‘ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานขึ้นมา’ การเมืองไทยในสายตา ‘แทมมี ดักเวิร์ธ’ ส.ว.สหรัฐฯ

‘ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานขึ้นมา’ การเมืองไทยในสายตา ‘แทมมี ดักเวิร์ธ’ ส.ว.สหรัฐฯ ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน

กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง สำหรับ “แทมมี ดักเวิร์ธ” สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)แห่งรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา พรรคเดโมแครต ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน

เธอเป็นที่รู้จักของคนไทยในฐานะ “ผู้หญิงแกร่ง” ที่เคยผ่านสนามรบในอิรักจนได้รับบาดเจ็บ สูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง ก่อนชีวิตหักเหเข้าสู่ถนนการเมือง และสามารถคว้าตำแหน่ง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง” เชื้อสายไทยคนแรกในประวัติการเลือกตั้งของสหรัฐ

แทมมี ดักเวิร์ธ หรือ พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ปัจจุบันอายุ 51 ปี ก่อนเข้าสู่วงการเมืองเธอเป็นนักบินประจำเฮลิคอปเตอร์แห่งกองกำลังสำรอง กองทัพบกสหรัฐ ปี 2535-2539 ดำรงตำแหน่งพันโทหญิงแห่งกองกำลังพิทักษ์ชาติประจำรัฐอิลลินอยส์ ปี 2539-2557 ปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอิรัก และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติทางทหาร

เธอเคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2549 แต่ไม่ได้รับเลือก เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมกิจการทหารผ่านศึกแห่งรัฐอิลลินอยส์ ปี 2549-2552 และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทหารผ่านศึกสหรัฐ ปี 2552-2554 เคยเป็นตัวแทนในการประชุม Democratic Nation Convention ปี 2555

Advertisement

แทมมีได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ครั้งแรกเมื่อปี 2556 และดำรงตำแหน่ง ส.ส.ติดกัน 2 สมัย ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2556-3 มกราคม 2560 ก่อนจะลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ว.แห่งรัฐอิลลินอยส์ เมื่อปี 2559 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 3 มกราคม 2566 สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้พิการคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐ

การกลับมาครั้งนี้ แทมมีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ รวมทั้งได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งได้แสดงการบรรยายให้กับนักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
การบรรยายให้กับนักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
การบรรยายให้กับนักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
การบรรยายให้กับนักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
การบรรยายให้กับนักเรียนนายร้อยที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แทมมีเปิดใจให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทย ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เธอทักทายด้วยการไหว้ และกล่าวเป็นภาษาไทยที่แม้จะออกเสียงแปร่งๆ แต่ก็ชัดถ้อยชัดคำ

Advertisement

“ภาษาไทยไม่ค่อยคล่องนะคะ เพราะเรียนภาษาไทยถึงแค่ ป.3” คือประโยคทักทายพร้อมรอยยิ้ม ก่อนเพิ่มเติมว่า

“ตอนนี้ลูกคนเล็กอายุ 15 เดือน ทำให้เริ่มเดินทางได้อีกแล้ว ครั้งนี้มาเมืองไทยเพราะได้รับเชิญจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งได้ไปทำเวิร์กช็อป (การอบรมเชิงปฏิบัติการ) มาแล้ว และได้ประชุมกับ ส.ส.และ ส.ว.ไทย จากนี้จะไปเยี่ยมโรงพยาบาลทหารผ่านศึกและจะไปพักผ่อนที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านคุณแม่”

แทมมีมีลูกสาว 2 คน โดยขณะดำรงดำแหน่ง ส.ว.เธอได้ให้กำเนิดลูกสาวคนเล็ก ซึ่งถือเป็น ส.ว.คนแรกที่คลอดลูกขณะดำรงตำแหน่ง และเธอได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับรัฐสภาสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง เมื่อเป็นที่มาให้วุฒิสภาลงมติอนุญาตให้ ส.ว.สามารถพาลูกน้อยอายุต่ำว่า 1 ขวบ เข้ามาประชุมสมาชิกวุฒิสภาได้เป็นครั้งแรก

การกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ แทมมีเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ทำให้ถึงกับบอกว่า “เป็นช่วงเวลาที่ได้หายใจลึกๆ”

“หลังจากความไม่แน่นอนที่ผ่านมา หลังจากที่ไทยได้มีการเลือกตั้งที่ประสบความสำเร็จแล้ว และคนก็รู้ว่าต่อไปจะสามารถทำธุรกิจได้ ครอบครัวอยู่กันต่อไปได้ ความไม่แน่นอนมันลดน้อยลงแล้ว”

แทมมีเล่าถึงประสบการณ์การทำงานการเมือง ที่ทั้งเคยเป็น ส.ส.และปัจจุบัน ส.ว. ซึ่งมีความแตกต่างกัน

“ส.ว.สหรัฐมีเพียงแค่ 100 คน เพราะฉะนั้นอิทธิพลของ ส.ว.จะมีมากกว่า ส.ส. ซึ่ง ส.ส.มีจำนวน 435 คน อีกทั้งรัฐอิลลินอยส์ซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบก็มากขึ้นด้วยตามขนาดของรัฐ ซึ่งความสำเร็จของการทำงานที่ผ่านมา คือผ่านกฎหมายทั้งในขณะที่เป็น ส.ว.และ ส.ส.ด้วย และการผ่านกฎหมายก็ทำในขณะที่มีทั้งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมเครต หรือรีพับลิกัน หรือตอนในยุคของทรัมป์เอง ก็มีกฎหมายที่ดิฉันได้ผลักดันจนผ่านออกมาบังคับใช้ได้ด้วย”

การเป็นนักการเมืองที่เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ทั้งยังเป็นผู้หญิงและเป็นทหาร เป็นสิ่งที่แทมมีมองว่า “ทุกๆ ด้านของตัวเองช่วยให้ดิฉันเป็น ส.ว.ที่ดีมากขึ้นสำหรับประชาชน”

“ก่อนที่จะเป็นแม่ ดิฉันก็ทำงานด้านคนพิการ ทหารผ่านศึก แต่หลังจากเป็นแม่ดิฉันเริ่มรู้สึกว่าประเทศเรายังมีอีกหลายอย่างที่ยังดีไม่พอ สำหรับครอบครัวที่จะดูแลลูก ยกตัวอย่าง ดิฉันได้ผ่านกฎหมายบังคับให้สนามบินทุกสนามบินในสหรัฐมีห้องสำหรับผู้เป็นแม่ไปใช้เพื่อให้นมกับลูกได้ เพราะก่อนนี้ถ้าเราเดินทางต้องปั๊มนมเตรียมไว้ ไม่มีห้องนมแม่ เราก็ต้องไปใช้ห้องน้ำ ไปตั้งที่โถส้วม ซึ่งนี่มันสกปรก ซึ่งถ้าไม่ได้เป็นแม่จะไม่รู้จักเรื่องนี้”

“และการเป็นทหารผ่านศึก ดิฉันก็ได้บัญญัติกฎหมายใหม่สำหรับช่วยทหารผ่านศึกที่เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ซึ่งดิฉันเป็น 1 ใน ส.ว.100 คนที่รู้จักอินโด-แปซิฟิก และมีความเข้าใจว่าอินโด-แปซิฟิกสำคัญมากสำหรับความสงบของโลก อินโด-แปซิฟิกนี่ยังเป็นพื้นที่สำคัญมากสำหรับความเจริญของอเมริกา เพราะฉะนั้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกสำหรับการมาเยี่ยมเมืองไทยให้มากขึ้น และจะเริ่มพา ส.ว.คนอื่นๆ มาด้วย เพื่อให้เขาเข้าใจ แม้อินโด-แปซิฟิกจะอยู่ไกลมากจากสหรัฐ แต่ว่าอนาคตของเราเชื่อมโยงกัน และสหรัฐต้องการเป็นเพื่อนที่ดี เราต้องมีความมุ่งมั่นกับภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศไทย เพราะเราเป็นเพื่อนกันมา 200 กว่าปีแล้ว”

แทมมียืนยันว่า “รากของความเป็นไทย” ได้ส่งผลอย่างมากในการทำงานของเธอ

“การเป็น ส.ว.โดยที่มีรากของความเป็นไทย ทำให้เห็นค่าของบทบาทของอเมริกาในโลก โดยไม่ได้คิดว่าอเมริกาดีที่สุด แต่เป็นเพราะว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบจะได้รู้จักประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ดิฉันเอง เป็นสมาชิกในคณะกรรมการที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ เราก็รู้ว่าเรื่องการพาณิชย์ ไม่ใช่แค่ประเทศอเมริกาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำร่วมกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย”

การได้รับความนิยมจากคนอเมริกันให้เลือกตั้งเป็นทั้ง ส.ส.และ ส.ว.กุญแจสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่

“สำหรับการเป็น ส.ส.และ ส.ว.ในสหรัฐนั้น ต้องไม่ลืมว่าเราเป็นคนรับใช้เขา เป็นข้าราชการ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Puplic servant และคำที่สำคัญคือ servant แปลว่า คนรับใช้ คนที่ลืมคำนี้จะเป็นคนที่ไม่สำเร็จในการรับใช้ประเทศ ดังนั้น ต้องไม่ทิ้งประชาชน” แทมมีกล่าว

แทมมีให้ความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบันว่า “อยากบอกคนไทยว่า ขอให้ใจเย็นๆ ไว้ก่อน”

“สหรัฐอเมริกาก่อตั้งประเทศมานับ 100 ปี หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญของเรา เรายังมีสงครามกลางเมือง สำหรับประเทศไทย ขอให้ใจเย็นๆ เพราะประชาธิปไตยในไทยยังไม่มีอายุมากเท่านั้น สงครามการเมืองในสหรัฐก็มีการต่อสู้กัน ทั้งต่อสู้ทางความคิดของคนในครอบครัวที่สู้กันเอง คนอเมริกันก็สู้กันเอง มันเป็นการต่อสู้กัน ฆ่ากันเองในประเทศของตัวเอง เราพยายามที่จะมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นี่คือการต่อสู้เพื่อการมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่การต่อสู้แบบนั้นมันเลอะเทอะ มันมีอะไรต่ออะไรเยอะมาก ที่กว่าจะไปถึงจุดที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น”

“เข้าใจความอึดอัดของคนไทยทั้งหลาย ที่อยากจะให้ประชาธิปไตยไปเร็วกว่านี้ อยากให้ทุกคนช่วยใจเย็นๆ และอย่ากดดันตัวเองขนาดนั้น เพราะประชาธิปไตยไทยกำลังเบ่งบานขึ้นมา และได้เห็นคนไทยที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเห็นประเทศของเราเป็นประชาธิปไตย นี่คืออนาคตที่เราจะได้เห็น”

สิ่งซึ่งที่แทมมีอยากเห็นการเมืองในสหรัฐอเมริกาพัฒนายิ่งขึ้น ก็คือสัดส่วนของผู้หญิงในสภาควรมีเพิ่มขึ้น

“รัฐบาลของประเทศน่าจะมีหน้าตาเหมือนคนในประเทศของเรา ที่สหรัฐมีสตรี 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลมี 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่ไม่ถูก จริงๆ เราควรมีสตรี 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้เป็น ส.ส.และ ส.ว. รวมไปถึงคนพิการ คนผิวคำ และคนเอเชีย”

ซึ่งแทมมีเปรียบเทียบว่า “ถ้าเราไม่มีที่นั่งที่โต๊ะทานอาหาร คนที่มีที่นั่งที่โต๊ะจะไม่นึกถึงเรา”

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกควรจะพัฒนามากขึ้น เพราะการมีผู้นำที่เป็นผู้หญิง มันทำให้มีโอกาสของการผ่านกฎหมายได้มากขึ้น ในการศึกษา ส.ว.ที่เป็นผู้หญิงสามารถผ่านกฎหมายได้สำเร็จมากกว่าผู้ชาย แต่เมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงแล้ว แต่สหรัฐยังไม่มีประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิงเลย” แทมมีกล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image