สรรหามาเล่า…ผู้ป่วยคนแรกที่ใช้ ‘กฎหมายการุณยฆาต’ ของรัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย

สรรหามาเล่า…ผู้ป่วยคนแรกที่ใช้ ‘กฎหมายการุณยฆาต’ ของรัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา “เคอรี โรเบิร์ตสัน” หญิงผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายวัย 61 ปี ได้เสียชีวิตจากไปอย่างสงบตามความต้องการของเธอ ที่บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย โดยเคอรี โรเบิร์ตสัน เป็น “คนแรก”ที่ใช้สิทธิขอตาย ภายใต้กฎหมายการุณยฆาตที่รัฐวิกตอเรีย ผ่านร่างกฎหมายนี้เมื่อปี 2560 แต่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ อ้างครอบครัวของโรเบิร์ตสัน เล่าว่า โรเบิร์ตสัน จากไปอย่างสงบตามความต้องการของเธอ และรายล้อมด้วยครอบครัว และว่าโรเบิร์ตสันมีสิทธิที่จะเลือกตายในแบบที่เธอต้องการ

บีบีซี อ้างครอบครัวของ เคอรี โรเบิร์ตสัน เล่าว่า โรเบิร์ตสันถูกวินิจฉัยว่าเป็น โรคมะเร็งเต้านมเมื่อปี 2553 จากนั้นต่อมามะเร็งได้ลามไปยังกระดูก ปอด สมอง และ ตับ โรเบิร์ตสันได้ตัดสินใจหยุดเข้ารับการรักษาทั้งเคมีบำบัด และฉายรังสีเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากทนทนทรมาน จากความเจ็บปวด รวมทั้งผลข้างเคียงต่างๆจากการทำเคมีบำบัด และฉายรังสีไม่ไหว

Advertisement

ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายการุณยฆาตของรัฐวิกตอเรีย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน อนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีสิทธิที่จะขอตาย ภายใต้การช่วยเหลือของแพทย์ “พวกเราเฝ้าอยู่ข้างๆเธอ มีเสียงเพลงของเดวิด โบวี่ เปิดคลอ บรรยากาศตอนนั้นอวบอวลไปด้วยความรัก และคำพูดครั้งสุดท้ายที่เรียบง่ายและ สง่างาม ” นิโคล โรเบิร์ตสัน ลูกสาวของเคอรี กล่าวในแถลงการณ์ ที่ออกโดยองค์กรการกุศลชื่อว่า Go Gentle Australia และว่า “สำหรับฉัน สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ การได้รู้ว่า พวกเราได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อให้เธอมีความสุขในชีวิต และจากไปอย่างสงบ ใครบ้างจะสามารถทำได้แบบนี้? ”

ครอบครัวโรเบิร์ตสัน เล่าว่า เคอรี ได้ยื่นขอใช้สิทธิขอตาย ในวันแรกที่กฎหมายการุณยฆาตมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน และรออยู่ 26 วันจึงได้รับการอนุมัติ

อนึ่ง กฎหมายการุณยฆาตของรัฐวิกตอเรีย ระบุให้ ผู้มีสิทธิขอใช้กฎหมายนี้ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี และมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่ถึง 6 เดือน หรือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 1 ปี ซึ่งระหว่างนี้มีข่าวว่า มีรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย รัฐควีนแลนด์ที่กำลังพิจารณาจะผ่านร่างกฎหมายนี้ ซึ่งมีใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งแคนาดา เนเธอร์แลนด์ และ เบลเยี่ยม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image