บ้านกาญจนาภิเษกโมเดล ซ่อม “เยาวชนก้าวพลาด”

กิจกรรมงานวันสู่เหย้า และ คืนวันสันติภาพ ภาพจากเฟซบุ๊ก ทิชา ณ นคร

บ้านกาญจนาภิเษกโมเดล ซ่อม “เยาวชนก้าวพลาด”

ประเทศไทยมีผู้บริหารภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเป็นจำนวนมาก นอกจากเรื่องบริหารจัดการองค์กรตัวเองสู่ความเป็นเลิศที่ต้องรู้ให้มากแล้ว จะดีแค่ไหนหากพวกเขาได้รับรู้ถึงสถานการณ์สังคมไทย เข้าใจ และหาหนทางร่วมแก้ไปด้วยกัน โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดจนต้องติดคุกเด็ก อย่างในหลักสูตร RoLD Program จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือทีไอเจ ที่นำผู้บริหารภาครัฐ องค์กรอิสระ และเอกชน รวม 45 คน มาเรียนรู้หลักนิติธรรมและการพัฒนาสังคม เปิดดำเนินมาเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งมีกิจกรรมพาผู้ศึกษาไปดูงานที่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม

นางทิชา ณ นคร หรือป้ามล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า บ้านกาญจนาภิเษกเป็นหนึ่งใน 19 คุกเด็กของไทย แต่แตกต่างตั้งแต่การบริหารจัดการ ที่จ้างคนนอกราชการมาบริหารคือตน อีกทั้งใช้วิธีการควบคุมดูแลต่ำ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่มีการใช้อำนาจ ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน แม้เด็กที่เข้ามาที่นี่จะเป็นที่เคยกระทำผิดร้ายแรงมาก่อน และส่งต่อมาจากคุกเด็กที่อื่นอีกที แต่เราก็พยายามใส่ใจหาตัวตนด้านสว่าง ด้วยการรับฟังและมีกิจกรรมที่จะสร้างคุณค่า สร้างความคิดให้เขา ทำให้เด็กหลายคนออกไปแล้วมีชีวิตที่ดี มีเพียงร้อยละ 3 ที่ออกไปกระทำผิดซ้ำ ประการหนึ่งคือ เขากลับไปเจอสิ่งแวดล้อมเดิมๆ

“จากการทำงานกับเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดมา 16 ปี เราค้นพบสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเป็นแบบนี้ 3 ประเด็น คือ

1.สภาพครอบครัว ที่ผู้ปกครองไม่พูดคุยกับเด็กแม้แต่เรื่องเล็กๆ ไม่ใส่ใจดูแล รัฐเองก็ไม่ได้สนับสนุนหรือสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กเท่าที่ควร

Advertisement

2.ทุนนิยม เราพบว่าเด็กทุกคนเข้าถึงความฟุ่มเฟือย แต่พวกเขาไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้ถูกหลอกได้ง่าย เช่น เด็กผู้หญิงก็ยอมโป๊เปลือยเพื่อแลกเงิน เด็กผู้ชายก็ปล้นชิงวิ่งราว

และ 3.หลุดจากระบบการศึกษา ถือเป็นสาเหตุสำคัญของเยาวชนที่เข้าคุกเด็ก ซึ่งแต่ละปีมีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาหลักหมื่นถึงแสนคน เมื่อเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามารวมตัวกัน หรือเรียกว่า “วันรวมเทพ” พวกเขาก็ออกไปก่ออาชญากรรมเพื่อความสะใจ และอยากได้การยอมรับจากเพื่อน เหล่านี้สะท้อนชัดว่าพวกเขาไม่ได้เกิดมาเพื่ออยากเป็นอาชญากร แต่เพราะมีปัจจัยร่วมที่เราต่างต้องช่วยกันแก้ไข” นางทิชากล่าว

Advertisement
ทิชา ปฐมนิเทศ ผู้เข้าศึกษาดูงาน
นางทิชา ณ นคร

 

หลังจากบรรยายผลการดำเนินงานบ้านกาญจนาภิเษก ป้ามลยังฝากถึงผู้บริหารที่มาเรียนในหลักสูตร RoLD Program อยากให้มองเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดอย่างเข้าใจ หากมีโอกาสได้ตัดสินใจเชิงนโยบาย จะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และช่วยคืนเด็กสู่สังคม ซึ่งได้ผลอย่างมาก เพราะผู้บริหารจากภาคส่วนต่างๆ ให้ความสนใจ หลายคนยอมรับว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน และอยากให้บ้านกาญจนาภิเษกโมเดล ขยายไปยังคุกเด็กอื่นๆ รวมถึงเรือนจำในประเทศไทย ที่ควรเริ่มผลักดันเรื่องเรือนจำที่บริหารโดยเอกชน

นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยแววตาเปล่งประกายว่า งานที่ทำอยู่สัมผัสกับกระบวนการยุติธรรมเพียงผิวเผิน คิดว่าเรือนจำจะเหมือนกันหมดทั้งประเทศ กระทั่งหลักสูตรนี้ได้พาตนและคณะมาลงลึก ทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ ว่าการควบคุมแบบซอฟต์พาวเวอร์ ที่ให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรี คุณค่าความเป็นมนุษย์ มีวิธีการที่ดี แม้อาจเสี่ยงในขั้นตอนการดำเนินการบ้าง แต่ก็ให้ผลลัพธ์ที่ดี ตนจึงรู้สึกเห็นด้วยกับการดำเนินงานของบ้านกาญจนาภิเษก และอยากให้ขยายบ้านกาญจนาภิเษกไปยังสถานพินิจอื่นๆ ในการคืนเยาวชนสู่สังคม รวมถึงการให้มีกฎกระทรวงยุติธรรม ที่จะรองรับการอนุญาตเปิดเรือนจำเอกชนครั้งแรกในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ควรเริ่มต้นได้แล้ว

ขณะที่ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปตท.ได้จับมือกับกระทรวงยุติธรรม ส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษได้มีงานทำในปั๊มน้ำมัน ปตท. และร้านคาเฟ่อเมซอน หนึ่งในนั้นคือกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ฉะนั้น สิ่งที่ได้มาเห็นในวันนี้ยิ่งทำให้ตนมั่นใจมากขึ้น

“ดิฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับเยาวชนที่นี่ พบว่าน้องๆ ได้รับการดูแลด้วยการรับฟังเสียงของเด็กเยาวชนที่อยู่เป็นที่ตั้ง จากปกติที่เด็กมักรับคำสั่งจากผู้ใหญ่ พวกเขายังได้รับการเอ็มพาวเวอร์ สามารถตัดสินใจอะไรได้เอง ทั้งเรื่องการแต่งตัว ทรงผม จินตนาการ ตลอดจนได้ฝึกฝนวิชาชีวิต ก็เชื่อว่าผู้บริหารจากภาคส่วนต่างๆ ที่มา ณ ที่นี่ จะเปลี่ยนความคิด ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ร่วมกันคิดธุรกิจเชิงใหม่เพื่อสังคมต่อไป” นางสาวจิราพรกล่าว

สังคมโต เศรษฐกิจก็โต

ให้ผู้เข้ารับการดูงาน ได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด แต่กลับตัวกลับใจได้แล้ว
กิจกรรมดูภาพยนตร์ให้เยาวชนได้แสดงทัศนะ
นายพรพจน์ เพ็ญพาส
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image