ภัยออนไลน์กลืนกินอนาคตชาติ ถึงเวลาต้องมี กม.คุ้มครอง

ภัยออนไลน์

ภัยออนไลน์กลืนกินอนาคตชาติ ถึงเวลาต้องมี กม.คุ้มครอง

ภัยออนไลน์ – เทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งสามารถสรรค์สร้างประโยชน์แก่ผู้ใช้งาน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือทำลายชีวิต หากใช้อย่างรู้ไม่เท่าทัน

โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทย ที่มักปรากฏเป็นข่าวถูก บูลลี่ (Bully) บนโลกออนไลน์จนสูญเสียความเป็นตัวเอง บางคนก็ถูกหลอกล่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ กว่าจะรู้ตัวและจัดการปัญหาก็สายไปเสียแล้ว จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนารับฟังความคิดเห็นโครงสร้าง พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดโดยใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. … จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพฯ

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานว่า สื่อออนไลน์กำลังเป็นที่น่าห่วงต่อเด็กและเยาวชน เพราะมีหลายคนตกเป็นเหยื่อ แม้จริงๆ แล้วผู้คิดสื่อออนไลน์อาจ

Advertisement

มองในแง่ประโยชน์ที่จะได้รับ แต่วันเวลาผ่านไปก็มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก จึงได้หารือปัญหานี้และเห็นร่วมกันว่าควรจะมีกฎหมายสักฉบับที่จะควบคุมเรื่องนี้ คณะทำงานจึงยกร่างกรอบขึ้นมา เพื่อจะเปิดให้ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านต่างๆ ได้มาถกเถียง ให้ข้อมูลการปฏิบัติ และให้ข้อเสนอแนะ ในการจัดทำเป็นร่างกฎหมายเสนอตามขั้นตอนและสามารถบังคับใช้ได้จริงต่อไป

ภายในงาน คณะทำงานได้นำโครงสร้าง พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดโดยใช้สื่อออนไลน์ พ.ศ. … มาแจกผู้ร่วมเสวนา แบ่งเบื้องต้นเป็น 7 หมวด มีคร่าวๆ ไว้แล้ว 31 มาตรา ก่อนจะนำเสนอและเปิดเวทีพูดคุยรับฟังความคิดเห็นตามรายมาตรา อย่างมาตราที่มีการถกเถียงมากคือ มาตรา 8 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ โดยมุ่งคุกคามบุคคลอื่นผ่านสื่ออนไลน์ เพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่ สร้างความเดือดร้อนรำคาญ, รบกวนความเป็นส่วนตัว, ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน และข่มขืนใจให้กระทำ ไม่กระทำ หรือจำยอมต่อสิ่งใด ผู้นั้นต้องระวางโทษไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และมาตรา 9 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ไม่ว่าจะด้วยการพูด การเคลื่อนไหวร่างกาย การสื่อสาร การแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือด้วยวิธีการอื่นใดที่เป็นการกระทำซ้ำ โดยประการที่น่าจะให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกหวาดกลัว อับอาย คุกคาม หรือเป็นอันตรายอื่นๆ ต่อร่างกาย จิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวในการนำเสนอหลักการและโครงสร้างกฎหมายนี้ว่า จากงานวิจัยของ ดร.ศรีดา

ตันทะอธิพานิช ที่เผยแพร่ในปี 2561 ได้สำรวจเด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี จำนวน 15,000 คน ทั่วประเทศเรื่องพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ พบว่าร้อยละ 94.6 เด็กและเยาวชนเชื่อว่ามีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบบนอินเตอร์เน็ต ขณะที่ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ แยกเป็นร้อยละ 3 บอกถูกกลั่นแกล้งทุกวัน ส่วนร้อยละ 20 ของเด็กผู้ชายเคยนัดเจอกับบุคคลที่พูดคุยทางสื่อออนไลน์ ส่วนเด็กผู้หญิงก็มีเช่นกัน ส่วนร้อยละ 80 บอกว่าเคยเห็นสื่อลามกออนไลน์ และร้อยละ 20 ของคนที่ได้เคยเจอสื่อลามกออนไลน์บอกว่าสื่อที่พบเป็นสื่อลามกอนาจารเด็กอีกด้วย กฎหมายฉบับนี้จึงมีความสำคัญ สอดคล้องกับผลสำรวจที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

“ความคิดของพ่อแม่ผู้ปกครองว่าลูกหลานเรา หากอยู่บ้านแล้วจะได้รับความปลอดภัย ไม่ถูกกระทำ ไม่ถูกขมเหงรังแก ไม่ถูกล่อลวง หรือมีอุบัติเหตุ แต่จริงๆ เป็นมุมกลับกันเลย เพราะเวลาลูกหลานเข้าห้องนอน เขาก็เสมือนออกไปนอกบ้าน มีช่องทางในการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถกระทำการที่เป็นลักษณะความผิดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การชวนคุยเรื่องทางเพศ การนัดเจอหลังพูดคุย ซึ่งกำลังพบมาก รวมถึงการบูลลี่ ดูถูก ว่ากล่าวบนโลกออนไลน์ ตลอดจนการล่อลวงในโลกออนไลน์ ซึ่งพบแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถลงกับเนื้อหาที่เป็นสารัตถะองค์ประกอบในทางปฏิบัติได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงยังมีช่องโหว่ช่องว่าง และจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายต้องมีกฎหมายมาใช้เทียบเคียงเพื่อปรับใช้ในการ

กระทำดังกล่าว จึงเป็นที่มาว่าประเทศไทยควรมีเครื่องมือที่จะมาคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากโลกออนไลน์ได้หรือยัง” ดร.มาร์คกล่าว

ดร.มาร์ค เจริญวงศ์

ภายในงานได้มีนักกฎหมาย ทั้งอัยการ ทนายความ รวมถึงจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักสังคมสงเคราะห์ และตัวแทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะ อย่างที่น่าสนใจคือ ฝั่งตำรวจเห็นด้วยที่จะมีกฎหมายดังกล่าว เพราะปัจจุบันมีคดีเกี่ยวกับการหลอกลวง ฉ้อโกงบนออนไลน์จำนวนมาก ขณะที่กฎหมายปัจจุบันไม่เอื้อต่อการตามจับผู้กระทำผิดได้สะดวกนัก อีกทั้งเสนอให้มีการลงทะเบียนใช้สื่ออนไลน์แบบระบุตัวตน เพื่อเป็นบัญชีอย่างเป็นทางการในการติดต่อสื่อสารและค้าขาย

ส่วนจิตแพทย์เด็กก็แสดงความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น หลังใช้สื่อออนไลน์เป็นเวลานานและไม่มีการควบคุม เช่น การกรีดข้อมือ ย่องเบาขโมยของ ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย เพื่อเลียนแบบพฤติกรรมเน็ตไอดอลที่ชื่นชอบ รวมถึงทำตามคำบอกหรือชาเลนท์ในโลกออนไลน์ จึงเสนอให้มีมาตรการควบคุมพฤติกรรมของเน็ตไอดอลที่แสดงในสื่อออนไลน์ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

ดร.มาร์คกล่าวภายหลังเสวนาว่า คณะทำงานจะรวบรวมข้อเสนอต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กฯ เพื่อจะเดินหน้ายกร่างกฎหมายที่ชัดเจน ก่อนจัดเวทีรับฟังเสียงจากประชาชน ซึ่งคาดว่าประมาณปลายปีนี้น่าจะเห็นร่างกฎหมายที่ชัดเจนได้ ก่อนเสนอตามขั้นตอนเข้าสภา ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เว้นหากกระแสสังคมสนใจและอยากผลักดันก็จะเร็วขึ้นได้

ภัยใกล้ตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image