ปลูกฝังเด็กๆ กินเปลี่ยนโลก

ปลูกฝังเด็กๆ กินเปลี่ยนโลก

จากปัญหาเด็กเยาวชนบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการจึงเกิดเป็นโครงการ พลังเด็กและเยาวชนสร้างสุขภาวะชุมชน เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา “กินเปลี่ยนโลก” ขึ้น และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โครงการได้จัดกิจกรรม “กินตามแม่” ขึ้น

โดย ประภาพรรณ วงศ์บ้านฉาง อดีตครูวัยเกษียณ ประธานโครงการ เล่าว่า ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมีสาเหตุมาจากเรื่องของการกิน เพราะกินไม่ถูกหลัก ดังนั้นจึงต้องมาปฏิวัติกันใหม่ให้เด็กได้รับรู้ว่าจะต้องเลือกกินอาหารอย่างไรเพื่อให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ โดยเน้นไปที่โรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากพบว่าเด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคไม่ค่อยถูกต้อง ส่วนในกรุงเทพฯก็พบว่ามีปัญหาเด็กไม่กินผัก บางส่วนยังพบว่าไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน และชอบกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ตามกระแสสื่อโฆษณา ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้เกิดจากตัวของผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานมากนัก” ประธานโครงการกล่าว

สำหรับกิจกรรมที่นำมาแสดงในงาน “กินเปลี่ยนโลก” แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ ทั้งการจัดนิทรรศการ การสาธิตการปรุงอาหาร การตรวจสอบความปลอดภัยวัตถุดิบสำหรับนำมาปรุงอาหาร ฯลฯ และมีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในการนำไปขยายผลต่อ โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 19 โรงเรียน

Advertisement

กรกนก อุดมชัย ชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม กรุงเทพฯ ที่กล่าวว่า ในโรงเรียนนั้นดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาวะ สนับสนุนการออกกำลังกาย และรณรงค์ให้นักเรียนลดการกินขนมกรุบกรอบที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการทดสอบสารปนเปื้อนในอาหารจะทำให้นักเรียนตระหนักและมีความระมัดระวังในการหาซื้ออาหารต่างๆ มาบริโภคมากขึ้น

กรกนก อุดมชัย

ขณะที่ ฐิติภา ปัตตาเทสัง ม.3 บอกเสริมว่า ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมเคยมีพฤติกรรมกินอาหารไม่เป็นเวลา และไม่กินผัก จนกระทั่งได้รับความรู้จากการร่วมอบรมจึงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและครอบครัว ส่วนในโรงเรียนแกนนำนักเรียนก็ได้นำความรู้ไปเผยแพร่ต่อในหมู่เพื่อนๆ ให้เกิดความตระหนักถึงพฤติกรรมการกินให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ

ฐิติภา ปัตตาเทสัง

ทางด้าน ปิยะธิดา จั้นพลแสน ม.6 โรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ จ.มหาสารคาม เล่าว่า ที่โรงเรียนดำเนินกิจกรรมหลัก 2 ประเด็นคือ ในระดับชั้น ม.1 เป็นกิจกรรมชวนน้องกินผัก ส่วนชั้น ม.2 ทำกิจกรรมลดหวาน มัน เค็ม ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ ชวนรุ่นน้องมาเข้าร่วมกิจกรรม นำวิทยากรผู้มีความรู้ด้านโภชนาการมาให้ความรู้ จัดกิจกรรมตลาดนัดกินเปลี่ยนโลกในโรงเรียน และยังนำความรู้ไปจัดกิจกรรมให้ชุมชนมีส่วนร่วมนอกโรงเรียนอีกด้วย จากกิจกรรมนี้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนในการรับประทานอาหารต่างๆ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น

Advertisement
ปิยะธิดา จั้นพลแสน

พลังจากเด็กและเยาวชนเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image