100 ไอเดียสุดว้าว เมดอิน ‘เจแปน’

“เมดอินเจแปน” ไม่ว่าจะประทับตราอยู่บนสินค้าใด นอกจากจะมีดีไซน์ที่สวยเก๋ ยังเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นอีกด้วย

เป็นที่มาให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จับมือกับ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ เปิดตัวนิทรรศการ “ออกแบบ แบบญี่ปุ่น” นำสุดยอดงานดีไซน์ 100 ชิ้น ที่สะท้อนแนวคิดของดีไซเนอร์ญี่ปุ่น ที่เดินทางไปทั่วโลกนับ 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และฟินแลนด์มาให้ประชาชนได้ชมฟรี โดยได้ อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกลผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โนริฮิโกะโยชิโอกะ ผู้อำนวยการบริหารเจแปนฟาวน์เดชั่นกรุงเทพฯ และ ชิเกคิ โคบายาชิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมงาน

เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องนิทรรศการจะได้เห็นงานดีไซน์ทั้ง 100 ชิ้น แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตั้งแต่ยุคคลาสสิก เช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้า สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2498 ซึ่งเป็นการปฏิวัติวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ลดขั้นตอนการหุงข้าวแบบเดิมให้ง่ายขึ้น พัฒนาต่อมาเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ, กล้องนิคอน เอฟ สร้างขึ้นในปี 2502 ผลงานของศิลปินผู้ออกแบบโลโก้งานโอซาก้า เอ็กซ์โป

นอกจากนั้นยังมีงานดีไซน์สมัยใหม่ ที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์สะดวกขึ้น อย่างกรรไกรตัดแต่งกิ่ง ที่ดูธรรมดาแต่ครองใจคนนับสี่สิบปีแล้ว, โคมไฟที่ทำจากกระดาษพับได้ของอิซเซ่มิยาเกะ, ที่เปิดขวด พระจันทร์เสี้ยวและสุริยุปราคา, ที่ปิดฝาซึ่งเปลี่ยนสีได้ตามความร้อนเย็น, กระเป๋าจากหนังสือพิมพ์ชิมันโตะ, เสื้อโค้ตบ้านหลังสุดท้าย ที่เต็มไปด้วยซิปเพื่อเก็บของยามฉุกเฉิน

Advertisement

Advertisement

ทรงวาด สุขเมืองมา ภัณฑารักษ์อาวุโส ที่พาเที่ยวชมงานครั้งนี้ ยังได้เล่าด้วยว่า งานออกแบบญี่ปุ่นอาจไม่ดูหวือหวา แต่ที่จริงซับซ้อนตั้งแต่ความคิดในการออกแบบนั้นแล้ว แต่ละชิ้นมักจะนำนักออกแบบรุ่นใหม่ กับช่างแต่ละท้องถิ่น มาคิดงานร่วมกัน ทำให้ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ไม่เชย ยังบอกเอกลักษณ์ท้องถิ่นได้ดี ทั้งยังพัฒนาอยู่เสมอ สิ่งที่ทำให้งานดีไซน์ยังคลาสสิก เพราะ 1.ความใส่ใจ กับสภาพแวดล้อมการใช้งานต่างๆ 2.เพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ ต้องใช้ได้จริงและดีที่สุด 3.เชื่อมต่อกับโลกข้างนอก ร่วมสมัยและไม่ทิ้งวิถีเดิม ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ว่างานจะผสานเทคโนโลยีใด ก็ยังมีความเป็นจารีตญี่ปุ่นอยู่

ปิดท้ายด้วย ธนิษฐ์ วชิระปราการสกุล ผู้ก่อตั้งโมสตูดิโอ สตูดิโอออกแบบงานกระดาษชื่อดัง เผยว่า ประเทศญี่ปุ่นนับได้ว่ามีการแข่งขันกันสูง ทำให้ต้องผลิตมาก เมื่อจะผลิตให้ขายได้ก็ต้องเน้นไปที่คน ไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ทำให้แต่ละชิ้นมันส่งผลกระทบวงกว้าง นอกจากนี้งานดีไซน์ของคนญี่ปุ่น ยังเน้นความคิดที่ว่า ความจีรังไม่จีรัง มักจะใช้วัสดุที่สูญสลายได้ตามกาลเวลา ไม่ใช้สารเคมี เน้นธรรมชาติ เข้ากับบรรยากาศรอบข้าง และยังบอกกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังคิดเรื่องงานดีไซน์ได้ว่า หากจะออกแบบอะไร ควรจะใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียว นั่นจะทำให้ของอยู่ได้นาน

จุดประกายไอเดีย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image