มองผ้าไทยในมุมใหม่ สู่การยอมรับระดับสากล

ผ้าไทย ที่ได้ขึ้นบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมมีมากกว่า 15 รายการ อาทิ ผ้าขาวม้า ผ้าแพรวา และ ผ้ามัดหมี่ โดยยังมีอีกมากมายที่ยังไม่ได้ขึ้นบัญชี สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายและเอกลักษณ์ของผ้าไทยที่โดดเด่นไปตามแต่ละพื้นที่

กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งมีพันธกิจในการอนุรักษ์ผ้าไทยจึงสานต่องานสู่การพัฒนา ต่อยอด และสืบสาน โดยนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทยมาสร้างคุณค่าทางจิตใจ เกิดความภาคภูมิใจ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ใน โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล (Taproot Thai Textiles) ซึ่งจัดแถลงข่าว ณ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน โรงละครแบงก์สยามพิฆเนศ

กิตติพร ใจบุญ รักษาราชการแทน ผอ.สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการฯได้คัดเลือกผู้ประกอบการท้องถิ่นจาก 7 ชุมชน 5 จังหวัดที่มีศักยภาพพร้อมพัฒนาสู่สากลมาทำการศึกษา อาทิ ผ้าขาวม้าอิมปานิ ราชบุรี, ผ้าไหมยีนส์ เรือนไหมใบหม่อน สุรินทร์ และ บาติก เดอ นารา ปัตตานี โดยมี มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ มาช่วยในการเก็บข้อมูล ซึ่งจากการลงพื้นที่ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจ อาทิ บางชุมชนมีคนออกแบบ มีวัสดุ แต่ไม่มีช่างตัดเย็บ นี่จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้วงการผ้าไทยเจอทางตัน ต้องช่วยกันหาทางไปต่อ และคาดหวังให้ผ้าไทยเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากใส่ ตลอดจนสามารถเปิดตลาดในระดับสากล เพราะการใช้งานคือการอนุรักษ์ผ้าไทยได้ดีที่สุด

ภายในงาน วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เจ้าของแบรนด์ วิชระวิชญ์ (WISHARAWISH) ที่เชี่ยวชาญในเรื่องผ้าไทยมาเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับการออกแบบผ้าไทย

Advertisement

วิชระวิชญ์ กล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการผลักดันผ้าไทยออกสู่สากลคือการทำให้ทุกคนเชื่อว่าเราทำได้ และการออกแบบผ้าไทยให้สนุกคือเลิกมองว่านี่คือผ้าไทย แต่คือวัสดุที่ล้ำค่า โดยเขาเปรียบตัวเองเป็นพ่อครัวในห้องอาหาร ถ้าวัตถุดิบดีอยู่แล้วก็ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก เช่น ผ้าบาติกที่เน้นการวาดลาย ปกติจะเห็นลายเล็กๆ เช่น กุ้งหอยปูปลา ก็แนะนำไปว่าไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่ชอบการถ่ายรูป เสื้อผ้าต้องมีลายที่ใหญ่ขึ้นถึงจะถ่ายออกมาสวย ซึ่งหลังจากที่นำผลงานในโครงการไปโชว์ในโตเกียว แฟชั่นวีก ก็มีผู้ประกอบการญี่ปุ่นออเดอร์มาด้วยเขาจะนำไปตัดกิโมโน และฝรั่งเศสก็สั่งผลิตไปตัดเป็นชุดคลุมใช้ในโรงแรม ส่วนทางจีนจะชื่นชอบผ้าขาวม้าของอิมปานิที่มีการปรับคู่สีและลวดลายใหม่ ไม่ได้มีเพียงลายตารางหมากรุก และคู่สีก็สดใสขึ้น

ขณะเดียวกัน ผ้าไหมยีนส์ จากเรือนไหมใบหม่อน ก็น่าสนใจ เพราะเป็นผ้าไหมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ให้สัมผัสเหมือนยีนส์ซึ่งเกิดจากเทคนิคการถักทอแบบพิเศษ และสามารถซักเครื่องได้ ตรงนี้ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่มาก เพราะดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องรีด

ในคอลเล็กชั่นที่ออกแบบร่วมกันกับทั้ง 7 ผู้ประกอบการจะใช้ชื่อว่า “จากแดนไกล” สื่อถึงการเชื่อมโยงวัฒนธรรมผ้าไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะเน้น “เสื้อคลุม” เป็นหลักเพราะเป็นชิ้นที่สามารถหยิบมาใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ในหลายๆ โอกาส

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image