เปิดตำราพบจิตแพทย์เด็ก รู้จัก ‘โรคติดเกม’

เปิดตำราพบจิตแพทย์เด็ก รู้จัก ‘โรคติดเกม’

โรคติดเกม – “พฤติกรรมติดเกม” เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่สถานการณ์ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย ดังที่เห็นเป็นข่าว อาทิ ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่นที่มาห้ามไม่ให้เล่นจนเสียชีวิต ขณะเดียวกันยังมีอีกหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว เช่น ใช้มีดไล่ฟันพี่สาว และใช้มีดแทงผู้ปกครอง

ซึ่งกลุ่มผู้เล่นเกมที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงจึงไม่พ้น “เด็กและเยาวชน” ด้วยในปัจจุบันมีเด็กไทยที่เสี่ยงจะติดเกมขั้นรุนแรงมากถึงร้อยละ 15 ของเด็กที่เล่นเกมทั้งหมด หรือราวๆ 2 ล้านคน นับเป็นสถานการณ์ที่ “น่าเป็นห่วงมาก”

จนกระทั่งในปี 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ “โรคติดเกม” เป็นโรคหนึ่งทางการแพทย์ และเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างเป็นทางการ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “Healthy Gamer วัยแสบสาแหรก (ไม่) ขาด สังเกต เรียนรู้ เราควบคุมได้” ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โดยมี รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรให้ความรู้ได้อย่างน่าสนใจ

Advertisement
รศ.นพ.ชาญวิทย์ (กลาง)

รศ.นพ.ชาญวิทย์เริ่มต้นเล่าถึง “เหตุผลในการเล่นเกม” ของเด็กว่าแตกต่างกันออกไป แบ่งออกได้ประมาณ 4 กลุ่ม คือ 1.เล่นเพื่อคลายเครียด 2.เล่นเพราะสนุก 3.เล่นเพื่อมีสังคมมีเพื่อน และ 4.เล่นเพื่อนปลดปล่อย คือทั้งเพื่อความสนุกขณะเดียวกันยังคลายเครียดด้วย

นอกจากนี้ บางคนก็มีเป้าหมายชัดเจนเลยว่า “เล่นเพื่อลืมความทุกข์”

กล่าวคือ เกมเป็นหลุมหลบภัยที่เด็กๆ จะพาทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวตนของเขาไปอยู่ข้างในนั้นเพราะพวกเขาหลีกหนีจากความเจ็บปวดในชีวิตจริงเพื่อไปอยู่ในโลกของเกม โดยที่ตัดตัวเองออกจากสังคม ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น เด็กกลุ่มนี้จึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก

Advertisement

แล้วจะทราบได้อย่างไรว่านี่แหละคือพฤติกรรมส่งสัญญาณ “เสี่ยงติดเกม”?

กับเรื่องนี้ องค์การอนามัยโลก ให้เกณฑ์วินิจฉัยอาการติดเกมไว้ 3 ข้อ ได้แก่ 1.สูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นเกม 2.ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมเหนือสิ่งอื่นใด โดยละเลยสิ่งที่จำเป็นในชีวิตหรือกิจวัตรประจำวัน และ 3.ยังคงเล่นเกมอย่างต่อเนื่องแม้จะมีเหตุหรือผลกระทบทางลบเกิดขึ้นจากการเล่นเกมนั้น เช่น การเรียนตก ป่วย พ่อแม่เชิญออกจากบ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ ก็เพื่อแยกคนที่ “ติดเกม” ออกจาก “คนที่ชอบเล่นเกม” เพื่อจะได้ดูแลรักษาอย่างเหมาะสมไม่ให้อาการติดนั้นส่งผลกระทบต่อคนคนนั้น (รวมถึงคนที่อยู่รอบตัว) จนเกินกว่าจะเยียวยาได้ทัน

อธิบายได้โดยง่ายว่า คนที่มีปัญหาติดเกมจนกลายเป็นโรค คือคนที่เล่นเกมจนไม่สามารถแยกตนเองออกจากการเล่นเกมได้ แม้จะเกิดผลเสียกับชีวิตแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียด้านความสัมพันธ์ ครอบครัว หน้าที่การงาน การเรียน หรือความรับผิดชอบอื่นๆ ซึ่งรูปแบบการติดเกมจนเกิดผลเสียนี้มักจะเกิดติดต่อกันมาอย่างน้อย 12 เดือน

แต่กระนั้น “ระยะเวลาในการเล่นเกมแต่ละครั้ง” ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดการติดเกมได้ดีที่สุด เพราะบางคนเล่น 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่สอบออกมาแล้วคะแนนดีหมด ยังรับผิดชอบช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ยังไปทำกิจกรรม เข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อน

“ถ้าสามารถจัดสรรเวลาได้ แต่ยังคงเล่นเกมเยอะ ทำสิ่งอื่นเยอะกว่า ก็ไม่ถือว่าติดเกม”

(ภาพจากเพจวัยแสบสาแหรกขาด)

♦ ระยะเวลาที่ ‘เหมาะสม’ ในการเล่นเกม

ในความเป็นจริง “จำนวนชั่วโมงในการเล่นเกมแต่ละครั้ง” ไม่เพียงพอในการจะกำหนดว่าเล่นแค่ไหนถึงจะเหมาะสม เพราะขึ้นกับสภาพแวดล้อมในบ้าน และเวลาที่มีคุณภาพระหว่างกันในครอบครัวด้วย กล่าวคือถ้าลูกเล่นเกมเยอะ แต่ในบ้านทุกคนผูกพันแน่นแฟ้น ทำกิจกรรมร่วมกัน มีการสื่อสารแบบมองหน้ารู้ใจ พ่อแม่รู้ทุกความเป็นไปของลูก ลูกเข้าถึงพ่อแม่ได้ตลอดเวลา คุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง แบบนี้ก็อาจจะไม่มีปัญหา

แต่ถ้าให้ระบุเป็นตัวเลขว่าเท่าไหร่ถึงจะดี

จิตแพทย์เด็กแนะว่า ถ้าเป็นเด็กปกติที่ไม่ใช่เด็กกลุ่มเสี่ยง ในวันธรรมดาไม่ควรเล่นเกมเกิน 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์-อาทิตย์ ต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่กระนั้นก็มีข้อแม้ว่าก่อนเล่นเกมต้องทำการบ้านก่อน ทบทวนหนังสือ ทำงานบ้านที่พ่อแม่มอบหมายให้เสร็จก่อน แล้วเวลาว่างจริงๆ ค่อยเล่นเกม

“พ่อแม่ต้องจัดสรรตารางเวลาให้ลูกได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมที่สมควรทำก่อน ว่างจริงๆ ค่อยให้เล่นเกม” รศ.นพ.ชาญวิทย์กล่าว

♦ ผู้ปกครอง
ด่านแรกที่ต้อง’เซ็นเซอร์’

ภายในงานเสวนาวิชาการ มีผู้เข้าร่วมงานเสวนาส่งคำถามถึงจิตแพทย์เด็กว่า “ผู้ปกครองจำเป็นต้องเล่นเกมเป็นด้วยไหม”

รศ.นพ.ชาญวิทย์ยิ้มก่อนตอบว่า ไม่จำเป็นต้องเล่นเป็น แต่ต้องรู้ลักษณะของเกมที่ลูกเล่น ต้องรู้ว่าเรตติ้ง (Rating) ของเกมคือเหมาะสมสำหรับเด็กอายุเท่าไหร่ เป็นเกมแนวไหน แล้วข้างในเกมมีเนื้อหายังไง เช่น ฉาก 18+, การพนัน ตลอดจนมีการล่อลวงไหม

นี่คือการบ้านของผู้ปกครองที่ต้องเซ็นเซอร์ก่อนเป็นอันดับแรก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ลูกติดเกมหนักมาก ผู้ปกครองไม่สามารถสื่อสารอะไรกับลูกได้แล้ว พูดอะไรไปลูกก็เถียง หรือเบือนหน้าหนี รศ.นพ.ชาญวิทย์กล่าวว่า มีวิธีเดียวคือนั่งลงแล้วไปเล่นเกมกับลูก ทำตัวเป็นคนโง่ รู้น้อยกว่าลูก แล้วให้ลูกสอนว่าเล่นยังไง

ตรงนี้จะเป็นสะพานให้พ่อแม่สามารถเดินเข้าไปหาเขาได้ พอดีขึ้นก็ค่อยๆ ดึงเขาออกมา สื่อสารกันในประเด็นอื่นหรือเรื่องอื่น นี่คือ “การดำเนินกลยุทธ์แบบชาญฉลาด” แต่มีข้อแม้ว่า “พ่อแม่อย่าเผลอไปติดเสียเอง” ด้วยมีหลายเคสที่กลายเป็นพ่อไปติดเอง แต่ลูกเลิกแล้วเพราะไม่มีโอกาสได้เล่น พ่อแย่งเล่นหมด

“เกมในปัจจุบันถูกสร้างมาเพื่อให้คนเล่นติด เพราะฉะนั้นทุกเพศทุกวัยเมื่อได้เล่นแล้วก็มีโอกาสติดสูง เป้าหมายของเราจึงไม่ได้ปฏิเสธการเล่นเกม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมมีคุณประโยชน์ต่อเด็กในบางด้าน แต่ก็ต้องให้เกมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตที่เข้ามาทำให้ชีวิตสมดุล” รศ.นพ.ชาญวิทย์กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ชาญวิทย์กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่มีอาการติดเกมหากลองเปลี่ยนแปลงแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้น ก็มาปรึกษาจิตแพทย์เด็กได้ทุกที่ และฝากถึงผู้ปกครองว่า เวลาที่พ่อแม่จูงลูกมาหาหมอมักจะพูดว่า “หมอจัดการที ทำไงก็ได้ให้มันเลิกเล่นเกม” และคาดหวังว่าหมอจะช่วยให้หายขาดได้เลย อันนี้ไม่มีอยู่จริง และอย่าคิดว่าปัญหาเด็กติดเกม เด็กต้องเปลี่ยนฝ่ายเดียว เพราะในปัญหาเด็กติดเกม เด็กไม่ใช่ผู้ร้าย เกมอย่างเดียวไม่ใช่ผู้ร้าย ความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาเด็กติดเกมไม่ได้อยู่ที่เด็ก หรือจิตแพทย์เด็ก แต่เป็นความรับผิดชอบของสังคมและครอบครัว

“เล่นเกมได้ แต่เราต้องคุมเกม ไม่ใช่ให้เกมคุมเรา”

“เกมควรเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่กลืนกินชีวิตเราทั้งชีวิต”

“เกมสมดุล ชีวิตสมดุล”

รศ.นพ.ชาญวิทย์ทิ้งท้ายด้วยคติสำหรับ “เฮลตี้ เกมเมอร์”


ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image