เปิดใจ ‘ช่อ’ ‘หญิงแกร่ง’ ในรัฐสภา และการเดินทางความคิดทางการเมือง (คลิป)

เปิดใจ ‘ช่อ’ ‘หญิงแกร่ง’ ในรัฐสภา และการเดินทางความคิดทางการเมือง

ช่อ – กําลังยืนโดดเด่นอย่างท้าทาย สำหรับสาวตากลมโต รูปร่างสูงโปร่ง ผมดำขลับยาวสลวย “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกพรรค ไม่แพ้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค

ในชั้นแรก เธอโดดเด่นด้วยบุคลิกส่วนตัวของ “สาวมั่น” ทั้งในแง่จุดยืน อุดมการณ์ ความคิดความอ่าน พูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ บ่งบอกถึงความมั่นใจ มีความรู้ความสามารถ

และเมื่อเปิดดูโปรไฟล์ ช่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาการเมืองโลก วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (The London School of Economics and Political Science) (LSE) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษ และถือเป็นสถาบันด้านสังคมศาสตร์ที่ติดอันดับ TOP 5 ของโลก

เมื่อเรียนจบกลับมาทำงานที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี (2554-2560) รับหน้าที่เป็นพิธีกรรายการสารคดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยและประเทศอาเซียน iASEAN, พิธีกรรายการข่าวต่างประเทศ Voice World Wide, พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าวการเมืองและเศรษฐกิจ, พิธีกรรายการวาไรตี้

Advertisement

กระแสของช่อกำลังไปได้ดี

แต่ทันทีที่เปิดประชุม “รัฐสภา” วันแรก ในวันโหวตนายกฯ คนที่ 29 ของประเทศ “ดราม่า” ก็ถาโถมกระหน่ำช่อรัวๆ มิว่างเว้น ทั้งเรื่องชุดโพเอมที่สวมในวันประชุมสภา มารยาทในการอภิปราย ฯลฯ

ท่ามกลางพายุที่ถาโถม ช่อ-พรรณิการ์ ในวัย 31 ปี เปิดใจให้สัมภาษณ์มติชนอย่างหมดเปลือก เผยถึงเรื่องที่ไม่สบายใจ และการเดินทางทางความคิดด้านการเมืองของเธอ

Advertisement

ตั้งแต่เข้ามาทำงานการเมืองจะถูกจับตาเป็นพิเศษ?

เพราะอะไรก็ไม่รู้ แปลกมากเลย งงเหมือนกันว่าเพราะอะไร

ยิ่งช่วงหลังๆ ถูกดึงเข้าไปในวงขัดแย้งหลายๆเรื่อง?

พูดตรงๆ ไม่สบายใจ

โดยเฉพาะมันมีแทคติคเดิมๆ คือ สมัยก่อน เวลาเราเห็น ส.ส.หญิงอภิปราย เขาจะใช้ ส.ส.หญิงด้วยกันประท้วง ทำนองว่าถ้าเป็น ส.ส.ชาย เดี๋ยวดูไม่ดี ดูรังแกผู้หญิง “ซึ่งแนวคิดแบบนี้ ควรเลิกนะคะ อันนี้ คือความไม่เท่าเทียมทางเพศสุดสุด” ซึ่งเสียหายต่อเราไม่เป็นไร เพราะการโจมตีกันต้องทำทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าทำฝ่ายเดียวก็ไม่สำเร็จ มันก็ไม่ได้เป็นดราม่าต่อเนื่องอะไรได้มาก อีกฝั่งหนึ่งก็จะทำไป คนก็เห็นเองว่ามันไม่เวิร์ก

แต่ภาพรวมที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายคือ ภาพลักษณ์ของผู้แทนราษฎรหญิง กลายเป็นภาพของการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องไร้สาระและตบตีกัน ไปจับผิดกันเรื่องเสื้อผ้า หน้า ผม จับผิดเรื่องกิริยามารยาท และมันกลายเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่คนค่อนข้างจะเห็นไปในทางนั้นอยู่แล้ว

ตรงนั้น “ช่อกังวล” ว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ และมาจับตามองแค่ว่า วันนี้ช่อจะใส่อะไรไปสภา มันจะเป็นการมองว่าภาพของผู้หญิงในสภามีแค่นี้จริงๆ หรือ

 

รู้สึกท้อกับสิ่งที่เจอหรือเปล่า?

พรรคอนาคตใหม่โดนอะไรที่เป็นมรสุมหนักๆ หลายครั้ง สำหรับพรรคที่อายุแค่ 1 ปี ช่อเชื่อว่าเราโชกโชนไม่น้อยเลย แม้จะเทียบกับพรรคการเมืองที่อายุหลายสิบปี อนาคตใหม่โดนมาเยอะ

“นี่ก็เป็นอีกลูกหนึ่งที่หนัก สำหรับตัวช่อ”

โอเค…ไม่ได้เป็นต่อพรรคโดยตรง แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ากระทบถึงกัน แต่ว่าเราถือว่าอุดมการณ์ จุดยืนของพรรค อุดมการณ์จุดยืนของเราชัดเจน จุดยืนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อพรรคอนาคตใหม่ เราพูดแล้วหลายครั้ง ว่าเราต้องการเห็นระบอบรัฐสภา ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


คิดอย่างไรกับคำว่า “นักการเมืองหญิง” เป็นไม้ประดับทางการเมือง?

เวลาผู้หญิงเข้าสู่แวดวงการเมือง สิ่งแรกที่สำคัญคือ อย่าไปดูที่ปริมาณอย่างเดียว แน่นอน ถ้าในการเมืองประเทศนั้น ถ้าแทบไม่มีผู้หญิงเลย ก็บ่งบอกประมาณหนึ่งว่า สังคมกดทับอะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า ผู้หญิงถึงไม่สามารถเข้าสู่แวดวงการเมืองได้เลย

แต่ต่อให้มีปริมาณมากแล้ว ก็ดูด้วยว่าการเข้ามาของหรือบทบาทของผู้หญิงเป็นอย่างไร จำนวนไม่ได้บอกว่า ความเท่าเทียมทางเพศได้รับการตระหนักและยอมรับในประเทศนั้น โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชัดมากที่ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองส่วนใหญ่มาแทนตัว พ่อ สามี ซึ่งเป็นครอบครัวการเมือง

ซึ่งบทบาทของผู้หญิงไม่ใช่บทบาทว่า เข้ามาเป็นนักการเมืองหญิง ต้องต่อสู้เพื่อผู้หญิงนะ จริงๆ แล้วตรงกันข้าม ในส่วนตัวของช่อเชื่อว่า

สังคมนี้จะมีความเท่าเทียมทางเพศจริงๆ ก็ต่อเมื่อนักการเมืองหญิงไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนของผู้หญิง นักการเมืองหญิงเป็นตัวแทนของคนที่เลือกเขาเข้ามา

นักการเมืองไม่ว่าจะเพศไหนก็เป็นตัวแทนของทุกคนที่เลือกเขาเข้ามา จะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หลากหลายทางเพศ อะไรก็ได้ มันไม่ใช่แคบๆ แค่ว่าผู้หญิงเป็นตัวแทนของผู้หญิง เราต้องต่อสู้เพื่อผู้หญิงอย่างเดียว เพราะว่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผู้ชายหรือผู้หญิงก็สามารถต่อสู้และเชื่อมั่นได้เหมือนกัน

ช่อให้ความสำคัญกับ “ความเท่าเทียม” ซึ่งความเท่าเทียมนั้นหมายถึง ทุกๆ อย่าง เช่น ความเท่าเทียมทางสังคม ความเสมอหน้าภายใต้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นส่วนหนึ่ง

เบสิกและหัวใจที่สุดของสังคมประชาธิปไตย คือ เรื่องพื้นฐานเรื่องนี้ คือ คนต้องเท่ากัน ซึ่งน่าเศร้าว่าประเทศนี้ เรื่องเบสิกนี้ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นในสังคมได้

 

ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันจะส่งผลดีอย่างไร?

เวลาเราพูดเรื่องสิทธิ เรื่องความเท่าเทียม จะดูเป็นนามธรรม แต่ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมสุดสุด คุณคิดดูสิว่าประเทศนี้จะดีแค่ไหน ถ้าคนเราสามารถได้ดิบได้ดี ได้ด้วยความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่ด้วยเส้นสาย หรือเพราะว่าพ่อแม่มีอิทธิพล หรือเพราะว่าคุณนามสกุลดัง

ตั้งแต่เราทำพรรคการเมืองไปเกือบทุกจังหวัด เจอคนมามหาศาล เห็นเลยว่าประเทศนี้มีคนที่มีความสามารถเยอะมาก มีไอเดีย มีความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก แต่เขาไม่เคยได้รับโอกาสให้ได้แสดงออก หรือเอาความคิด เอาไอเดีย เอาความสามารถมาพัฒนาประเทศ เพราะประเทศนี้ คนไม่เท่ากัน ถ้าคุณรวย คุณนามสกุลดัง มีพ่อแม่เกี่ยวข้องกับครอบครัวที่มีอิทธิพล คุณมีโอกาสสูงกว่าคนอื่นที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ได้ดิบได้ดี

แต่ในขณะที่คนอื่นมีความสามารถ เขาไม่มีโอกาสนั้น ตัวอย่างง่ายที่สุด เวลาไปต่างประเทศ ช่อเจอนักเรียนไทยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในครอบครัวร่ำรวยมีชื่อเสียงอะไรมากมาย เป็นคนธรรมดาทั่วไป แต่เขาเรียนเก่ง ในจำนวนนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ พูดเหมือนกันหมดว่า อยากเอาความรู้ความสามารถกลับไปพัฒนาประเทศ แต่เขาถอดใจ เพราะเขารู้ว่า ประเทศนี้ติดระบบเส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ ระบบการใช้อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ความสามารถส่วนบุคคล ในการได้ดิบได้ดี

นี่คือรูปธรรมว่าทำไมถึงต้องทำให้คนเท่ากัน เพราะว่าประเทศที่คนยังไม่เท่ากัน เราถึงเป็นประเทศกำลังพัฒนามา 50 ปี เพราะคุณอยู่บนพื้นฐานของการเอาบ้าอะไรไม่รู้มาตัดสินคน และทำให้คนที่มีความสามารถไม่มีที่ยืนในสังคม

ตัวช่อเองพอเข้าไปในสภา ได้เห็นความไม่เท่าเทียมอะไรบ้าง?

น่ากลัวกว่าที่คิดเยอะ

ในความใฝ่ฝัน อุดมคติของนักรัฐศาสตร์ สภาคือพื้นที่ของการถกเถียง แล้วฟาดฟันกันด้วยเหตุผล เรารู้สึกว่าสภาคือจุดสูงสุดของการใช้เหตุผลเพื่อยืนยันถึงจุดยืนและต่อสู้เพื่อให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการ แต่เมื่อเราได้เข้าไปถึงในนั้นจริงๆ แล้ว เราก็พบว่าเรื่องจริงกับอุดมคตินั้น ช่างต่างกันเหลือเกิน คือ เรารู้นะว่า เป็นอะไรที่เสียเวลา การเจรจาต่อรอง การพยายามชักจูงให้อีกฝ่ายมาเห็นด้วยกับเรา เป็นกระบวนการที่ช้า เสียเวลา และต้องใช้ความอดทนสูง ซึ่งอันนี้เราเตรียมใจไว้อยู่แล้ว

แต่เราไม่ได้เตรียมใจสำหรับการพูดกันไม่รู้เรื่องเลย หรือการไม่ใช้เหตุผลใดๆ เลยในการพูดกัน ใช้ข้อบังคับมาเล่นกัน เป็นแค่การล็อบบี้ทางการเมือง แบบไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรกันเลย ใช้การต่อรองด้วยเงิน และด้วยผลประโยชน์อย่างเดียว เราก็รู้สึกว่า โห น่ากลัวกว่าที่คิด

แต่เราไม่ได้เข้าไปแล้ว แล้วรู้สึกว่า โห! น่ากลัว แล้วก็ถอยออกมา เพราะเราถอยไม่ได้อยู่แล้ว เพราะยังมีคนอีก 6-7 ล้านคน ที่เลือกเราที่อยู่ข้างหลังเรา เราถอยไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ เราเดินหน้าไป และทำสิ่งที่เราบอก กับประชาชนที่เลือกเรามาตลอดว่า เราอยากทำการเมืองใหม่ ที่สร้างสรรค์ เราอยากสร้างบรรทัดฐานใหม่กับการทำงานของผู้แทนราษฎรในสภา

ถึงแม้ว่ามันมีจุดที่เหนื่อย เพราะมีอะไรต้องสู้อีกเยอะ แต่ความเหนื่อยนั้น ไม่ได้ทำให้เราหยุดแน่ๆ ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกท้อถอย รู้สึกว่ามาผิดทาง จริงๆ เวลาเราเจอคำวิจารณ์ หรืออุปสรรคอะไรมากๆ โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจในสังคม คนที่ถือไพ่เหนือกว่า มันยิ่งพิสูจน์ว่าเรามาถูกทาง ถ้าเราทำงานการเมือง โดยที่ตั้งเป้าว่าจะเปลี่ยนประเทศนี้ แต่เราทำๆ ไป แล้วเราไม่เจออุปสรรคอะไรเลย ไม่มีใครเป็นศัตรูเลย แสดงว่าคุณผิดทางนะ เพราะคุณบอกว่าคุณจะเปลี่ยน และคุณต้องไปพยายามเปลี่ยน

อุปสรรคที่เราเจอ ความเหนื่อยที่เราเจอ ก็หมายความว่าคุณมาถูกทางแล้วล่ะ เหนื่อยนี่แหละ แปลว่าเรากำลังทำงานอยู่

 

มาถึงตอนนี้แล้ว รู้สึกว่าคิดผิดหรือคิดถูกที่เลิกเป็นนักข่าวแล้วมาทำงานการเมือง?

ไม่เคยมีแม้แต่วินาทีเดียวที่รู้สึกว่าคิดผิด แม้จะเป็นอาชีพที่เวลาไม่มี เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ โดนด่าเยอะกว่าการเป็นนักข่าวอีก แต่ว่าไม่เคยมีแม้แต่วินาทีเดียวที่คิดผิด แล้วถ้าย้อนกลับไปได้จะตัดสินใจแบบนี้ เพราะว่า

ชีวิตช่อเนี่ย เป็นชีวิตที่รู้สึกว่า เราต่อสู้เพื่อให้สังคมดีขึ้นไปกว่านี้ เราไม่ได้มองที่ตัวเราว่าเราจะทำอะไร หรืออยู่จุดไหน เรามองว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหนก่อนที่เราจะตายไป ที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่เราอยู่ตอนนี้

แล้วเป็นคนชอบทำชีวิตตัวเองให้อยู่ในสภาวะที่ยากลำบากตลอดเวลา เพราะเรารู้สึกว่า เกิดเป็นคนแล้วเอาให้คุ้ม ชีวิตหนึ่งจะอยู่เรื่อยๆ มันก็ไม่คุ้มค่ากับการมีชีวิต แต่มันควรจะที่ดูว่า เราจะมีกำลังกายกำลังใจจะไปได้ถึงขนาดไหน

เป็นนักข่าว เราก็ทำมาหมดทุกอย่างแล้ว ความท้าทายเริ่มลดน้อยลง พอมาเป็นนักการเมือง ผ่านมา 1 ปี ก็ยังรู้สึกว่ามีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมากมายมหาศาลสุดสุด และสิ่งที่ทำมันก็มีความหมาย มันเห็นรูปธรรมที่ชัดเจน มันเห็นความก้าวหน้า เหมือนเห็นต้นไม้ค่อยๆ โตขึ้นด้วยตาเปล่า จากก้าวแรกที่เราเริ่มเดินมากับพรรค จนผ่านการเลือกตั้งและมาถึงตอนนี้

สังคมไทยกลับมามีความหวังขึ้นเยอะ คนมาสนใจการเมืองขึ้นเยอะ เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยสนใจการเมืองเลย กลับมาสนใจว่าตอนนี้ นายกฯ เราเป็นใคร มันเป็นสิ่งที่ชุบชูใจ


มีไอดอลไหม?

ไม่มีเลย แต่ถ้าถามว่า สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ช่อมาถึงจุดนี้ เป็นเหตุการณ์มากกว่าเป็นคน เป็นการหล่อหลอมเราว่าทำไมเราคิดแบบนี้ ช่อพูดได้เลยว่า เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เหตุการณ์สลายชุมนุม 2553 ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่หล่อหลอมเราให้มีความคิดแบบนี้

ในปัจจุบัน มันผลักเราให้ตั้งคำถามแล้วรู้สึกว่าประเทศนี้ไปไม่ไหว ต้องแก้ คุณจะปล่อยให้รัฐประหารซ้ำซากแบบนี้ ให้คนโดนจับแบบนี้ ให้คนตายกลางถนน โดยที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบแบบนี้ ไม่ได้ เราไม่ยอม เราถึงมาจุด จุดนี้ เพราะมี 2 เหตุการณ์นี้เป็นแรงบันดาลใจของเรา

 

1 ปีที่ทำงานการเมือง เราเติบโตมากแค่ไหน?

โตขึ้นเยอะมาก เป็น 1 ปีที่เรียนรู้อะไรเยอะ ใจเย็นลง ได้เห็นอะไรมากขึ้น เพราะเราเดินทางเยอะ แล้วทำให้เห็นอย่างหนึ่งว่าการพูดคุยกับคน เรายิ่งรู้สึกว่าเราโง่ลงเรื่อยๆ เพราะเราเจอแต่คนที่ฉลาดกว่าเราเต็มไปหมด มันทำให้อีโก้ของเราลดลง นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ว่า ประเทศนี้ มีแต่คนที่มีศักยภาพและเราก็เป็นแค่คนเล็กๆ คนหนึ่งในประเทศนี้เท่านั้นเอง

ชมคลิป


ไลฟ์สไตล์แบบช่อ

ชีวิตประจำวันของช่อทุกวันนี้ เจ้าตัวว่า แทบจะไม่มีเวลาว่างไปทำงานอดิเรกอย่างอื่น เพราะทุกวันคือวันทำงาน ตื่นเช้ามาเช็กข่าว เข้าออฟฟิศ ประชุมตอนเช้า บรีฟข่าว นัดหมายต่างๆ กินข้าวกับคนโน้นคนนี้ ออกรายการต่างๆ ตอนเย็นก็มีนัดอีก แล้วก็จบวัน

“ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกวัน” เธอว่า

เห็นเป็นสาวมั่นทำงานเก่ง สาวคนนี้ก็เป็นแม่บ้านแม่เรือนไม่น้อย เพราะทั้งชอบทำอาหาร ทำขนม ส่วนงานอดิเรกก็ชอบอ่านหนังสือ และช้อปปิ้ง คลายเครียด

“เป็นคนชอบแต่งตัว และเป็นคนชอบซื้อผ้า ระหว่างทำงาน เครียดๆ ยุ่งๆ ก็จะหาวิธีคลายเครียดด้วยการเปิดอินเตอร์เน็ตหาแบบเสื้อที่ต้องการ และเซฟๆ เก็บไว้ มีเวลาก็จะไปซื้อผ้า และเอาแบบไปให้ร้านตัด เพราะมีร้านประจำกันอยู่ นี่ก็เป็นไลฟ์สไตล์ยุคคุณย่า คุณยายมากเลย แต่ว่ามันสนุก”

จากชุดที่เป็นประเด็นดราม่า เธอก็ว่า โดนแซวเยอะว่าเป็นคนฟุ่มเฟือย และขอแก้ข่าว

“ในชีวิตของมนุษย์ผู้หญิงที่ชอบแต่งตัว เราก็ต้องมีชิ้นที่พิเศษที่เรารู้สึกจะต้องลงทุน เสื้อธรรมดาตัวละพันสองพันเราก็มี แต่สูท กระโปรงทรงดินสอดีๆ หรือกางเกงขายาวสีดำเนี้ยบๆ ซึ่งเป็นชิ้นที่เราจะใส่ได้ตลอดไป ก็ควรจะลงทุนกับมัน อย่างโพเอมที่เราซื้อเพราะเป็นชิ้นคลาสสิกมากๆ และเราใส่ได้เรื่อยๆ

ถ้าเป็นใส่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะเป็นคนชอบใส่สีโมโนโทน ขาว ดำ น้ำเงิน แต่พอมาทำงานการเมืองก็แต่งตัวน้อยลง เพราะเวลาเราลงพื้นที่ ก็ไม่อยากแต่งตัวให้ประหลาดกว่าคนอื่น ส่วนใหญ่เสื้อเชิ้ตกางเกง”

อีกงานอดิเรกที่โปรดปรานและมีความสุขที่ได้ทำ คือ การสะสมผ้า โดยเฉพาะผ้าไทย ผ้าประจำท้องถิ่น หรือชุดประจำชาติต่างๆ ทั้งชุดกิโมโน ชุดอัปสรา ชุดกี่เพ้า ชุดอ๋าวใหญ่ ชุดส่าหรีอินเดีย


“ที่ชอบผ้าไทย ชอบนุ่งผ้าซิ่น เพราะเป็นคนชอบคอสเพลย์ตั้งแต่สมัย ม.ต้น พอโตขึ้นมา ด้วยความชอบชุดแฟนตาซี ชอบแต่งตัว ชอบชุดไทยๆ และพอมาเป็นนักข่าวแล้วเดินทางเยอะก็มีพฤติกรรมสะสมผ้า เพราะผ้าเป็นจิตวิญญาณของประเทศนั้น เวลาเราไปประเทศไหน เราอยากจะเก็บจิตวิญญาณ เก็บวัฒนธรรมความสวยงามของเขากลับมา”

“คนก็ชอบพูดว่า แก่ตัวไป ควรจะต้องเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้า ซึ่งเอาจริงๆ คิดว่า เป็นไปได้ อายุสัก 50 คิดว่า น่าจะมากพอที่จะเปิดพิพิธภัณฑ์ได้” ว่าพลางหัวเราะสดใส


คนจะมองว่าผ้าไทยเชย?

“ไม่ใช่ค่ะ ดิฉันทำให้ชิคได้ค่ะ” เธอตอบทันที

อีกหนึ่งกิจกรรม “ท่องเที่ยว” ที่จะมีความสุขสุดสุด ถ้าได้เที่ยวกับกลุ่มเพื่อนซี้ ซึ่งมีสัญญาใจต่อกันว่า ต้องไปเที่ยวทริปใหญ่ทริปเมืองนอกเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง

“การท่องเที่ยว เป็นอภิสิทธิ์ของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 เพราะว่ามันเป็นยุคที่มีโลคอสแอร์ไลน์ หรือต่อให้ไม่มีโลคอสต์มันก็ค่อนข้างถูกกว่าสมัยก่อนเยอะ ฉะนั้นชีวิตคนเราเกิดมา 1 ครั้งใช้ให้คุ้ม ถ้าการเดินทางมันเอื้อ เทคโนโลยีมันเอื้อให้เราได้ไปไหนง่ายกว่าสมัย 100-200 ปีที่แล้ว เราก็ใช้อภิสิทธิ์นั้นให้เป็นประโยชน์ ไปเห็นโลกยิ่งมาก มันจะยิ่งให้เราเข้าใจโลก เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น”

สุดท้าย แม้จะคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจทำงานการเมือง แต่เธอก็ยืนยันว่า “ไม่คิดว่าจะเป็นนักการเมืองไปจนตาย”

“การทำงานการเมืองของเรา เราไม่ได้มองว่า เราต้องเป็นอะไรอยู่แล้ว ถ้าภารกิจขยับไปข้างหน้า สังคมเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่ต้องการประมาณหนึ่ง แล้วมีคนทำต่อ ช่อก็ไปทำอย่างอื่น อาจจะแบบเริ่มแก่ไปเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าเป็นของตัวเอง (หัวเราะ) อยู่บ้านเป็นนักเขียน นักแปลอิสระ อบขนม เปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าเล็กๆ ไปด้วย”

“มันคงเป็นชีวิตที่มีความสุขกว่าการเป็นนักการเมือง แต่อันนั้น หมายความว่า ภารกิจเราบรรลุแล้วนะ ไม่ใช่ว่า เราเลิก เราถอดใจไป มีชีวิตที่มีความสุขกับตัวเอง เราคงมีความสุขไม่ได้ ถ้าประเทศยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็หวังว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศจะดีขึ้น แล้วเราพอใจ และถอยออกไปได้แล้ว”


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image