ผู้เชี่ยวชาญแนะเคล็ดลับ ‘ปลุกเงินให้ทำงาน’

ปลุกเงินให้ทำงาน

ผู้เชี่ยวชาญแนะเคล็ดลับ ‘ปลุกเงินให้ทำงาน’

ปลุกเงินให้ทำงาน – ในยุคปัจจุบัน คำว่า “อิสระทางการเงิน” และ “การวางแผนการเงิน” ได้กลายเป็นหัวข้อที่ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น ด้วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่งคั่งให้ทรัพย์สินเติบโตตามเป้าหมาย หรือวางแผนให้อนาคตมีความมั่นคงทางด้านการเงิน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเตรียมแต่งงาน วางแผนเกษียณ ส่งลูกเรียนต่อ ฯลฯ

พิทักษ์ สภาธรรม ที่ปรึกษาทางการเงินและนักวางแผนการเงินอิสระ เจ้าของเพจ WealthyHealthyMe ได้แนะนำเคล็ดลับ 4 ข้อในการเตรียมทางเลือกเพื่อ “ปลุกเงินให้ทำงาน” ตามระยะเวลาในแต่ละช่วงวัยของชีวิต เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงิน

ประกอบด้วย 1.สิ่งที่ต้องมีคือ “เงิน” โดยแบ่งออกเป็นเงินฉุกเฉิน สำหรับรายจ่ายประจำล่วงหน้า 6 เดือน ซึ่งต้องกันเงินส่วนนี้ไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในกรณีรายได้ประจำหยุดชะงัก ทั้งเป็นส่วนที่จะช่วยอุดรอยรั่วทางการเงินต่างๆ เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ รวมถึงความจำเป็นอื่นๆ เรียกว่า “งบสำหรับนำไปปลุกให้ทำงาน”

2.กำหนดระยะเวลาใน “การลงทุน” แต่ละระยะ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมีอยู่ 3 ระยะ คือ “ระยะสั้น” สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สภาพคล่องสูง สามารถนำมาใช้ได้ทันที แต่อาจไม่ใช่เงินฝากออมทรัพย์ อาจเป็นกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งให้ผลตอบแทนดีกว่าการออมทรัพย์ทั่วไป ให้ผลตอบแทน 2-3% ในระยะเวลา 3-6 เดือน หรือ 1 ปี, “ระยะกลาง” สำหรับวางแผนซื้อรถ บ้าน หรือแต่งงาน ส่วนสภาพคล่องระยะกลาง ได้แก่ กองทุนหุ้น หรือกองทุนผสมตราสารหนี้และหุ้น กำหนดการลงทุน 3-5 ปี และ “ระยะยาว” สำหรับใช้ช่วงเกษียณ หรือการศึกษาบุตร สภาพคล่องระยะยาว ได้แก่ กองทุนหุ้นหรือหุ้นรายตัว ใช้ระยะเวลาในการลงทุน 10 ปีขึ้นไป

Advertisement
พิทักษ์ สภาธรรม

3.กำหนดระยะเวลาในการ “ลงทุนเพิ่ม” ให้สม่ำเสมอ โดยแบ่งเป็นรายเดือน รายไตรมาส และรายปี เมื่อมีรายได้ ต้องหักเงินออมตามเป้าหมายเพื่อไปลงทุนและถึงจะเป็นค่าใช้จ่าย อาจแบ่งออกเป็น 50/50 ครึ่งหนึ่งสำหรับใช้จ่าย และนำเงินอีกครึ่งหนึ่งไปปลุกให้ทำงาน ด้วยการลงทุน 3 ระยะ คือ สั้น กลาง ยาว ตามแผนที่วางไว้ จะทำให้ใช้เงินอย่างมีจุดหมาย ไม่ใช่ใช้ไปเรื่อยๆ จนหมด เหลือก็ลงทุน ไม่เหลือก็ไม่ลงทุน หรือแม้แต่การวางเงินไว้ในที่ที่ไม่สามารถเติบโตได้ (เงินขี้เกียจ)

4.เมื่อถึงเวลาตามเป้าหมายแต่ละช่วงก็สามารถปรับเปลี่ยนแผนการเก็บเงิน เพราะบางคนอาจไม่อยากเก็บเงินทั้งชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าผัดวันประกันพรุ่ง หรือเลื่อนเวลาในการเริ่มวางแผนทางการเงินไปเรื่อยๆ เพราะนั่นหมายถึงการเลื่อนเป้าหมายไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

ที่ปรึกษาทางการเงินทิ้งท้ายไว้ว่า “หากไม่เริ่มวางแผน ‘ปลุกเงินให้ทำงาน’ ตั้งแต่วันนี้ ก็อาจจะกลายเป็นเราที่โดนปลุกให้ไปทำงานทั้งชีวิต”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image