ละเลงสี สร้างศิลป์ ถิ่นเก่า “จุฬาฯ อาร์ต ทาวน์” ถึงเวลา ศิลปะเพื่อชุมชน

ภาพจาก ATM Spray

ละเลงสี สร้างศิลป์ ถิ่นเก่า “จุฬาฯ อาร์ต ทาวน์” ถึงเวลา ศิลปะเพื่อชุมชน

ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย มนต์เสน่ห์ของ “สยามสแควร์” ก็ไม่เคยเสื่อมคลาย กับภาพของเหล่าวัยรุ่นที่เดินขวักไขว่ แฟชั่นจี๊ดจ๊าด นำเทรนด์ นอกเหนือไปจากการเป็นย่านการศึกษาชื่อดัง บรรจบกันกับสามย่านและสวนหลวง ที่มีชีวิตชีวา ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างลงตัว

โดดเด่นไม่แพ้ย่านดังของโลกอย่าง ฮาราจูกุของญี่ปุ่น, ฮงแดในเกาหลี และซีเหมินติง ไต้หวัน

จากที่เคยทอดน่องหาเมนูเด็ด ทุกวันนี้วัยรุ่นได้สัมผัสกับ “สตรีท อาร์ต” ซิกเนเจอร์ใหม่นักท่องเที่ยว เมื่อคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) บริษัทอุไรพาณิชย์ จำกัด ดึงศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตชื่อดัง จัดโครงการ CHULA ART TOWN นำเสนอผลงานศิลปะลงบนกำแพงต่างๆ ที่สามย่าน สวนหลวง ลิโด้ และรอบสยามสแควร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผลิตผลงานไปแล้วมากกว่า 40 ชิ้น ปรากฏแก่สายตาทุกคนตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา

“แรงบันดาลใจของโครงการนี้มาจากสตรีท อาร์ต ในปีนัง ทำให้เราได้ไอเดียอยากสร้างศิลปะเพื่อชุมชนขึ้นมา” ดร.สิริธร ศรีชลาคม รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการ จุฬาฯ อาร์ต ทาวน์ เผย

Advertisement

โดยปักหมุดเริ่มแรกที่ “สามย่าน”

พื้นที่ชุมชนจีนโบราณที่มีศาลเจ้าต่างๆ เชียงกง ส่วนขายอุปกรณ์กีฬา ร้านค้าตลาดเก่า เป็นความหลากหลายของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่แอบซ่อนอยู่

“ไม่ว่าจะทุบรีโนเวตกี่ครั้ง ก็จะเห็นความเป็นชุมชนอยู่”

Advertisement
ดร.สิริธร ศรีชลาคม รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการ จุฬาฯ อาร์ต ทาวน์
ดร.สิริธร ศรีชลาคม รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการ จุฬาฯ อาร์ต ทาวน์

เลือกสรรพื้นที่ผ้าใบงานศิลป์ สะบัดแปรงลงบนกำแพง ตั้งแต่สามย่าน สวนหลวง สยามสแควร์ สู่ลิโด้ แต่ละจุดต้องอยู่อย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป ขับรถผ่านก็เห็นได้ชัดและปลอดภัย

ก้าวแรกของโครงการเรียกว่าไม่ง่าย ดร.สิริธรเผยว่า ในช่วงแรก ชาวบ้านไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ เพราะเขาเองเคยถูกมือดีพ่นสีสร้างงานบนกำแพง ทำให้เขามองว่ามันเลอะเทอะจนต้องไปทำความเข้าใจว่ารูปแบบไม่เหมือนกัน เรามาทำอะไร เมื่อเขาได้ฟัง จากที่รู้สึกไม่ดีก็กลายเป็นมานั่งคุยกับศิลปินของเรา หาอาหารมาให้กินและถูกใจเมื่องานเสร็จ ไม่รวมการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา และสภาพอากาศตั้งนั่งร้าน ขึ้นรถเครนไปเพนต์

แต่เมื่อย่านสตรีทอาร์ตเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็ได้รับผลตอบรับที่ดีทั้งจากชุมชน ที่มีพื้นที่สว่าง สดใส ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ จากจุดที่เคยมีคนไปนั่งสูบบุหรี่ก็เปลี่ยนไป คนหันมารักษาความสะอาด และจากศิลปิน ที่ขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นงานโชว์ของ จนได้ศิลปินชื่อดังที่มีผลงานในไทยและต่างประเทศขอมาร่วมแจม โดยที่ศิลปินไม่ได้ค่าตัวแต่อย่างใด

เช่นงานของ ป๊อด ธนชัย อุชชิน หรือป๊อด โมเดิร์นด็อก กับผลงานภาพวาดไม่เคยเหนื่อยล้ากับม้าลาย ในลิโด้ ที่ได้แรงบันดาลใจจากม้าลายแก้บนของศาลพระภูมิในย่านนี้ เปรียบอีกอย่างกับทางม้าลายที่เชื่อมต่อเส้นทาง หรืออเล็กซ์ เฟซ ที่รังสรรค์ผลงานกระต่าย หรือจะเป็นผลงานของ Muay กับภาพเฮ้งเจีย ที่สะท้อนการเติบโตของวัฒนธรรมใหม่ที่อยู่ร่วมในย่านเก่าได้อย่างลงตัว, งานรูปไก่ของ Asin ที่นำเสนอแบบโลโก้ทีวีปิดสถานี ตั้งอยู่บนร้านส้มตำไก่ย่างเจ้าดัง ที่เปรียบเหมือนสามย่านที่แม้จะเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็ยังมีวันต่อไปบทต่อไปให้รอพบ

งานของ Joker EB บนผนักตึกซอยจุฬาฯ 50 ถ่ายทอดเอกลักษณ์ของสามย่าน ด้วยภาพของกวนอู แสดงถึงความมงคล เจริญรุ่งเรือง โชคลาภ และผลงานของ Bigel ที่มีเอกลักษณ์คือคาแร็กเตอร์ไอศกรีม ถูกนำมาจับใส่เสื้อวินมอเตอร์ไซค์ ในจุดของวิน สื่อถึงของกินอร่อยๆ และสีชมพูของจุฬาฯ ได้อย่างลงตัว หรือภาพของ Yinde ที่หยิบเอาไอคอนของลิโด้ คือชายสูทเหลืองมาทำใหม่ให้ดูสนุก น่ารัก ออกมาจากหัวเหมือนพู่กัน

ทั้งหมดนี้ ดร.สิริธรทิ้งท้ายว่า โครงการนี้ก็เหมือนศิลปะได้เข้าไปอยู่ใกล้ตัวคนมากขึ้น เด็กๆ ไม่ต้องรอพ่อแม่มีเวลาว่างพาไปชมงานในแกลเลอรี่ เด็กที่เห็นก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไรให้สังคม เพราะศิลปะก็คือสิ่งยกระดับจิตใจ มีสีสันในชีวิต ไม่ใช่แค่สายไฟ รถยนต์แบบในเมือง มีมุมผ่อนคลายที่เป็นจุดฟูลสต๊อป ให้ชีวิตได้พักบ้าง

ในมุมของศิลปินนั้น วริศรา จันทะคัต 1 สาวจากเชียงใหม่ ที่มีผลงานแสดงทั้งไทย ฟิลิปปินส์ ลาว และจีน ซึ่งบินมาร่วมวาดภาพที่กำแพงลิโด้ เผยว่า เราตีความสยามสแควร์ว่าเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น ของสวยๆ งามๆ จึงได้ดีไซน์กำแพงออกมาเป็นภาพของผู้หญิงและชายที่แต่งตัวจัดเต็ม เล่นสเก๊ตบอร์ดและโรลเลอร์สเก๊ต เน้นสีสันและความเป็นกรุงเทพฯ รู้สึกดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมามักจะสร้างงานที่จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งที่นั่นศิลปินนิยมสร้างงานเชิงวัฒนธรรม นี่เป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงผลงานให้เป็นวงกว้างมากขึ้น

“โครงการนี้นับว่าเป็นเรื่องดีที่เปิดพื้นที่ให้กับศิลปินได้ใส่พลังเต็มที่อย่างไม่ต้องแอบซ่อน การได้มาดูงานศิลปะก็ทำให้คนหันมาปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อาจจะสนใจอยากทำบ้าง หรือได้พูดคุย ถ่ายรูป นั่นก็เป็นความสุขของเราแล้ว” วริศราเผย

รูปม้าลาย ของป๊อด ธนชัย
รูปม้าลาย ของป๊อด ธนชัย
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
นางฟ้าจีน
นางฟ้าจีน
วริศรา จันทะคัต
วริศรา จันทะคัต

ขณะที่ Obayong ศิลปินศิษย์เก่า ศิลปกรรมฯ จุฬาฯ ที่รังสรรค์ภาพ “นางฟ้าจีน” โดยได้แรงบันดาลใจจากชุมชนคนจีน คณะงิ้ว และศาลเจ้าแม่ทับทิม จึงนำเสนอนางฟ้าจีนแทนสิ่งเหล่านี้ ด้วยเอกลักษณ์เป็นคนวาดผู้หญิงจีนอยู่แล้ว ก็เลือกพื้นที่ไชน่าทาวน์ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ ทำให้ทันสมัยด้วยการเล่นสี ตัดเส้นขาวดำกับพื้นหลังปูนเปลือย มีสีทอง แดง ผสมผสาน

ด้วยความที่เติบโตมากับย่านนี้ ทำให้ Obayong รู้สึกดีใจที่ได้กลับบ้านมาสร้างผลงาน แม้ว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไป แต่ก็ได้ทำงานในบรรยากาศเดิมๆ

“ได้เห็นผลงานออกมาแล้วก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจ ล่าสุดเพิ่งกลับไปดูผลงานตัวเอง เห็นคนสนใจ มาถ่ายรูป เซลฟี่ ก็รู้สึกดีใจ อย่างผลงานของเพื่อนๆ เพนต์ แรกๆ ทุกคนก็ไม่เข้าใจ พอวาดเสร็จเขาก็แฮปปี้ อย่างภาพกวนอูที่มีชีวิตชีวา ร้านค้าก็ขายดีขึ้น เราเปลี่ยนความคิดด้วยศิลปะที่เราทำขึ้นมาใหม่ ศิลปะช่วยจรรโลงโลกให้คนนุ่มนวลขึ้น มีความสุข สำหรับโครงการนี้ก็ช่วยพัฒนาชุมชน ต่างชาติเห็นก็รู้สึกได้ว่าบ้านเมืองน่ามอง สร้างแหล่งกราฟฟิตี้เป็นกำแพงท่องเที่ยวได้เช่นกัน”

ศิลปะสร้างชุมชน

ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray
ภาพจาก ATM Spray

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image