‘การเมือง’ ไม่ใช่แค่เรื่องผู้ใหญ่ เมื่อวัยรุ่น ขอพูดถึงบ้านเมือง ผ่านโซเชียล

ปรากฏการณ์ “การเมืองของคนรุ่นใหม่” กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วประเทศไม่น้อย เมื่อในช่วงไม่กี่เดือน ก่อนและหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นเรื่องบ้านเมือง ผ่านสังคมออนไลน์ สะท้อนผ่านคะแนนเสียงของบางพรรค ที่ดูจะสอดคล้องในทางเดียวกัน

ไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง ชาวเน็ตไทยผุดแฮชแท็กในทวิตเตอร์รัวๆ รีทวิตหรือการแชร์ข้อความของทวิตเตอร์แต่ละแฮชแท็กเป็นแสนครั้ง ไม่ว่าจะเป็น #ฟ้ารักพ่อ #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง #เลือกตั้ง62 #เลือกตั้งล่วงหน้า ส่งเสียงให้ผู้ใหญ่ต้องหันกลับมามองเสียงเหล่านี้

แน่นอนว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยต่างลุกขึ้นมาสนใจวัยรุ่นกลุ่มนี้

Advertisement

จากรายงานของ We Are Social รายงานว่าประเทศไทยติดอันดับการใช้เวลาในอินเตอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาที เฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ประมาณ 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน และมีอัตราการเข้าอินเตอร์เน็ตทุกวันถึงร้อยละ 90 เป็นเวลาเกือบครึ่งหนึ่ง ที่คนเรามีในแต่ละวันเลยทีเดียว และในโลกออนไลน์ก็ไม่ได้มีเพียงแต่เรื่อง “การเมือง” แต่ยังมีเรื่องการกลั่นแกล้งกัน ปัญหาอาชญากรรม แม้กระทั่งเด็กติดเกม สสส.จึงร่วมกับสำนักพิมพ์ บุ๊กสเคป จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “WHY WE POST: เข้าใจโลกใหม่ของวัยรุ่นยุควุ่นเน็ต” ถกพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของเหล่าวัยรุ่นเพื่อเข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

เกรียงไกร วชิรธรรมพร นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น เผยว่า ในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ฤติกรรมของวัยรุ่นเปลี่ยนไปไวมาก เริ่มจากการเสพสื่ออย่างโทรทัศน์ ที่เห็นได้ชัดว่าเด็กๆ เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ แต่เล่นโทรศัพท์ เปลี่ยนไปเสพสื่อผ่านยูทูบแทน เด็กๆ กดติดตามช่องในยูทูบหลายร้อยช่อง วันหนึ่งมีคลิปขึ้นให้ดูจำนวนมาก ทำให้หากคลิปวิดีโอ 15 วินาทีแรกไม่โดนใจเขาก็กดเปลี่ยนได้ทันที รายการทีวีบางรายการได้รับนิยมเพราะคนกลัวสปอยล์จากโลกออนไลน์

เกรียงไกร

ขณะที่ พรรณราย โอสถาภิรัตน์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เผยว่า ต้องเข้าใจว่าเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ไม่ได้มีแค่เว็บไซต์เดียว มีทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออื่นๆ เด็กมีความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์ในแต่ละพื้นที่ต่างกัน ในเฟซบุ๊ก เขาอาจจะมีพ่อมีแม่ และผู้ใหญ่ร่วมเล่นกับเขาเยอะ ก็จะโพสต์ข้อความที่ผ่านการคัดกรองแล้วว่าเหมาะ เพื่อไม่ให้พ่อแม่มาว่า ว่าถ้าเพื่อนของผู้ปกครองมาเห็นจะเป็นอย่างไร แต่บนทวิตเตอร์ เขาแสดงความคิดเห็นของเขาเต็มที่ รูป ชื่อ ไม่ใช่ตัวเขา เขาพูดเรื่องที่คิดได้มากกว่า ทั้งยังรู้สึกว่าคอมเมนต์ในบางเรื่องอบอุ่นกว่า บางแอพพลิเคชั่นที่ฮิตมากอย่างติ๊กต๊อก เด็กโตก็มองว่าเด็กเกินไปสำหรับเขา

Advertisement

“เห็นได้ชัดว่า เด็กมีทักษะในการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น จัดการความเสี่ยงได้ และไม่ฉาบฉวยแบบที่หลายคนคิด” พรรณรายเผย

พรรณราย
REUTERS/Thomas White/File Photo

ซึ่งบรรยากาศแบบนี้ ที่เกรียงไกรมองว่าเอื้อต่อการแสดงออก โดยว่า ทวิตเตอร์เหมือนเป็นบรรยากาศของการพูดลอยๆ เพราะเรายืนยันตัวตนกันน้อยมาก รูปอาจไม่ใช่เขาแต่นั่นคือความคิดของเขาจริงๆ เมื่อเขาชอบก็รีทวิต มันเหมือนการพูดว่า “อืม” ทั้งที่ไม่ต้องพูดเอง มันทำให้ความคิดนั้นกระจายไปไกล ในทวิตเตอร์ เขาพูดเรื่องอะไรก็ได้ที่ชีวิตจริงเขาพูดไม่ได้ อย่างการคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะอาหารที่บ้าน ผู้ปกครองก็มักจะค้านและบอกว่า เด็กมีประสบการณ์ทางการเมืองไม่เท่ากับผู้ปกครอง ถูกตัดสินตั้งแต่แรก แต่เด็กกลับมองว่าเรื่องนั้นมันล้าสมัยไปแล้ว ไปคุยเรื่องอื่นดีกว่า เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องก็ไปคุยกันในทวิตเตอร์ ยิ่งเราฟอลโลว์คนที่คิดคล้ายกัน ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีคนคิดเหมือนเรามาก นอกจากนี้ เด็กหลายคนก็ไม่อยากเหมือนพ่อแม่ ที่เอาไลน์ปลอมมาแชร์ต่อ เขาก็รู้สึกว่า ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงไม่รู้ว่าไม่จริงกัน เขาไม่ฉาบฉวยแต่รู้จักกลั่นกรอง

สอดคล้องกับ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่า ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าเด็กรุ่นใหม่เข้าไปก่อกวนความคิด และคุณค่าเดิมของผู้ใหญ่ ที่อาจยึดติด หรือมีผลประโยชน์กับกลุ่มเดิมๆ คำถามคือรัฐมองเห็นอะไร ส่วนตัวมองว่าเรื่อง อันตรายในโซเชียล ไซเบอร์บูลลี่ หรือเฮทสปีช ทั้งหมดเกิดขึ้นในโลกจริงๆก่อนอยู่ในโลกออนไลน์ เด็กรุ่นใหม่เขาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น แม้กระทั่ง พ.ร.บ.ไซเบอร์ บางคนอาจจะกลัว แต่เด็กเขาก็ปรับตัวโดยการพูดถึงอย่างไม่เอ่ยถึงตรงๆ ซึ่งหากผู้ใหญ่บางคนอยากจะรับ ก็ว่าไม่ได้ เรื่องที่เป็นความลับ เขาก็ไปคุยในแชทไลน์เฉพาะคนของเขา เห็นได้ชัดว่าเด็กรู้จักพัฒนาตัวเอง

นพ.ประวิทย์

ซึ่งวงเสวนา ปิดท้ายร่วมกันจากความคิดของ เกรียงไกรว่า “ผู้ใหญ่ก็ยังเลือกพลาดได้ เด็กก็พลาดได้เช่นกัน ควรให้เขาได้เลือก ให้ทั้งข้อมูลและความรับผิดชอบแก่เขา เขาจะรู้ทันและมีวิจารณญาณด้วยตัวเอง”

รู้เท่าทันโซเชียล


ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image