เจาะลึก ‘เทรนด์การท่องเที่ยว’ โซเชียลมีเดีย ‘หัวใจหลัก’ วางแผนการเดินทาง

เจาะลึก ‘เทรนด์การท่องเที่ยว’ โซเชียลมีเดีย ‘หัวใจหลัก’ วางแผนการเดินทาง

“คลูก” (Klook)  /บินลัดฟ้าไปอัพเดต “เทรนด์การท่องเที่ยว” ไกลถึง สำนักงาน “คลูก” (Klook) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในย่านโบ๊ทคีย์ บนเกาะสิงคโปร์ เจ้าของแพลตฟอร์มการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

ที่ยกตัวเองว่าเป็น “อันดับหนึ่งของเอเชีย” ด้านการบริการท่องเที่ยว

เพราะในปัจจุบัน “การท่องเที่ยว” ได้กลายเป็นหนึ่งใน “ไลฟ์สไตล์” ของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้หยุดเพียงแค่ออกไปหาประสบการณ์ ดื่มด่ำกับบรรยากาศ แต่เป็นการ “ปลดล็อกชีวิต” มองหาสิ่งใหม่ๆ ระหว่างออกเดินทาง

หลายคนบอกว่าเป็นการดับความกระหายและเติมเต็ม “ตัวตน” ให้สุกงอมมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“เป็นเรื่องจริงที่ว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่น่าสนใจคือผู้คนเริ่มมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่ต้องการจะทำอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อคุณมองหาโรงแรมคุณก็จองโรงแรม แต่ไม่เพียงแค่ว่าที่พักดีเท่านั้น แต่คุณยังมองหาว่ารอบๆ ที่พักมีอะไรใหม่ๆ น่าสนใจบ้าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารดีๆ สักมื้อ แหล่งช้อปปิ้ง ตลอดจนการคมนาคม”

และหนึ่งกระแสนิยมคือ “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม”

“การท่องเที่ยวในยุคนี้จึงเป็นเรื่องของการมองหาจุดที่จะเดินทางไปต่ออย่างไม่มีลิมิต”

Advertisement

มาคัส ยง อายุ 32 ปี กล่าวถึงเทรนด์การท่องเที่ยวโลกภายใต้บทบาทของผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคลูก ซึ่งรับผิดชอบในการยกระดับศักยภาพของแบรนด์และการเติบโตของ “กลุ่มนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยตัวเอง” (Free and Independent Traveler : FIT) ในทั้งหมด 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, ไทย และอินโดนีเซีย ตลอดจนอินเดีย ที่จะเข้ามาร่วมกลุ่มกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเร็วๆ นี้

มาคัส ยง

แล้วทำไมนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT จึงสำคัญ?

นั่นเพราะ “นักท่องเที่ยวแบบอิสระ” หรือ “นิยมเดินทางด้วยตัวเอง” เป็นลักษณะนักท่องเที่ยวที่วางแผนทุกอย่างด้วยตัวเอง เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวประเภทนี้จำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังชี้ให้เห็นอีกว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทย 60% มาเที่ยวแบบ FIT และ 40% เที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์

สอดคล้องกับข้อมูลจาก “Baidu” ที่ทำการสำรวจแล้วพบว่านักท่องเที่ยวจีนที่มีประสบการณ์มาเที่ยวเมืองไทยแล้ว 74% จะกลับมาเที่ยวอีก แต่จะเป็นการมาเที่ยวแบบ FIT และปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีน นิยมเที่ยวสไตล์ FIT มากขึ้น ก็สืบเนื่องมาจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น สามารถค้นหาข้อมูล ติดต่อจองตั๋วเครื่องบิน จองห้องพักผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทาง “โซเชียลมีเดีย”

ซึ่งไม่เพียงแค่กับนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น แต่ “โซเชียลมีเดีย” ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ใช้สื่อสารได้ดีกับ “นักท่องเที่ยวไทย” ด้วย

กับเรื่องนี้ มาคัสกล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยร้อยละ 80 ของผู้ใช้งาน Klook ชาวไทยมีอัตราการท่องโลกออนไลน์เฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวแบบคนไทย คือ “โซเชียลมีเดีย” กล่าวคือนักท่องเที่ยวชาวไทยชื่นชอบที่จะโพสต์รูปการทำกิจกรรม ท่องเที่ยว ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะ เฟซบุ๊ก พันทิป และอินสตาแกรม 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 65-70 คนที่วางแผนการท่องเที่ยวมักจะเป็น “ผู้หญิง” เพราะมีความละเอียดและรอบคอบ พร้อมทั้งยังคำนึงและใส่ใจถึงความจำเป็น และรู้จักผู้ร่วมทริปเป็นอย่างดี จึงมีการจัดการได้อย่างเหมาะสม

มากไปกว่านั้น ไม่เพียงแต่คนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียมเท่านั้น ที่ต้องการออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านการท่องเที่ยว “ผู้ใหญ่” ก็ต้องการที่จะออกท่องเที่ยวเหมือนกัน แต่ยังขาด “ความมั่นใจ” ทำให้พวกเขาต้องการที่ปรึกษาด้านการเดินทาง ที่สามารถถาม-ตอบได้ การจัดอีเวนต์หรือบูธท่องเที่ยวจึงตอบโจทย์ตรงนี้ได้

“เพราะเป็นการเชื่อมโยงจากระบบออฟไลน์ สู่ ออนไลน์”

การหลอมรวมการท่องเที่ยวกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จึงกลายเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี การันตีจากการที่ Klook ก้าวจากธุรกิจสตาร์ตอัพสู่บริษัทที่มียอดในการระดมเงินทุนมูลค่ารวม 520 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลายเป็นบริษัทในภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าการระดมเงินทุนสูงสุดภายในระยะเวลา 5 ปี

แอพพลิเคชั่น Klook

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่อีกบางกลุ่มได้ออกท่องเที่ยวในรูปแบบของ “ครอบครัว” ซึ่งเป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวหลายเจเนอเรชั่น” (Multigenerational Travel) คือการที่บุตรหลานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่เป็นคนวางแผนการเดินทาง และดำเนินการจองตั๋วต่างๆ เป็นรูปแบบที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และส่วนใหญ่มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่พาญาติผู้ใหญ่ไปท่องเที่ยวพักผ่อนกันอย่างพร้อมหน้า ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย ไม่เพียงแค่มาท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ต้องเที่ยวไปพร้อมๆ กับทำกิจกรรมอื่นร่วมด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ จึงเกิดเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

“นักเดินทางที่เป็นผู้ใหญ่หน่อยก็จะมองหา เดสติเนชั่นที่มีความเป็นเมือง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ ก็จะตอบโจทย์ของผู้ใหญ่ได้ดี คือไม่ได้มาเที่ยวอย่างเดียวแต่มีช้อปปิ้ง กินข้าว และไนท์ไลฟ์ด้วย” มาคัสกล่าว

คนนอกอยากมาเที่ยวในไทย
คนไทยอยากไปเที่ยวเมืองนอก

มาคัสยังให้ความเห็นถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยได้อย่างน่าสนใจว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการไปท่องเที่ยวไทย ส่วนมากจะเป็น ชาวฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์

ความพิเศษของประเทศไทยคือ มีคนเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศตลอดทั้งปี ไม่เพียงแค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น

“แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยเอง ก็มีอัตราการท่องเที่ยวที่เติบโตไวเช่นกัน พวกเขาไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น และยุโรป เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปในทิศทางที่ว่า คนจำนวนมากเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทย แต่ว่านักท่องเที่ยวไทยเองก็เดินทางไปท่องเที่ยวนอกประเทศ”

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่า พฤติกรรมการวางแผนการท่องเที่ยวของคนไทยส่วนมาก จะยังไม่จองตั๋วหรือบริการในทันที แต่จะเข้าไปศึกษาหาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์พันทิป อินสตาแกรม ฟอรั่มออนไลน์ เพื่อหาข้อมูล เบสต์ดีล และคอนเทนต์แบบละเอียดๆ เกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ เสียก่อน

และคนไทยยังไม่นิยมใช้แล็ปท็อปในการเสิร์ช แต่จะใช้มือถือในการเสิร์ชหาข้อมูลจนติดอันดับ 3 ของโลกในด้านการใช้งานสมาร์ทโฟน!

แล้วคนไทยชอบจองไปเที่ยวประเทศไหนกันนะ?

ญี่ปุ่น เดสติเนชั่นยอดฮิตของคนไทย

ไขข้อสงสัยด้วยการเผย 5 อันดับ จุดหมายการเดินทางที่คนไทยกระทำการจองกิจกรรมผ่าน Klook และออกเดินทางไปมากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 ประเทศญี่ปุ่น ยังคงเป็นสถานที่ยอดฮิตในใจของใครหลายคน โดยเฉพาะ “โตเกียว” ที่ยอดซื้อตั๋วกระหน่ำมากๆ ต่อด้วยอันดับ 2 ฮ่องกง อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 เกาหลีใต้ และอันดับ 5 ประเทศไทย ซึ่งในที่นี้หมายความว่า คนไทยยังคงท่องเที่ยวภายในประเทศและมียอดจองกิจกรรมและบริการต่างๆ ไม่น้อย โดยเฉพาะการทำกิจกรรมในต่างจังหวัด นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เช่น กระบี่ เขาใหญ่ ภูเก็ต เป็นต้น

สำหรับแอพพลิเคชั่น Klook สามารถออกเสียงได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น คลูก, เคลุก มาจากการหลอมรวมคำว่า Keep Looking ซึ่งมีความหมายว่า “มองไปข้างหน้า” เข้าด้วยกัน และเป็นวันสต๊อปแพลตฟอร์ม สำหรับการจองตั๋วและวางแผนการท่องเที่ยวผ่านทางเว็บไซต์ หรือสมาร์ทโฟน ซึ่งจะมีหลายหมวดให้เลือก เช่น กิจกรรม อาหาร อีเวนต์ต่างๆ – สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ทัวร์ ไวไฟ+ซิมการ์ด การคมนาคมและการขนส่ง (ระบบขนส่งสาธารณะ) และอื่นๆ

ตอบโจทย์สิ่งที่นักท่องเที่ยวมองหา 3 อันดับแรกในการวางแผนการเดินทาง คือ เบสต์ ดีล หรือ ราคา ที่รับได้ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ, ความสะดวกสบาย และรีวิวจากผู้ใช้จริง

“ถ้าพูดเรื่องสิ่งที่นักท่องเที่ยวชอบที่สุดก็คือเรื่องของราคา และความสะดวกสบาย คนเรามองหาสิ่งที่เป็น “เบสต์ ดีล” ซึ่ง Klook เปิดให้ผู้ใช้งานซื้อตั๋วได้จนถึงวินาทีสุดท้าย ซื้อแล้วใช้งานได้เลย ไม่ต้องรอ เพราะบางครั้งแม้ว่าจะซื้อผ่านเว็บไซต์ออฟฟิเชียลของสถานที่ท่องเที่ยวก็ต้องรออีก 2 วันถึงจะใช้งานได้ เช่น ในฮ่องกงที่ต้องขึ้นกระเช้าไปไหว้พระบนเขา ก็สามารถซื้อตั๋วผ่านแอพพลิเคชั่นและเข้าไปใช้บริการได้เลย ไม่ต้องไปต่อคิวซื้อที่หน้างาน เป็นต้น”

ตอบโจทย์คนรักการเดินทาง

Universal Singapore

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image