นักประวัติศาสตร์พากันสันนิษฐานต่างๆ นานา ว่ากองทัพม้าอันเกรียงไกรของ เจงกิส ข่าน จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิมองโกล ทำไมจู่ๆ ถึงยกทัพกลับเอเชียทั้งๆ ที่กรีฑาทัพมาจนถึงยุโรป พิชิตศึกที่ฮังการีและโปแลนด์ได้หลายครั้งหลายหน ขณะที่ปิดล้อมออสเตรียอยู่นานสองเดือนเท่านั้น บัดนี้ นักวิทยาศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าได้คำตอบไขปริศนาดังกล่าวนั้นได้แล้ว จากการศึกษาวงปีของต้นไม้ย้อนหลังกลับไปในยุคกลาง
รายงานวิจัยใหม่ดังกล่าวนี้เป็นของ ดร.อุลฟ์ บึนท์เกน หัวหน้ากลุ่มวิชาการ เดนโดรอีโคโลจี ประจำสถาบันวิจัยแห่งรัฐสวิส และศาสตราจารย์ นิโคลา ดิ คอสโม นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกศึกษา จากสถาบันการศึกษาก้าวหน้า ในเมืองปรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์เผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการออนไลน์ ไซนซ์ทิฟิก รีพอร์ทส์ เมื่อ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง
“เดนโดรอีโคโลจี” เป็นวิทยาการว่าด้วยการศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีตจากวงปีของต้นไม้ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้นไม้จะมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็ตาม ในปีที่มีความอบอุ่นน้ำแข็งละลายเร็วทำให้สภาพแวดล้อมเปียกชื้น วงปีของต้นไม้จะหนามากเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามกับปีที่หนาวเย็น แห้งแล้ง วงปีจะบางกว่าแสดงให้เห็นถึงภาวะขาดน้ำที่ทำให้ต้นไม้ขาดสารอาหารตามไปด้วย
เจงกิส ข่าน เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1227 โดยมีจักรพรรดิโอโกเดอี ข่าน ลูกชายได้รับการสถาปนาขึ้นแทนที่ ในตอนนั้น อาณาจักรมองโกลกว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนไปจนถึงทะเลแคสเปียน ซึ่งเป็นตอนเหนือของประเทศอิหร่านในปัจจุบันนี้แล้ว แต่จักรพรรดิใหม่ยังคงดำเนินนโยบายยึดครองไว้เหมือนเดิม กรีฑาทัพขยายดินแดนออกไปทั้งทางตะวันออกและตะวันตกต่อเนื่อง เมื่อสามารถพิชิตทางตะวันตกของจีนได้แล้ว กองทัพม้ามองโกลก็มุ่งหน้าสู่รัสเซีย ถึงปี 1240 ก็ยึดครองเคียฟได้สำเร็จ โดยอาศัยม้าศึกและดินปืนจากจีนเป็นยุทธปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากยุทธวิธีปิดล้อมที่นำมาใช้อย่างได้ผล ในเดือนมีนาคม 1241 กษัตริย์เบลา ที่ 4 หลบหนีออกจากเมืองเปสต์ (“ส่วนหนึ่ง”ของกรุงบูดาเปสต์ในปัจจุบัน) ทัพม้ามองโกลสังหารชาวฮังการีไปเป็นเรือนล้าน แต่พอถึงปี 1242 ถัดมา กองทัพม้าเหล่านี้กลับหันหลังกลับมองโกลผ่านทางรัสเซีย ศึกใหญ่เพื่อขยายอาณาเขตทางตะวันตกยุติลงโดยสิ้นเชิง แม้ไม่มีวี่แววว่าจะพบกับความปราชัยก็ตามที
นักวิจัยทั้งสองใช้การศึกษาวงปีของต้นไม้ใหญ่ในเขตยูเรเซีย 5 เขตเพื่อตรวจสอบดูว่าสภาวะอากาศในช่วงเวลาที่จักรวรรดิมองโกลแผ่อิทธิพลมาถึงนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็พบว่า สภาพอากาศในฮังการีและพื้นที่โดยรอบในช่วงระหว่างปี 1238 จนถึงปี 1241 นั้นเย็นและชื้นแฉะเป็นพิเศษ ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็วกว่าปกติทำให้น้ำแข็งและหิมะละลาย พื้นที่ราบลุ่มกลายเป็นหนองบึงและที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ไม่เหมาะสำหรับการเคลื่อนทัพม้านับหมื่นนับแสน ทั้งที่เป็นม้าศึกและม้าเพื่อลำเลียงยุทโธปกรณ์ ปีสุดท้ายของการทำศึกคือในปี 1242 ยิ่งชื้นแฉะมากยิ่งขึ้นส่งผลให้ธัญญาหารที่เป็นเสบียงเน่าเสีย นอกจากนั้นในพื้นที่เดียวกันนั้นยังเกิดทุพภิกขภัยขึ้นในเวลาต่อมาทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเรือนหมื่นอีกด้วย
หลังจากนั้น จักรวรรดิมองโกลก็ถึงกาลแตกแยก แย่งอำนาจกันจนไม่สามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกเลย