“นิน่า-หทัยชนก” สาวไทยหนึ่งเดียวในอีเวนต์นาซา พาท่องโรงประกอบยาน “มาร์ส 2020”

“นิน่า-หทัยชนก” สาวไทยหนึ่งเดียวในอีเวนต์นาซา พาท่องโรงประกอบยาน “มาร์ส 2020”

ไกลออกไปจากพื้นผิวโลก เข้าสู่ห้วงอวกาศนั้นมี “ความลับ” ให้ค้นหาและศึกษาอีกมากมาย ตลอดจนเกิดการค้นพบที่ทำให้มนุษยชาติอย่างเราๆ ต้องเซอร์ไพรส์กันอยู่เสมอ

และเมื่อเกริ่นถึงเรื่องราวนอกโลกไปแล้ว คงจะแปลกหากไม่กล่าวถึง องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ องค์การนาซา (NASA : National Aeronautics and Space Administration) สถานที่ในฝันของเด็กๆ และผู้ใหญ่หลายๆ คน ซึ่งการเข้าไปก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เยี่ยมยอดแล้ว ยังมีเพียง 4 สาขาเท่านั้นที่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันเข้าเยี่ยมชมได้ จากทั้งหมด 11 สาขาทั่วโลก

ซึ่งล่าสุด น.ส.หทัยชนก เทอดธรรมไพศาล หรือ นิน่า ในวัย 25 ปี สาวไทยเพียงหนึ่งเดียวได้ผ่านการคัดเลือกจาก “นาซา โซเชียล” (NASA Social) ให้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวโครงการ “มูน ทู มาร์ส” (Moon to Mars) พร้อมเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมของโครงการ ภายใน NASA”s Jet Propulsion Laboratory (JPL) ณ เมืองแพซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยระดับชาติด้านหุ่นยนต์อวกาศและยานสํารวจดาวเคราะห์

น.ส.หทัยชนก เทอดธรรมไพศาล หรือ นิน่า

Advertisement

เป็นจุดกําเนิดของยานสํารวจดาวเคราะห์หลายลําที่รู้จักกันดีทั้ง อาทิ วอยเอเจอร์ ออพพอร์ทูนิตี แคสสินี คิวริออสซิที ทั้งยังเป็นศูนย์ควบคุมภารกิจยานสํารวจดาวเคราะห์ในอวกาศ และภารกิจล่าสุดของ JPL ก็คือการประกอบยาน “มาร์ส 2020 โรเวอร์” เพื่อส่งไปสำรวจดาวอังคารนั่นเอง

เพียงแค่ดูพันธกิจและหน้าที่ของนาซาก็สัมผัสได้ถึงความจริงจัง ยิ่งใหญ่ และอลังการ แล้วทางผู้ที่ได้ไปสัมผัส และเยี่ยมชมบรรยากาศข้างในจริงๆ จะเป็นอย่างไร ?

กับเรื่องนี้ หทัยชนก สาวต่างชาติคนเดียวในกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ JPL กว่า 30 คน ซึ่งเป็นพลเมืองอเมริกันทั้งหมด เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เธอเรียนจบจากแขนงวิชาสื่อใหม่ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อยู่ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ NARIT ระหว่างที่เธอกำลังหาข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์เพื่อมาอัพเดทผ่านช่องทางต่างๆ ของสถาบันก็ได้เจอกับอีเวนต์ที่ นาซา โซเชียล จัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่นาซาจะแถลงข่าวโครงการ Moon to Mars ซึ่งเปิดรับสมัครและคัดเลือก “นักผลิตคอนเทนต์ที่มีสื่อออนไลน์อยู่ในมือ” เข้าร่วมโครงการ

Advertisement

“ในใบสมัครเขาถามเพียงแค่ว่า ทำไมถึงอยากเข้าร่วมอีเวนต์นี้ และคุณมีโซเชียลมีเดียอะไรบ้าง ซึ่งก็ตอบไปว่าปกติเราทำงานแปลบทความและข่าวของนาซาอยู่แล้ว และมีช่องทางสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนได้ พร้อมแนบผลงานไป

“คิดว่าน่าจะมีคนส่งใบสมัครเยอะเพราะเขาเปิดรับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ เพียงแค่มีโซเชียลมีเดีย จากนั้นผ่านไปหลายสัปดาห์ก็มีอีเมลตอบกลับมาว่า ยินดีด้วยคุณได้รับการคัดเลือก” นิน่าเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น พร้อมเผยความในใจว่า ตอนนั้นเธอดีใจจนแทบช็อก เพราะไม่คิดมาก่อนว่าจะผ่านการคัดเลือก

แต่เส้นทางสู่องค์การนาซาก็ไม่ง่าย เพราะด้วยความที่รู้ผลกระชั้นชิด เธอมีเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ในการเตรียมตัว

“เราไม่รู้เลยว่ามีใครได้รับคัดเลือกบ้าง และต้องเดินทางไปเอง ตอนแรกคิดว่าจะไปดีไหม เพราะไม่เคยไปอเมริกามาก่อน แถมยังต้องจัดการเรื่องเอกสารการเดินทาง ก็หวั่นว่าจะทำไม่ทัน แต่ในใจก็คิดว่าไหนๆ โอกาสก็มาแล้วต้องสู้หน่อย จนสุดท้ายก็สามารถจัดการทุกอย่างได้ทัน” หทัยชนกกล่าว

ครั้งแรกที่เหยียบแผ่นดินอเมริกา ก็ได้ไปเยือนนาซาแล้ว

แต่เรื่องราวยังไม่จบ เพราะนิน่าต้องเจอกับเรื่องระทึกอีกครั้ง หลังจากที่ถึง JPL แล้ว เธอก็ต้องเจอกับระบบรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มงวดของที่นั่น

“ไปถึงตอนแรกเข้าไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตกใจว่า อ้าว ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันหรือ เพราะทุกคนที่มาในกลุ่มเป็นพลเมืองอเมริกันหมด และมีเราเป็นต่างชาติเพียงคนเดียว แต่เจ้าหน้าที่ที่นาซาน่ารักมาก เขาก็เข้ามาช่วยดำเนินเรื่องให้โดยบอกว่า เธอมาถึงที่นี่แล้วต้องได้เข้า หลังจากยืนยันตัวตนแล้วเสร็จก็ได้เข้า” สาวไทยเล่า

และในวันนั้นเอง นาซาได้จัดกิจกรรมชมการถ่ายทอดสดเปิดตัวโครงการ “มูน ทู มาร์ส” พร้อมกันหลายแห่ง

“ผอ.นาซาคนใหม่แถลงว่าโครงการมูน ทู มาร์ส คือโครงการที่จะเดินทางไปดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี ซึ่งคราวนี้จะให้คนไปอยู่บนดวงจันทร์นานมากขึ้น และจะนำเอาเทคโนโลยีที่พัฒนาจากการไปดวงจันทร์ครั้งนี้ ส่งคนไปอยู่บนดาวอังคารให้ได้ ก็เลยได้ชื่อว่ามูน ทู มาร์ส”

“หลังจากนั้นก็มีทีมประชาสัมพันธ์นำชมภายใน JPL ได้ไปชมการประกอบยาน มาร์ส 2020 ( MARS2020) ซึ่งจะถูกส่งไปดาวอังคารในปี 2020 นี้จริงๆ ชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ Von Karman จัดแสดงหุ่นจำลองยานสำรวจต่างๆ ที่ JPL ร่วมผลิต, หินดวงจันทร์ที่นำกลับมาในโครงการอะพอลโล จากนั้นก็ไปชมไฮไลต์ของ JPL ซึ่งก็คือห้องควบคุมเวลาจะปล่อยยานหรือภารกิจต่างๆ ที่มีอีกชื่อที่เรียกกันคือ ศูนย์กลางของจักรวาล หรือ The Center of the Universe เพราะเป็นสถานที่ติดต่อกับหุ่นยนต์อวกาศและยานสำรวจดาวเคราะห์ทั้งหมดด้วยระบบสื่อสารข้อมูลกับห้วงอวกาศ (Deep Space Network)

“ตื่นเต้นมากเพราะบางโต๊ะก็เป็นโต๊ะในการส่งยานสำคัญเช่น ภารกิจแคสสินี ที่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นภารกิจมาโค-บี เพราะเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นลงก็จะมีป้ายของภารกิจใหม่มาแทนที่ ปิดท้ายที่ลานจำลองพื้นผิวดาวอังคาร (JPL Mars Yard) เพื่อทดสอบการวิ่งของหุ่นยนต์สำรวจพื้นผิวดาวอังคาร จำลองมาทั้งหิน ทั้งหลุมบนดาวอังคารทั้งหมด” นิน่าด้วยรอยยิ้ม

Deep Space Network
Janelle Wellons
Larry D. James – รองผู้อำนวยการ JPL กล่าวต้อนรับ
MARS2020

ทั้งนี้ แม้อีเวนต์จะจัดขึ้นเพียงแค่ 1 วัน แต่สำหรับนิน่าสิ่งที่ได้รับนั้นมากมาย โดยเธอเล่าว่าเสน่ห์ของนาซาอยู่ที่พลังและความหลงใหลในสิ่งที่ทุกคนกำลังทำอยู่ เหมือนมีไฟลุกตลอดเวลา ซึ่งนั่นส่งผลให้เธอได้รับพลังงาน และแรงบันดาลใจในการทำงานกลับมาเยอะมาก

“สำหรับคนชอบดาราศาสตร์ก็น่าจะฝันอยากไปนาซ่าทุกคน ซึ่งเราก็ไม่ได้เรียนทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรมาโดยตรง เลยดูไกลเกินฝัน พอได้ไปก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก ดีใจ และตื่นเต้น เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะไปถึง” นิน่ากล่าวและชี้ให้เห็นเสน่ห์ของดาราศาสตร์ว่า

“เวลาที่เราเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เราไม่รู้เลยว่าข้างบนนั้นมีอะไรบ้าง เพราะมีทั้งสิ่งที่ตาเรามองเห็น กับสิ่งที่เรามองไม่เห็นอยู่รวมกัน แล้วมีทุกอย่างทุกอณูอยู่ในนั้น จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมถึงต้องมีดาราศาสตร์ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องค้นคว้าอีกเยอะ”

และหากใครอยากไปชมท้องฟ้า หมู่มวลดาว ฝนดาวตก แบบชัดๆ นิน่าก็แนะนำให้ไปชมได้ที่หอดูดาวภูมิภาค ประกอบด้วย หอดูดาวนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และกำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้อีกแห่งที่สงขลา โดยภายในหอดูดาวยังมีท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการดาราศาสตร์ร่วมด้วย โดยแต่ละแห่งจะมีกล้องดูดาวให้บริการ 6 ตัว เปิดให้บริการทุกคืนวันเสาร์ เข้าฟรี!

Mission Control
Mars Yard – ลานจำลองพื้นผิวดาวอังคาร

Spacecraft Assembly Facility – ประกอบยาน MARS2020

Von Karman Museum – หินดวงจันทร์

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image