‘ไทย’ ที่ 6 ทิ้งขยะลงมหาสมุทร ช่วยกันเป็น ‘ตาวิเศษ’ หลัก 3R

‘ไทย’ ที่ 6 ทิ้งขยะลงมหาสมุทร ช่วยกันเป็น ‘ตาวิเศษ’ หลัก 3R

พลาสติก กลายเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลาย 100-450 ปี และในโอกาสครบรอบ 1 ปี “มูลนิธิคุณ” เพราะโลกทั้งใบ…ลมหายใจเดียวกัน โดย ปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิคุณ และ พัสวีพิชญ์ ศรณ์อัครภา ผู้ร่วมก่อตั้ง เกี่ยวก้อยพันธมิตรหัวใจสีเขียว ตาวิเศษ จัดแคมเปญ “คุณคือตาวิเศษ” เพื่อสร้างจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจเรื่องการแยกขยะ ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างถูกต้อง เพื่อลดปัญหาขยะล้นเมือง ณ ลานหน้า สยามสแควร์วัน

ภายในงานได้ อาจารย์วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำเรื่องการแยกขยะว่า “ประเทศไทยติดอับดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก และใน 1 วัน เฉพาะกรุงเทพฯ จังหวัดเดียวสร้างขยะประมาณ 10,000 ตัน โดย กทม.สามารถกำจัดได้ประมาณ 1,500 ตัน และส่วนที่เหลืออีกประมาณ 8,500 ตัน จะถูกส่งไปทิ้งแบบเปิดที่ภูเขาขยะใน จ.นครปฐมกับ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งปัจจุบันสูงเท่ากับตึก 10 ชั้น”

“เนื่องด้วยปริมาณขยะที่มาก และการจัดการที่มีข้อจำกัด จึงทำให้มีการรั่วไหลของขยะลงแม่น้ำและลงทะเลในที่สุด เช่น ไมโครพลาสติกภัยเงียบจากขยะทะเล ซึ่งหากสัตว์น้ำบริโภคเข้าไปก็จะเกิดการสะสม เมื่อมนุษย์ทานสัตว์เหล่านั้น ไมโครพลาสติกก็จะสะสมในร่างกายเรา ก่อนให้เกิดโรคภัยต่างๆ”

Advertisement

อาจารย์วรุณ แนะว่า ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันลดและแยกขยะ โดยใช้หลัก 3R คือ สิ่งต้องทำเป็นอันดับแรกคือ Reduce ลดการใช้ และ Reuse นำมาใช้ซ้ำ เป็นการลดและป้องกันขยะที่ต้นทาง เช่น เวลาซื้อของก็ไม่รับถุงพลาสติกหรือใช้ถุงผ้าแทน พกแก้วแบบใช้ซ้ำได้ไปซื้อเครื่องดื่ม เป็นต้น ในส่วนของ Recycle รีไซเคิล ต้องเริ่มที่การแยกขยะ ก่อนที่จะสามารถนำไป recycle ได้

“ในระบบของประเทศไทยให้แยกขยะออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.ขยะเปียกที่ย่อยสลายได้ หรือขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหารและวัสดุที่มาจากธรรมชาติ รวมถึงน้ำและน้ำแข็ง ซึ่งสามารถนำขยะเปียกไปใช้ประโยชน์ได้ เช่นการนำไปทำปุ๋ยหมัก 2.ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว โลหะ กระดาษ พลาสติกเช่น PET (ขวดน้ำใส) พลาสติกหนา ขวด HDPE เป็นต้น 3.ขยะทั่วไป รวมทั้งพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง อาทิ แก้วกาแฟพลาสติก, หลอดพลาสติก, ถุงร้อน ถุงเย็นสำหรับใส่อาหาร, ถุงหิ้วพลาสติก ฯลฯ ซึ่งใช้วิธีกำจัดโดยฝั่งกลบ พลาสติกใช้เวลาย่อยสลาย 100-450 ปี 4.ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย ให้แยกใส่ถุงติดป้าย เพื่อให้ทางฝ่ายที่รับผิดชอบนำไปจัดการกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป”

Advertisement

ด้านคุณหมอนักสิ่งแวดล้อม นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร กล่าวถึงการลดใช้พลาสติกว่า “ปัญหาขยะล้นเมืองต้องเริ่มแก้ไขจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดขยะในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้ถุงผ้า แทนถุงพลาสติกพกแก้วน้ำ เวลาไปซื้อกาแฟ และลดการใช้หลอดพลาสติก ซึ่งหากทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ก็จะสามารถลดการใช้พลาสติกแบบ single-use และอาจตั้งกฎให้กับตัวเราเองว่า หากลืมพกถุงผ้า แก้วน้ำ และทำให้ต้องใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จะปรับเงินตัวเองสำหรับแต่ละชิ้น อย่างเช่นต้องบริจาคเงินให้การกุศลเป็นค่าปรับ เป็นต้น เพราะขยะส่วนมากเกิดจากพลาสติกแบบ single-use นั้นเอง”

คุณคือตาวิเศษ ลดแยกขยะก่อนทิ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image