูก ‘ตามช่วงวัย’

เสริมพัฒนาการลูก

พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของลูก จิตแพทย์แนะ ‘รักอย่างเข้าใจ’ เสริมพัฒนาการลูก ‘ตามช่วงวัย’

เสริมพัฒนาการลูก – เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยนั้นมีการพัฒนาด้านบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไป หากผู้ปกครองมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม

ล่าสุด เพลย์สแควร์ เลเซอร์ แท็ก (Playsquare Laser Tag) สนามเด็กเล่นใจกลางเมือง เชิญ พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช มาร่วมแนะนำเคล็ดลับการดูแลเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัย และกิจกรรมกระชับความอบอุ่นภายในครอบครัว ณ เพลย์สแควร์ เลเซอร์ แท็ก ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 2

พญ.ดุจฤดี เผยว่า พฤติกรรมของเด็กจะเริ่มแสดงออกอย่างเด่นชัดในวัย 3 ขวบ หรือที่เรียกกันว่า “วัยเตาะแตะ” พ่อแม่ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่น ให้อิสระลูกในการวิ่งเล่นสำรวจสิ่งต่างๆ ภายใต้การดูแลของพ่อแม่อย่างใกล้ชิด และไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นหรือทำกิจกรรมใดๆ เพียงลำพัง จนทำให้เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว หรือถูกทอดทิ้ง เพราะในช่วงนี้สามารถทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวลจากการพรากจากได้ (Separation anxiety)

Advertisement

ถัดมาที่วัย 3-5 ขวบ เป็นวัยก่อนเข้าโรงเรียน เด็กๆ เริ่มมีจินตนาการเล่นบทบาทสมมุติ มีพัฒนาทางด้านร่างกายมากขึ้นทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่จากการลุก นั่ง เดิน และวิ่งเล่น และกล้ามเนื้อมัดเล็กจากการเล่นพวกการปั้นดินน้ำมัน เล่นของเล่น หยิบจับ ในช่วงวัยนี้พ่อแม่สามารถส่งเสริมในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กได้ ผ่านกิจกรรมเล่านิทานให้ฟังก่อนนอน หรือคอยสอนเด็กๆ อยู่เสมอ

วัย 5 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่เริ่มเข้าชั้นเรียน มีการพัฒนาด้านสมองผ่านการเรียนรู้ในห้องเรียน ทั้งด้านภาษา สมาธิ รวมทั้งพัฒนาการด้านร่างกายผ่านการวิ่งเล่น ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมในชั้นเรียน พ่อแม่สามารถส่งเสริมเรื่องระเบียบวินัย ผ่านกิจกรรมที่ทำภายในบ้านด้วยการมอบหมายให้ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง หรือช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน รวมทั้งเสริมกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เข้าสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเด็กติดพ่อแม่จนเกินไป

Advertisement

ปิดท้ายที่ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป หรือ “เข้าสู่วัยรุ่น” เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางร่างกายทั้งชายและหญิง ในวัยนี้พ่อแม่ควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะเด็กมักจะมีคำถามและไม่กล้าถามตรงๆ จึงเกิดเป็นความอยากรู้อยากลอง จึงควรทำความเข้าใจและสอนบทบาทของหน้าที่ทางเพศให้เด็กเข้าใจ และคอยส่งเสริมการทำกิจกรรมที่เด็กรู้สึกสนใจ ไม่ว่าจะด้านศิลปะ วิทยาการ หรือกีฬา โดยไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สนใจ ตลอดจนไม่ควรควบคุมหรือบีบบังคับมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดได้

อย่างไรก็ตาม การดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันของลูกเมื่อโตขึ้น โดยพ่อแม่ต้องพยายามปรับความเข้าใจกับลูกเสมอว่า แต่ละช่วงวัยเด็กมีพฤติกรรมแบบไหน ควรดูแล ส่งเสริม และห้ามปรามเขาอย่างไร และสิ่งสำคัญคือการสนับสนุนลูกในทางที่ดี พ่อแม่ไม่ควรคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของลูกและบังคับให้ลูกทำตามความต้องการของตัวเอง เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ สบายใจ เวลามีปัญหาก็จะกล้าที่จะปรึกษาพ่อแม่มากขึ้น รวมไปถึงการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก เพราะเด็กสามารถเรียนรู้และซึมซับได้จากคนใกล้ชิด

แพทย์หญิงดุจฤดี อภิวงศ์

รักลูกอย่างเข้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image