ทำอย่างไร เมื่อเสี่ยง ‘เอชไอวี’

ทำอย่างไร เมื่อเสี่ยง ‘เอชไอวี’

เอชไอวี – จากการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 6 พันกว่าคน เฉลี่ยวันละ 17 คน โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ เฉลี่ยวันละ 49 คน และมีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 4.8 แสนคน นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่รู้สถานะการติดเชื้อและยังไม่ได้รับการรักษาประมาณ 2.8 หมื่นคน

ซึ่งประเด็นสำคัญคือ “จะต้องทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี”

กับเรื่องนี้ ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นและให้คำแนะนำด้านการบำบัดรักษาและดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี แนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศใด รสนิยมแบบไหนก็ตาม ควรตรวจเลือดเป็นประจำทุก 3-12 เดือน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมความเสี่ยงและความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสสารคัดหลั่ง โดยในปัจจุบันคนไทยยังสามารถตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ในทุกโรงพยาบาลที่ให้บริการภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงถือบัตรประจำตัวประชาชนไปติดต่อ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทราบผลไวและแม่นยำ

สำหรับ “พฤติกรรมเสี่ยง” เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ควรตรวจเลือดทันที

Advertisement

ทั้งนี้ หากผลตรวจเลือดออกมาว่า “ติดเชื้อเอชไอวี” แล้วรู้ผลไว ยังมีโอกาสใช้ชีวิตได้ปกติ เพราะหากเข้ารับการรักษาล่าช้า จะเริ่มป่วยและมีอาการแทรกซ้อน เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ กระนั้นไม่ต้องกังวลหรือเครียดมากจนเกินไป เพราะระหว่างการรักษาควรมีสุขภาพจิตที่ดี ดังคำที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ซึ่งคนรอบข้างก็ต้องให้ความร่วมมือโดยการดูแลและให้กำลังใจ นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อต้องดูแลร่างกายอย่างสม่ำเสมอ กินอิ่ม นอนหลับ กินอาหารมีประโยชน์แลพักผ่อนให้เพียงพอ ด้วยเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ร่างกายต้องการ เพื่อการเยียวยาและฟื้นฟู ตลอดจนควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ โดยการปรึกษาแพทย์

“แม้ว่าหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนจะแข็งขันเดินหน้ารณรงค์และส่งเสริมความรู้มากเพียงใด ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก็ยังคงเกิดใหม่ทุกวัน แต่นั่นไม่ใช่การโยนบาปให้ใคร คำถามที่สร้างสรรค์คือ ทุกคนจะดำเนินชีวิตอย่างไรอย่างปกติสุข เพราะชีวิตนั้นมีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดเชื้อแล้วหรือไม่ ควรดูแลรักษา และรักชีวิตตนเอง เสริมสร้างทั้งกำลังกาย และกำลังใจ เพื่อฝ่าฟันทุกอุปสรรค และก้าวต่อไป” ศ.ดร.พิเชษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

รู้เร็ว ฟื้นฟูเร็ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image