รู้จัก ‘วินัยการเงิน’ ตัดวงจรหายนะหนี้สิน!

รู้จัก ‘วินัยการเงิน’ ตัดวงจรหายนะหนี้สิน

วินัยการเงิน – อยู่ในยุคทันสมัยที่สามารถใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็ว อยู่บนเตียง ในห้องน้ำ ก็ช้อปปิ้งได้ หลายคนหลงใหลไปกับคำโฆษณา “ของมันต้องซื้อ ของมันต้องมี” จนสุดท้ายเป็นหนี้สิน บางคนรู้ตัวพยายามแก้ไขก็ดีไป แต่อีกหลายคนไม่รู้ตัวยังคงดิ่งลึก จนสุดท้ายถูกฟ้องร้องยึดทรัพย์สิน

ซึ่งมีคำแนะนำดีๆ จากการบรรยายพิเศษ “การเข้าถึงบริการและวินัยการเงิน” ในงานประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ

นางสาวฐิตินันท์ วัธนเวคิน รองประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เล่าว่า ต้องบอกว่าคนไทยมีหนี้สินครัวเรือนอยู่ในขั้นอันตราย คือมีหนี้สูงประมาณร้อยละ 78 ของรายได้ จากปกติไม่ควรมีหนี้เกินร้อยละ 50 ของรายได้ แม้บางคนอาจบอกว่าสามารถผ่อนได้ แต่ก็อยากให้คิดว่าหากเจ็บป่วย หรือมีเหตุให้ต้องหยุดงานขึ้นมา หนี้สินเหล่านี้จะกระทบกับชีวิต และเราจะตกเป็นภาระของครอบครัวทันที

“เดี๋ยวนี้การกู้เงินทำได้ง่าย บางคนกู้เยอะจนเกินความสามารถตัวเอง แต่จริงๆ ต้องบอกว่าการมีหนี้สินไม่ผิด หากเป็นหนี้ที่ดี เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แต่หลายคนพบว่าเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด ที่ไปรูดซื้อของใช้ไม่จำเป็น ของใช้ฟุ่มเฟือยในชีวิต หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัวอย่างนี้ ต้องพยายามลดให้ได้”

Advertisement

เพื่อตัดวงจรหายนะหนี้สินล้นพ้นตัว สิ่งแรกที่เธอแนะนำคือ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เมื่อลดได้สักระยะ ประกอบกับการเจริญเติบโตของรายได้ เราก็จะเริ่มมีเงินเก็บ ซึ่งการเก็บเงินที่ดีอาจไม่ใช่การออมเงินฝากในบัญชีธนาคาร เพราะเมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยกับอัตราเงินเฟ้อต่อปีแล้ว เราอาจไม่เหลืออะไร ฉะนั้นจึงแนะนำให้ออมเงินควบคู่ไปกับการลงทุน

ฐิตินันท์ วัธนเวคิน

“ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความรู้ และศึกษาข้อมูลมาระดับหนึ่งว่า ลงทุนในอะไรที่จะเหมาะสม และมีความเสี่ยงต่ำ อย่างเบื้องต้นแนะนำให้ลงทุนใน LTF, RMF, ซื้อหุ้น, กองทุนรวมต่างๆ แบบลงทุนระยะยาว เหล่านี้ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินออมในธนาคารทั่วไป ซึ่งสามารถหาศึกษาได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ”

“ส่วนหลายคนที่ชอบซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล และอยากออมเงิน แนะนำให้ซื้อสลากออมสิน แม้ผลตอบแทนอาจต่ำหน่อยเมื่อเทียบกับข้างต้น แต่สามารถลุ้นรางวัล ที่สำคัญคือเงินต้นก็ไม่หาย”

Advertisement

สำคัญที่สุดของการออมเงินครั้งนี้ คือการมีเงินเก็บไว้ใช้หลังเกษียณอายุ อย่างหากเราตั้งเป้าจะมีอายุถึง 80 ปี แล้วมีเงินใช้หลังเกษียณ 15,000 บาทต่อเดือนนั้น ในอายุ 60 ปี จะต้องมีเงินเตรียมไว้ 4 ล้านบาท หากอยากมีเงินใช้ยามเกษียณต่อเดือนมากขึ้น ก็ต้องมีเงินเก็บมากขึ้น

โดยเงินเก็บเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จาก “การออมระยะยาว”

นางสาวฐิตินันท์เล่าว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ต่อไปจะมีผู้สูงอายุมากกว่าวัยทำงาน หมายถึงลูกหลานเราหนึ่งคนต่อไปต้องทำงานดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวมากขึ้นๆ เพื่อไม่ให้เขาแบกภาระแต่เพียงผู้เดียว ผู้ใหญ่จึงต้องพึ่งตัวเองจากเงินเก็บออม ฉะนั้นอยากเชิญชวนคนทุกช่วงวัยมามาเริ่มเก็บออมเงิน สร้างวินัยการเงินอะไรควรจ่ายไม่ควรจ่าย สู่คุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

สิ่งที่ฐิตินันท์พูดทั้งหมด อยู่ในโครงการรณรงค์สร้างวินัยทางการเงิน ที่ขับเคลื่อนโดยสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจ และภาคีเครือข่าย ในองค์กรภาครัฐและเอกชนหลายแห่งมา 4 ปีแล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิงซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นกระเป๋าตังของบ้าน เน้นไปที่ระดับผู้บริหารองค์กร เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับพนักงาน จนเกิดผลบวกเป็นรูปธรรม อย่างบริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่พนักงาน 7,000 คน เมื่อรู้วิธีบริหารจัดการและออมเงินแล้ว ก็สามารถลดการทุจริตในองค์กรได้ถึงร้อยละ 30

เรื่องเงินๆ ทองๆ ต้องรู้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image