เปิดสถานที่สำคัญ ตามรอยพระราชกรณียกิจ ห้วงเดือนมหามงคล

ตามรอยพระราชกรณียกิจ
พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ

เปิดสถานที่สำคัญ ตามรอยพระราชกรณียกิจ ห้วงเดือนมหามงคล

อยู่ในห้วงเดือนมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม และต่อเนื่องใน วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม

เป็นโอกาสสำคัญที่พสกนิกรชาวไทยจะน้อมใจถวายพระพรชัยมงคล แสดงความจงรักภักดี และเรียนรู้ถึงพระราชกรณียกิจ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร อย่างการเดินทางไปเรียนรู้สถานที่สำคัญ เพื่อตามรอยพระราชกรณียกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมได้รู้สึกอิ่มเอมหัวใจ ท่ามกลางช่วงเวลาสำคัญของพสกนิกรชาวไทย

เริ่มที่ “พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ” ซึ่งรวบรวมอากาศยาน อาวุธยุทโธปกรณ์ ที่เคยใช้ในกองทัพอากาศ รวมถึงมีห้องสมุดที่มีจดหมายเหตุ และเอกสารทางประวัติศาสตร์ไว้ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับการบิน และได้พระราชทานเครื่องบินแบบ “สปิตไฟร์” ของกองทัพอากาศไทย ซึ่งปลดประจำการไปแล้ว และนำมาจัดแสดง

เครื่องบินแบบสปิตไฟร์

ไปต่อที่ “หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปินไทย ทั้งศิลปินรุ่นใหม่และอาวุโสตลอดทั้งปี เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเติมเต็มความรู้ด้านงานศิลปะ

Advertisement
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

“พระราชวังพญาไท” ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการเป็นโรงนาหลวง ทดลองทำนาทำสวน เวลาต่อมาได้รับการบูรณะเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ผสมผสานการออกแบบระหว่างโรมาเนสก์กับโกธิคเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน

พระราชวังพญาไท

ออกต่างจังหวัดไปที่ จ.ปทุมธานี “พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” จัดแสดงพระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ภูมิปัญญานวัตกรรมเกษตร เศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เหมาะกับครอบครัวที่จะพาเด็กๆ เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรม

“อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” จ.สมุทรสงคราม ภายในมีเรือนไทยโบราณที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ขนมไทยจำลอง มีโรงละครกลางแจ้งสำหรับจัดการแสดงโขน ละคร ดนตรี ตามบทพระราชนิพนธ์ อีกทั้งมีสื่อมัลติมีเดียเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ตลอดจนพระอัจฉริยภาพในทางวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีไทย นาฏศิลป์ จิตรกรรม สถาปัตยกรรม

อุทยาน ร.2

ปิดท้ายขึ้นเหนือไปที่ จ.เชียงใหม่ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” เนื้อที่กว่า 500 ไร่ จัดแสดงโครงการพระราชดำริผ่านเทคนิคแสงสีเสียง อย่างพระอัจฉริยภาพผ่านโครงการส่วนพระองค์ อาทิ นาข้าวทดลอง ปลานิล ปลาหมอเทศ โรงโคนม ไบโอดีเซล สาหร่ายเกลียวทอง การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดจนฝนหลวง

อุทยานหลวงราชพฤกษ์

ผู้สนใจสามารถใช้บริการบัตรเที่ยวพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วไทย “บัตรมิวพาส” ดูรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก facebook.com/musepass

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image