อึ้ง! เด็กไทยติดเกมออนไลน์ ขโมยบัตรเครดิตพ่อแม่เติมเงินเป็นแสนบาท

ผลสำรวจเผย เด็กไทย 1 ใน 4 คุยคนแปลกหน้าทางเน็ต เสียรู้นัดเจอถูกละเมิด-ถ่ายคลิปแบล๊คเมล์ พบเด็กติดเกมออนไลน์ ขโมยบัตรเครดิตพ่อแม่สูญนับแสน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 สิงหาคม กรมกิจการเด็กและเยาวชนโดย ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์หรือโคแพท (COPAT – Child Ontine Protection Action Thailand) แถลงผลสำรวจที่ทำร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เกี่ยวกับสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ที่สำรวจตั้งแต่ ก.พ. – เม.ย. จากกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ โดยถามถึงพฤติกรรมออนไลน์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา

นางศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจ เด็กเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านแท็บแล็ตและมือถือมากถึง 83% เด็ก 39% ใช้วันละ 6-10 ชั่วโมง โดยเด็กเชื่อว่าอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์ ขณะที่ 86% เชื่อว่าสามารถให้คำแนะนำเพื่อนได้หากประสบภัยออนไลน์ และ 54% เชื่อว่าจะจัดการปัญหาได้หากเกิดกับตนเอง เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ โดยเพศทางเลือกโดนมากที่สุด คือ 49% ทั้งนี้เด็ก 40% ไม่ได้บอกใคร ที่น่าสนใจคือ เด็ก 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ และ 6% เคยครอบครองสื่อลามกอนาจารรวมไปถึงส่งต่อ และ 2% ยอมรับว่าเคยถ่ายภาพหรือคลิปในลักษณะดังกล่าวและส่งต่อให้ผู้อื่น นอกจากนี้ เด็ก 1 ใน 4 ที่ตอบแบบสอบถาม หรือราว 25.4% บอกว่า เคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง และยอมรับว่าถูกเพื่อนที่นัดพบกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างต่อไปนี้พูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ 5.1% หลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สินอื่นๆ 2.1% ละเมิดทางเพศ 1.9% ทุบตีทำร้ายร่างกาย 1.7%และ ถ่ายภาพหรือคลิปวิดีโอแล้วนำไปประจาน ข่มขู่เรียกเงิน 1.3 %

“จากสถิติต่างๆ บอกให้เห็นถึงความน่าเป็นห่วงที่เด็กต้องเจอจากออนไลน์ ซึ่งผู้ปกครองหลายคนไม่เข้าใจและขาดทักษะในการเลี้ยงดูลูก กรณีหนึ่ง ผู้ปกครองพาลูกมาที่มูลนิธิ พบปัญหาลูกนัดคนแปลกหน้ามาที่บ้านช่วงที่คนไม่อยู่ จากกล้องวงจรปิดเห็นว่ามีพฤติกรรมจะขโมยของ พ่อแม่จึงยึดให้เลิกและยึดโทรศัพท์ลูก ก่อนพบว่าลูกคุยกับคนแปลกหน้าอีก 3 คน ในเชิงลามก พ่อแม่เข้าใจว่าลูกหมกมุ่นทางเพศพาไปหาจิตแพทย์ แต่นี่คือวัยของเขา วัยรุ่นสนใจเรื่องเพศ หากพ่อแม่ไม่คุย ให้คำปรึกษาเขาเรื่องนี้ จะทำให้เขาหันไปคุยกับคนอื่นที่เข้าใจเขา เสี่ยงต่อการถูกมิจฉาชีพหลอกโดยง่าย พ่อแม่ต้องรับฟังมากกว่าสั่งสอน และสร้างวินัยให้ลูกตั้งแต่เด็ก ป้องกันก่อนเกิดเหตุ” นางศรีดากล่าว

Advertisement
นางศรีดา ตันทะอธิพานิช

ขณะที่ พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ในช่วงปี 2561 พบปัญหาเด็กเล่นเกมออนไลน์จนติดมาก โดยเฉพาะกับการเติมเงินในเกมออนไลน์บ่อยๆครั้ง ทำให้เด็กเข้าถึงการพนันได้ง่าย และยังทำให้เป็นหนี้ หลายกรณีไม่กล้าบอกพ่อแม่ ขโมยบัตรเครดิตผู้ปกครองไปเติมเงิน เป็นหมื่นเป็นแสนก็มี ส่งผลต่อสัมพันธภาพในครอบครัว รวมถึงปัญหาในอนาคต เช่น พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ถูกล่อลวงและล่อลวงคนอื่น ทั้งยังเสี่ยงต่อการกระทำผิดได้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่เลี้ยงลูกตามใจมากเกินไป รวมทั้ง ปล่อยปะละเลยทำให้เขาให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image