เปิดหลังโรงละคร โขนศิลปาชีพฯ ‘สืบมรรคา’ การผจญภัยสุดสนุกของหนุมาน

เปิดหลังโรงละคร โขนศิลปาชีพฯ ‘สืบมรรคา’ การผจญภัยสุดสนุกของหนุมาน

“ขาดทุนของฉัน คือ กำไรของแผ่นดิน”

สืบมรรคา – พระราชดำรัสในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเล็งเห็นว่าโขนเป็นสมบัติของชาติ และควรอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ไว้ให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดการแสดงโขนขึ้นเป็นเป็นประจำทุกปี

เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป ในปี 2562 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “สืบมรรคา” โดยจัดรอบบูรพทัศน์ (Preview) พร้อมเผยฉากสำคัญ และการแสดงไฮไลต์ อย่างขบวนแห่ทศกัณฐ์ และรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน และหนุมานรบนางอังกาศตไล ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

Advertisement


ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โขนไม่ได้เป็นที่นิยมในสังคมไทยมากนัก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริว่าโขนเป็นสมบัติของชาติ เป็นศิลปการแสดงชั้นสูง ที่มีมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง เกรงว่าจะเลือนหายไปเรื่อยๆ จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องโขนขึ้นมาโดยเฉพาะ

“ทุกครั้งที่จัดการแสดง พระองค์จะเสด็จฯมาด้วยพระองค์เอง ต่อมาในระยะหลังสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทน ทั้งนี้ การแสดงได้พัฒนามาเรื่อยๆ เราได้ทำการคัดเลือกนักแสดงรุนใหม่ทุกปี ทุกฉาก ทุกตัวละคร เครื่องแต่งกาย หัวโขน เป็นการสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น โขนไม่ใช่เพียงดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้น อยากให้เห็นว่าศิลปะของไทยอยู่ในทุกอณูของการเป็นโขน ที่มาจากช่างฝีมือไทยทั้งสิ้น

“ซึ่งคณะกรรมการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านที่ดูโขนจะมีความรู้สึกหวงแหน และอยากจะอนุรักษ์รักษาโขนไว้ ดั่งพระราชประสงค์ของสมเด็จพระพันปีหลวง ให้โขนอยู่เป็นสมบัติของประเทศชาติสืบไป” ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าว

Advertisement
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เปิดแสดงตั้งแต่ พ.ศ.2550 รวมทั้งสิ้น 8 ตอน โดยในปีนี้จัดแสดงตอน “สืบมรรคา” ซึ่งมีเนื้อหาสนุกสนาน หลากรส และชวนติดตามไปกับการผจญภัยของ “หนุมาน” ทหารเอกของพระราม นอกจากนี้ยังมีตัวละครใหม่ๆ เช่น นกสัมพาที นางผีเสื้อสมุทร นางอังกาศตไล ยักษ์ปักหลั่น และที่น่าจับตาชมคือเครื่องแต่งกายของตัวละครที่แปลกตากว่าตอนอื่นๆ เช่น ทศกัณฐ์หน้าทอง ที่มีผ้าคล้องไหล่ พวงมาลัยคล้องพระกรขวา และพัดด้ามจิ้วจันทน์ที่ใช้สะบัดประกอบท่ารำ รวมถึงจะได้ชมกระบวนรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนที่สวยงาม แสดงความเจ้าชู้ยักษ์ของตัวทศกัณฐ์ที่เข้าไปเกี้ยวพาราสีนางสีดา

อ.ประเมษฐ์ บุญยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโส กล่าวว่า การแสดงโขนในปัจจุบันต้องมีการปรับตัวให้ทันยุคสมัย เพื่อตอบรับผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็ได้มีการพัฒนารูปแบบการแสดงให้มีความกระชับ เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชม และที่สำคัญคือ มีการสร้างฉากประกอบการแสดง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและให้ผู้ชมได้จินตนาการได้ง่ายขึ้น

“การแสดงครั้งนี้ มีตัวละครที่ไม่เคยปรากฏในตอนอื่น เช่น นางอังกาศตไล เป็นยักษ์หญิง มีฤทธิ์ มีอำนาจมาก มีกระบวนรบ หรือทศกัณฐ์ ในตอนนี้จะมีบทบาทเป็นยักษ์ที่มีความเจ้าชู้ มีการแต่งกายพิเศษใส่หัวโขนเป็นหน้าสีทอง ซึ่งปกติไม่ค่อยจะใช้สำหรับตัวทศกัณฐ์ ที่ใช้หน้าตาสีทอง เพราะทศกัณฐ์อารมณ์ดี หน้าตาผ่องใส นอกจากนี้ยังมีกระบวนท่ารำฉุยฉาย ที่สืบทอดมาจากโรงมหรสพ รัชกาลที่ 6 เป็นกระบวนท่าที่รักษาไว้ และสืบทอดกันมาจากครูบาอาจารย์” อ.ประเมษฐ์กล่าว

อ.ประเมษฐ์ บุญยะชัย

ด้าน ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้เขียนบท และกำกับการแสดงการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2562 กล่าวถึงความสนุกสนานของการแสดงโขน ตอน สืบมรรคา ว่า โขนตอนนี้ ชื่อว่าสืบมรรคา อ่านว่า สืบ-มัน-คา แปลว่า การสืบหนทาง ซึ่งเป็นเรื่องราวของหนุมานที่ได้รับมอบหมายจากพระรามให้ไปสืบหนทางเพื่อไปกรุงลงกา เป็นตอนที่มีความสนุกสนาน หลากรส และเต็มไปด้วยสีสัน มีการทำฉากเทคนิคให้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา แฟนตาซีมากกว่าเดิม สนุกสนานมากขึ้น และจะได้เห็นหนุมานผจญภัยที่ด่านต่างๆ จนถึงเมืองลงกา

ดร.สุรัตน์ จงดา

และนับเป็นวาระพิเศษที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนการแสดงโขนไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ โดยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

ดร.อนุชา ทีรคานนท์ กล่าวว่า ณ วันนี้ หลังจากที่เราได้รับการยกย่องจารึกโขนไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งการขึ้นทะเบียนนี้ไม่ได้อยู่กับเราตลอดกาล วันหนึ่งถ้าหากว่าเราไม่ได้บำรุงรักษามรดกแขนงนี้ไว้ ก็สามารถถูกถอนได้เช่นกัน

“เมื่อเราได้รับการยกย่องแบบนี้ ก็เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องร่วมกันบำรุงรักษามรดกแขนงนี้เอาไว้ โดยในอนุสัญญานี้ จะกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญ ถึงคำว่าถือครอง ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างซับซ้อน หนึ่งในผู้ถือครองคือ ผู้ปฏิบัติงาน ช่างต่างๆ ส่วนผู้ถือครองอีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ ผู้ชม เพราะฉะนั้น ทุกคนมีบทบาทในการเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้ จึงมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมแขนงนี้เอาไว้ให้อยู่คู่กับประเทศไทยสืบไป” ดร.อนุชากล่าว

ดร.อนุชา ทีรคานนท์

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” เปิดการแสดงวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com หรือติดตามข่าวสาร www.khonperformance.com และเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image