‘บาติก โมเดิร์น’ พลิกโฉมผ้าท้องถิ่น ยกระดับสู่ตลาดสากล

‘บาติก โมเดิร์น’ พลิกโฉมผ้าท้องถิ่น ยกระดับสู่ตลาดสากล

บาติก – สร้างความฮือฮาให้กับวงการแฟชั่นไม่น้อย เมื่อได้เห็น “ผ้าบาติก” ที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์แถวหน้าของเมืองไทย เฉิดฉายบนแคตวอล์กในแฟชั่นโชว์สุดอลังการ “คอนเทมโพรารี เซาท์เทิร์น บาติก บาย โอซีเอซี” (Contemporary Southern Batik by OCAC) ในงาน แอล แฟชั่น วีก 2019 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ ที่ห้างใจกลางเมือง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

เปลี่ยนภาพลักษณ์ “ผ้าบาติก”

มาเป็น “ลุคโมเดิร์น” ทันสมัยได้เป็นอย่างดี

Advertisement

แก้ปัญหาชายแดนใต้

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ผ้าไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่สำคัญของชาติที่มีเรื่องเล่าอัตลักษณ์ความเป็นไทย แต่ละลวดลายของผ้าไทยล้วนมีศิลปะของแต่ละชุมชน แต่ละท้องถิ่น และเมื่อรัฐบาลได้มีแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยให้ทุกหน่วยงานราชการได้มีบทบาทในเรื่องนี้ จึงมีแนวคิดที่จะใช้ผ้าอันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในมิติของงานศิลปะ วัฒนธรรม

โดยนำผ้าบาติก ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) มาเป็นจุดสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา ในการใช้มิติทางศิลปวัฒนธรรม มาสร้างพัฒนาผ้าบาติกให้คนในพื้นที่ โดยทำให้ผ้าบาติก มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เป็นที่ต้องการและขายในตลาดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติได้

Advertisement
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์

เปลี่ยน “บาติก” ให้ “คูล”

โครงการครั้งนี้ ได้นำนักออกแบบชาวไทย 6 ท่าน อาทิ เอก ทองประเสริฐ, ธีระ ฉันทสวัสดิ์, ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ และนักออกแบบอาเซียน 4 ท่าน อาทิ เอริค ชุง จากประเทศมาเลเซีย และ เอ็ดวิน อาว จากประเทศฟิลิปปินส์ ลงไปในพื้นที่ เพื่อพัฒนาลวดลายผ้า และออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าร่วมกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่ โดยได้ผลงานออกแบบเครื่องแต่งกาย 51 ผลงาน และผลิตภัณฑ์ 36 ชิ้น ซึ่งนอกจากลวดลายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีการพัฒนาเทคนิคการทำลวดลาย การให้สีที่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย และเพื่อให้ผ้าบาติกยกระดับขึ้นสู่ตลาดสากล

เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ แบรนด์ EK Thongprasert กล่าวว่า ได้พัฒนาผ้าบาติกให้ทันสมัยขึ้น โดยการพัฒนาลายผ้า และสีของผ้าขึ้นใหม่ เพื่อให้เข้ากับบริบทของสังคมเมือง ลายที่พัฒนาขึ้น มีทั้งลายตาราง ลายดอกไม้ที่ยังคงใช้อยู่ แต่ปรับให้ใหญ่ขึ้น ให้ดูไม่เป็นจุดเล็กๆ มากเกินไป รวมถึงปรับสีใหม่ จากที่เคยมี 10 สีในผ้าผืนเดียว ก็เปลี่ยนให้เหลือ 2 สี เช่น ขาวดำ น้ำเงินดำ เพื่อให้ใส่ได้กับเสื้อผ้าชิ้นเบสิกของคนในปัจจุบันได้ เช่น กางเกงดำ กระโปรงดำ แจ๊กเก็ตดำ

“ถ้าจะทำให้บาติกซัคเซส ต้องทำให้คนเห็นว่า เขาจะไปใส่กับอะไรต่อได้ ถ้าต้องให้เขาเปลี่ยนทั้งตู้เสื้อผ้า เพื่อมาใส่บาติก มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่บาติกต้องไปอาศัยอยู่ในตู้เสื้อผ้าเขา และพอถึงเวลา ก็หยิบขึ้นมาใส่ อันนี้คือสิ่งที่จะทำให้วัฒนธรรมผ้าแพร่หลายไป”

“ข้อดี” ของผ้าบาติกที่ เอก ทองประเสิรฐ ต้องยกให้คือ “ราคาที่จับต้องได้” เนื่องจากเป็นผ้าฝ้าย รวมถึง “ดูแลรักษาง่าย” สามารถซักเครื่องซักผ้าได้

“ผ้าบาติกตอบโจทย์คนในสังคมปัจจุบัน ที่ไม่มีเวลาในชีวิตประจำวัน ต้องโยนเข้าเครื่องซักผ้า ไม่สามารถมาซักมือได้ หรือส่งซักแห้งได้ ถ้าทำดีๆ ผ้าบาติกสามารถอยู่กับวิถีชีวิตคนปัจจุบันได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก แต่อย่างแรก ต้องเปลี่ยนความเข้าใจ จากผ้าบาติกเท่ากับทะเลของคนในสังคมออกไปให้ได้ก่อน”

เอก ทองประเสริฐ

กับแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ นับเป็นการพลิกโฉมผ้าบาติกไทยได้ไหม?

ดีไซเนอร์ดังตอบว่า ต้องใช้ความพยายามต่อเนื่อง และอาจจะต้องไปให้ไกลกว่ากว่านำมาเดินบนแคตวอล์ก ที่หลายคนมองว่า เป็นเพียงความเพ้อฝันของดีไซเนอร์ แต่อาจต้องลงไปในเรื่องของการเอาผ้าบาติกมาตัดเป็นเสื้อเชิ้ต ตัดเป็นยูนิฟอร์มให้องค์กร ให้เด็กรุ่นใหม่ใส่ในชีวิตประจำวัน”

โดยเขายกตัวอย่าง “ผ้าย้อมคราม” ที่ประสบความสำเร็จมากในปัจจุบัน คนมองว่าเป็นสิ่งคูลและมีความพิเศษในเชิงสังคม

“ถ้าทำแมสเสจของผ้าบาติกให้มีความคูลขึ้น มีความทันสมัยขึ้น ผมว่าสามารถประสบความสำเร็จได้เท่ากับครามในปัจจุบัน เพราะมันเหมาะสมกับชีวิตคนปัจจุบันค่อนข้างมาก” ดีไซเนอร์ดังทิ้งท้าย

ความสนุกมากกว่าแค่ทำธุรกิจ

อานี ชูเมือง ผู้ประกอบการร้านรายาบาติก จังหวัดปัตตานี เปิดใจว่า ลักษณะพิเศษผ้าบาติก คือ เป็นผ้าฝ้ายใส่แล้วไม่ร้อน สีสด ซึ่งก่อนที่จะมีโครงการเข้ามา ผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะผลิตสินค้าตามออเดอร์ โดยเป็นลายเดิมๆ สีเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งช่วงหลังมีผ้าที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทำให้รายได้ลดลง

แต่เมื่อกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาแนะนำเรื่องการสร้างลวดลาย เทรนด์สีในกระแสแฟชั่น การเลือกใช้วัตถุดิบ และการตลาดทำให้ผู้ประกอบการได้นำลายใหม่ๆ พัฒนาต่อยอดลายผ้าบาติกดูทันสมัยขึ้น สร้างความแปลกใหม่ให้กับสินค้า จากยอดการจำหน่ายที่ลดลง ทุกวันนี้ รายได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมกลุ่มรายาบากติกมีกันอยู่ 5 คน ทุกวันนี้มี 20 คน ตั้งแต่ปี 2558 กลุ่มเติบโตขึ้นปีละ 20 เปอร์เซ็นต์ และทุกวันนี้ สินค้าไม่ได้จำหน่ายเฉพาะคนไทย แต่ส่งออกต่างประเทศด้วย

“ที่สำคัญคือผู้ประกอบการแต่ละคนสามารถนำลายผ้าบาติกที่คิดร่วมกันไปต่อยอดในสินค้าของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนดีไซน์มาเริ่มคิดตามและทำตาม และกลายเป็นเรื่องสนุกมากกว่าแค่ทำธุรกิจ โครงการนี้ นับเป็นการต่อยอดทางวัฒนธรรม โดยบางลวดลายเรามาประยุกต์ให้ร่วมสมัย แต่บางลวดลายเราก็อนุรักษ์ไว้” อานีกล่าว

อานี ชูเมือง ผู้ประกอบการร้านรายาบาติก จังหวัดปัตตานี

ผ้าบาติกโฉมใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image