กลยุทธ์รังผึ้งของ ‘หัวเว่ย’ สู่ความสำเร็จระดับโลก

โทมัส หลิว

“หัวเว่ย” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่ผงาดขึ้นมาในตลาดสมาร์ทโฟนโลก แม้ว่าตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย ชื่อของหัวเว่ยอาจจะยังไม่ได้ครองส่วนแบ่งในตลาดมากนัก แต่ในตลาดโลก หัวเว่ยได้ชื่อว่าเป็นอันดับ 3 ของสมาร์ทโฟนโลกเลยทีเดียว หรือถ้าเป็นกลุ่มแอนดรอยด์ ก็อยู่อันดับ 2 ของโลก

อะไรที่ทำให้ชื่อของ “หัวเว่ย” ขึ้นมาถึงจุดนี้ได้

นายโทมัส หลิว ประธานบริหาร หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิซิเนส กรุ๊ป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยถึงเบื้องหลังของความสำเร็จของหัวเว่ย ในกลุ่มธุรกิจคอนซูมเมอร์ บิซิเนส ว่า เกิดจากการทำโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า “โกลบอล อินโนเวชั่น ไฮฟ์” (Global Innovation Hive) หรือจีไอเอช ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจแบบรังผึ้งที่ช่วยในการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่ศตวรรษที่ 21

รังผึ้ง

Advertisement

โดยที่ผ่านมา หัวเว่ยเองมีการเติบโตในตลาดสมาร์ทโฟนเรื่อยมา ซึ่งนายโทมัสกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากความใส่ใจทั้งในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี และใส่ใจต่อความต้องการของลูกค้า อย่างเรื่องของรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการออกแบบที่สวยหรู มีการร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจแฟชั่นต่างๆ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีสไตล์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิง

 

อย่างตัวของสมาร์ทวอทช์ของหัวเว่ย ที่ได้มีการผสมผสานเรื่องของดีไซน์เข้าไป และมีรุ่นพิเศษที่ออกแบบร่วมกับ “ฟอร์นาเซตติ” แบรนด์ดังจากอิตาลี ที่ทำให้ได้สายนาฬิกาที่มีความสวยหรูมีดีไซน์

ซึ่งกลยุทธ์สำคัญของหัวเว่ยในการทำธุรกิจ ที่เรียกว่า โกลบอล อินโนเวชั่น ไฮฟ์ นั้น คือการเปรียบหัวเว่ยเหมือนกับรังผึ้ง ที่มีผึ้งอยู่จำนวนมาก แต่ทุกตัวจะบินไปในทิศทางเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกัน โดยไม่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายเอาไว้ เพียงแต่มีกรอบว่าจะบริหารไปทางไหน และพร้อมที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน

หัวเว่ย ได้ใช้นวัตกรรมการจัดการและบริหารองค์กรแบบกระจายอำนาจ ที่ทำให้เกิดปัญญาทางธุรกิจที่นำไปสู่การทำงานอย่างมีเสรีภาพ หากแต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ

ข้อแรก คือ การหมุนเวียนของซีอีโอ ทุกๆ 6 เดือน โดยผู้บริหารใหญ่ 3 คนของหัวเว่ย จะผลัดกันดำรงตำแหน่งในแต่ประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบริหารแบบเผด็จการขึ้น

ข้อที่ 2 คือ หัวเว่ย เป็นบริษัทเอกชนที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น การบริหารงานจึงไม่จำเป็นจะต้องทำเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้น แต่ทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้หัวเว่ยสามารถพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องรับคำสั่งจากผู้ถือหุ้น

ข้อ 3 คือ การให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยหัวเว่ยจะใช้เงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของผลประกอบการทุกปีไปกับการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุนมากถึง 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีศูนย์อาร์แอนด์ดี มากถึง 16 แห่งทั่วโลก ศูนย์วิจัยย่อยอีก 28 แห่ง ซึ่งผลที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาเหล่านี้เอง ที่กลายเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่อุตสาหกรรม สำหรับในประเทศไทยนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้มีการลงทุนไปทั้งหมด 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทุกๆ ด้าน

และ ข้อ 4 คือ การให้พนักงานทุกคนได้ถือครองหุ้นของบริษัท ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเจ้าของธุรกิจถือเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยปัจจุบันหัวเว่ยมีพนักงานทั้งหมด 170,000 คน เป็นพนักงานในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ราว 40,000 คน และหัวเว่ยจะดูแลพนักงานโดยไม่ต้องการใช้อำนาจในการปกครอง ซึ่งหัวใจหลักของการทำงานร่วมกันคือ “ความไว้ใจ” นั่นเอง

ด้วยความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันหัวเว่ยมีการจดสิทธิบัตรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และมีการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศจีนมากถึง 52,550 รายการ

สำหรับประเทศไทยนั้น มีความรับรู้เรื่องแบรนด์ของหัวเว่ยเพิ่มมากขึ้น จากเมื่อปี 2557 อยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ เป็น 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2558 และตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดแม้จะน้อยอยู่ เป็นตัวเลขตัวเดียว แต่ก็หวังว่าจะเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าตลาดสมาร์ทโฟนจะเริ่มอิ่มตัว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมาอ้างว่าทำให้ขายไม่ได้ เพราะหัวเว่ยก็จะขอเดินหน้าลงทุนเพื่อทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นเพื่อลูกค้าต่อไป

ส่วนเรื่องบริการหลังการขายที่หลายคนบ่นๆ กันนั้น หัวเว่ยประกาศแล้วว่า เตรียมที่จะเปิดตัวบริการหลังการขายที่ใครๆ ก็คาดไม่ถึง รอดูกันว่าจะตื่นเต้นแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image